สถาบันอนาคตไทยศึกษา ปรับโฉมใหม่สู่ ‘ThailandFuture’ สานต่อความสำเร็จการเป็นสถาบันคลังสมองที่วิเคราะห์อนาคตไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2555 สู่การเป็น ‘ตัวเร่ง’ และ ‘ตัวรวม’ (Catalyst & Aggregator) ทรัพยากร ข้อมูล และทางออกนโยบาย ผ่าน ‘ThailandFuture Policy Platform’ แพลตฟอร์มนโยบายตัวกลางที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อหลักฐานเชิงข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้รับนโยบาย นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ากับหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ออกแบบและขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อผลักดันให้เกิดกระบวนการ ‘ร่วมคิด-ร่วมทำ’ นโยบายรูปแบบใหม่ที่เปิดกว้าง กระจายอำนาจและอิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการแห่ง ThailandFuture กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับ ‘ไฟแห่งปัญหา’ รอบทิศทาง ทั้งไฟปัญหาเก่าที่รุมเร้า ท่ามกลางเสาหลักเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังผุพัง ทำให้การเติบโตชะลอลง ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไฟปัญหาใหม่ที่กำลังปะทุจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด รวมถึงยังมีฟืนความท้าทายที่รอวันลุกไหม้จากเทรนด์คุกคามอีกมากมาย เช่น ความไม่พร้อมต่อการไปสู่สังคมสูงวัย การมาของ Automation การผงาดขึ้นของจีน และภาวะโลกร้อน”
ดร.ณภัทร ย้ำว่าปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าประเทศไทยมีทรัพยากรไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศชาติ คนที่มีความสามารถเรามี ทุนเราก็มี เพียงแค่มันอยู่ไม่ถูกที่ถูกเวลา อยู่ภายใต้ระบบการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพ ความชัดเจน และเต็มไปด้วยความสับสน และมันก็ได้กำเริบออกมาให้เห็นในการพลาดท่าต่อสายพันธุ์เดลตา แต่หากลองถอยออกมา จะพบว่าต้นตอของปัญหาทั้งหมดทั้งปวงสามารถถูกยุบลงมาให้เห็นได้กระจ่าง ว่ามันล้วนเกิดมาจากการขาดหลักการและประสิทธิภาพในการจัดสรรและบริหารทรัพยากรเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม
ดร.ณภัทร เสนอแนวคิด ‘ไตรลักษณ์นโยบายอนาคต’ ที่ ThailandFuture นำมาประยุกต์ใช้ช่วยพาไทยรอดพ้นวิกฤตและเท่าทันโลกยุค VUCA เริ่มจากอันดับแรก กระบวนการคิดการทำนโยบายต้องเปิดกว้างและเชื่อมต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น เป็นการ ‘ปลดล็อก’ ห้องออกแบบนโยบายแล้วเชื่อมต่อมันเข้ากับประชาชน ท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดทุกข้อต่อของห่วงโซ่นโยบาย (Policy Chain) เพื่อให้ทุกฝ่ายกระจ่างถึงปัญหา ข้อจำกัด รวมถึงร่วมกันสังเคราะห์ทางออกและนวัตกรรมนโยบายใหม่ๆ
ในแนวทางนี้ ล่าสุด ThailandFuture ได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนานวัตกรรมนโยบายเมืองปลอดภัย (Safe City) โดยดึงเจ้าหน้าที่ตำรวจรุ่นใหม่ระดับผู้กำกับและสารวัตร ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงประชาชนท้องถิ่นจากกลุ่มต่างๆ จากภาคเอกชนและประชาสังคม มาร่วมพัฒนานโยบายร่วมกันใน Policy Lab เป็นระยะเวลา 6 เดือน
“เราใช้เทคนิคทั้งการมองภาพอนาคต (Foresight) การใช้การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และการทำงานแบบสตาร์ทอัพ โดยจุดสำคัญคือ การได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความเข้าใจที่ลึกซึ้งของประชาชนที่มีต่อเมืองที่ปลอดภัย และได้ร่วมกันพัฒนาต้นแบบนโยบายและบริการเพื่อเมืองที่ปลอดภัย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้เริ่มพัฒนาและทดลองในหลายๆ ต้นแบบนโยบายที่ได้จาก Policy Lab นี้ เช่น การพัฒนาระบบที่เปิดให้ประชาชนสามารถแจ้งความออนไลน์ได้, การพัฒนาความเชื่อใจของประชาชนกับตำรวจผ่านนโยบายตำรวจบ้านหรือตำรวจประจำชุมชน, การใช้เทคโนโลยี 4.0 มาใช้ในงานภาคสนาม, การพัฒนาด่านตรวจให้โปร่งใสและเป็นมิตรกับประชาชน ซึ่งงานดังกล่าวนับเป็นตัวอย่างที่ดีของกระบวนการมีส่วนร่วมกันของภาครัฐและประชาชนที่เป็นกระบวนการใหม่ในการสร้างนโยบายของประเทศไทยในอนาคต” ธราธร รัตนนฤมิตศร กรรมการนโยบายอนาคตแห่ง ThailandFuture กล่าวถึงประสบการณ์ตรงที่ได้สัมผัสและเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่ ThailandFuture ต้องการนำไปขยายผลต่อไป
อันดับที่สอง ภาครัฐต้องกระจายอำนาจในการพัฒนาอนาคตประเทศไปสู่ ‘โหนด (Node)’ ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งอำนาจการคลัง อำนาจในการเข้าถึงข้อมูล และอำนาจในการออกแบบนโยบายบางส่วนออกมาจากส่วนกลางบ้าง ทั้งภายในภาครัฐเอง และภายนอก จากบนสู่ล่าง จากผู้ใหญ่สู่คนรุ่นใหม่ จากระดับประเทศสู่ระดับท้องถิ่น
ดร.ณภัทร ชวนคิดว่าในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมาก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่าไม่มีกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งสามารถแก้ไขปัญหาและภัยระดับโลกได้ด้วยตัวเอง การรวมศูนย์อำนาจไม่ตอบโจทย์วิกฤตและอนาคต “ในเวลาแบบนี้ ภาครัฐไม่ควรเป็นคอขวดของการแก้ไขปัญหา หรือนิ่งเฉยกับข้อจำกัด ข้อจำกัดของภาครัฐมีทุกประเทศ สิ่งที่ต้องทำคือรีบกระจายอำนาจออกไปสู่บุคคลและหน่วยงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานด้วยความชัดเจนและโปร่งใส เพื่อให้เกิดความคล่องตัวพอที่จะนำประเทศไทยให้รอดพ้นไปจากวิกฤตครั้งนี้ รวมถึงทะยานเหนือความท้าทายอื่นๆ ที่ยังรอเราอยู่ หมดแล้วยุคสมัยของการทำนโยบายแบบบนลงล่างอย่างเดียว” ดร.อุตตม สาวนายน ประธานคณะที่ปรึกษา ThailandFuture กล่าว
และที่ขาดไม่ได้ก็คือ อันดับที่สาม ประเทศไทยจะต้องคิด-ทำนโยบายอย่าง ‘เป็นวิทยาศาสตร์’ มากขึ้น เลิก Candle-Driven แล้วหันมาอิงหลักฐานเชิงข้อมูลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มเก็บฐานข้อมูลโดยคำนึงถึงการวัดผลในอนาคต การทำการทดลองพฤติกรรมศาสตร์ การดำเนินนโยบายบนหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based Policymaking) หรือการใช้เทคนิคห้องปฏิบัติการอนาคตเพื่อรังสรรค์แนวทางและนวัตกรรมนโยบายใหม่ๆ ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลงพื้นที่ทำโปรโตไทป์ (Prototype) จากนั้นปรับปรุงแล้วนำไปขยายผลต่อ เพื่อให้นโยบายในอนาคตมีประสิทธิผล คุ้มเงินภาษี และคุ้มเวลาที่เสียไปกว่าเดิม
ยกตัวอย่าง ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งถือเป็นปัญหาทุนมนุษย์ระดับชาติที่คร่าชีวิตคนไทยโดยเฉลี่ย 40 คนต่อวันมาโดยตลอด ThailandFuture ร่วมมือกับภาคีที่มีประสบการณ์ในการใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าเพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ อย่าง มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) บริษัท สยามเมทริกซ์ คอนซัลติ้ง จำกัด และแผนงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกกับรัฐบาลไทย เพื่อตกผลึกคู่มือการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ตั้งแต่ต้นน้ำในการแก้ไขจุดเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่ซ้ำซาก จนถึงปลายน้ำในการยกระดับบริการ การใช้สิทธิ์ การเยียวยาผู้พิการ และการประเมินต้นทุนต่อสังคม รวมถึงขยายผลการวัดผลและการทดลองเชิงพื้นที่ เช่น การตั้งด่านตรวจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การทดลองเชิงพฤติกรรมศาสตร์กับป้ายจราจร และเสนอช่องทางในการคมนาคมยามค่ำคืนที่เป็นช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย
จุดมุ่งหมายสูงสุดของ ThailandFuture คือ อนาคตที่การคิดการทำนโยบายในการพัฒนาอนาคตประเทศ จะเป็นกระบวนการที่ ‘ทุกคน’ สามารถเข้าใจ เข้าถึง มีส่วนร่วมได้ และค้นพบว่าเป็นกิจกรรมที่คุ้มค่า “ประเทศไทยเป็นของเราทุกคน ไม่ว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชีวภาพ หรือแม้กระทั่งความคิด ล้วนแล้วแต่เป็นเสน่ห์ของเรา อยากชวนพวกเรามาแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ให้ประเทศก้าวเดินต่อไปครับ” ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร ThailandFuture กล่าวถึงความจำเป็นของกระบวนการคิดการทำนโยบายอย่างเปิดกว้างเพื่อร่วมมือกันเดินไปข้างหน้า
โดยในการเดินทางครั้งนี้ ThailandFuture ได้เริ่มร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อดำเนินงานและพัฒนาผลักดันแนวคิดนี้แล้ว ผ่านกรอบ 5 ประเด็นเชิงนโยบายที่มุ่งเน้น ได้แก่
- เทคโนโลยีกลุ่มแนวหน้า (Frontier Technologies)
- เครื่องยนต์ใหม่ในการพัฒนาประเทศ (New Growth Engine)
- การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development)
- การปฏิรูปภาครัฐ (Government Transformation)
- สิทธิและโอกาส (Rights & Opportunities)
และ ThailandFuture จะดำเนินงานผ่าน 4 รูปแบบต่อไปนี้
ThailandFuture Policy Platform: แพลตฟอร์มทางความคิดและการลงมือทำของนโยบายสาธารณะ ช่วยผสานพลังของผู้ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันและผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่จริง เชื่อมต่อข้อมูลจากเสียงประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปสู่ผู้นำในการออกแบบและขับเคลื่อนนโยบาย เช่น สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ GISTDA
ThailandFuture Playbook: แผนการเดินเกมที่ ThailandFuture และพาร์ตเนอร์ตกผลึกแนวทางปฏิบัติจากการศึกษา ออกแบบ ลงมือทำ และวัดผลกับปัญหาจริง ผู้ใช้จริง และพื้นที่จริง ในรูปแบบ ‘คู่มือการแก้ปัญหา’ แบบ Systems-Thinking และ Solution-Driven ที่เข้าใจง่ายและอัปเดตเวอร์ชันอยู่เสมอเหมือนซอฟต์แวร์ โดยจะผลิตผลงานรูปแบบนี้ร่วมกับภาคีพันธมิตร ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, แผนงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกกับรัฐบาลไทย (WHO-RTG), สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER), สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน เป็นต้น โดยในระยะหกเดือนข้างหน้า ThailandFuture จะมุ่งเน้น Playbook ในเรื่องความปลอดภัยทางถนนจากมุมมองทุนมนุษย์ การแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาตลาดทุนไทยของทุกคน รวมถึงแนวทางในการปรับโครงสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่
ThailandFuture Talks: พูดคุยภาษานโยบายให้เกี่ยวกับคุณ เราชวน Change Agents และ Policy Enthusiasts มาพูดคุย ตั้งคำถามในมุมมองที่สดใหม่ กับเรื่องราวชวนพัฒนาประเทศ ให้เปิดโลก เข้าใจและเข้าถึงง่าย เพื่อให้วันหนึ่งเรื่อง ‘นโยบาย’ จะกลายเป็นเรื่องของทุกคน แม้มันจะเคยเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากและเข้าใจยาก
ThailandFuture Upgrades: อัปเกรดการออกแบบและขับเคลื่อนนโยบาย ผ่านเวิร์กช็อปที่พิสูจน์ความสำเร็จมาเป็นเวลากว่า 12 ปี ด้านนโยบายการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Policy) และด้าน Foresight & Policy Labs เพื่อติดอาวุธการทำงานให้กับองค์กรภาครัฐ
“ในช่วงวิกฤตโควิด เชื่อว่าทุกคนคงมีโอกาสได้สัมผัสพลังแรงใจของทุกภาคส่วนที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อาสาใช้เครื่องมือและศักยภาพจุดเด่นของตนเองเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาส่วนรวม ในภาวะแบบนี้สังเกตได้ว่าหมวกหรือบทบาทของแต่ละคนมักไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อจำกัดหรือขอบเขต แต่ถูกนำมาใช้เป็นจุดแข็งและสปีดโบ๊ทของการทำงาน เราร่วมกันทำทั้งหมดนี้เองได้ก็เพราะว่าบังเอิญวิกฤตนี้บีบบังคับให้เกิดการเปิดช่อง เกิดการเชื่อมต่อ เกิดการกระจายอำนาจแบบเล็กๆ ในเวลาที่ยากลำบากที่สุดของทุกคน ผมเชื่อว่าหากเราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์นี้แล้วประยุกต์มันเข้ากับเรื่องอื่นๆ ของอนาคตประเทศสเกลความสำเร็จของมันออกไปในวงกว้างด้วยกัน พวกเราคงได้เห็นแสงสว่างปลายทางของอนาคตประเทศไทยกันบ้าง”
“ในเวลาแบบนี้ เราต้องหาวิถีใหม่ในการไปข้างหน้า ไม่มีเหตุผลที่จะใช้วิธีเดิมๆ ที่พิสูจน์มาแล้วนักต่อนักว่าไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับความท้าทายใหม่ๆ วันนี้เราต้องเชื่อมต่อกันให้มากๆ กระจายอำนาจที่กระจุกและไม่โปร่งใสออกไปสู่ทีมที่มีศักยภาพ และต้องเริ่มใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีให้มากขึ้น ประเทศไทยจึงจะมีอนาคต ThailandFuture ขอเป็นตัวกลางสนับสนุนแนวทางใหม่นี้ เพราะเชื่อว่าด้วยวัตถุดิบที่เรามี อนาคตประเทศไทยต้องดีกว่านี้” ดร.ณภัทร กล่าวปิดท้าย
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ