×

ไทยขานรับแนวทาง WHO เร่งกำจัดมะเร็งปากมดลูก เดินหน้าฉีดวัคซีน HPV ให้เด็กผู้หญิงไทยชั้น ป.5 ทั่วประเทศ [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
16.11.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ‘มะเร็งปากมดลูก’ ถูกพบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งในผู้หญิงทั่วโลก และเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV หรือ Human papillomavirus
  • สำหรับประเทศไทย มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงวัยทำงาน แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่มากถึงเกือบหมื่นราย และเสียชีวิตเกือบ 5,000 ราย
  • ความน่ากลัวของไวรัส HPV คือเป็นภัยเงียบ เป็นไวรัสที่ติดแล้วไม่แสดงอาการใดๆ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เชื้อจะฝังตัวอยู่ในร่างกาย ซึ่งในระหว่างนั้นผู้ติดเชื้ออาจกลายเป็นพาหะที่ส่งต่อไวรัสให้กับผู้อื่น ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายจากการมีเพศสัมพันธ์ ก่อนจะพัฒนาไปสู่โรคและมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งองคชาต และมะเร็งทวารหนัก 
  • เป็นเรื่องดีที่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้ค้นพบวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ แต่ตัวเลขของผู้ที่ได้รับวัคซีนยังน้อยมากเมื่อเทียบกับตัวเลขผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงสนับสนุนให้ทุกประเทศทั่วโลกบรรจุวัคซีน HPV เข้าไปเป็นหนึ่งในโปรแกรมสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และแนะนำให้เร่งฉีดให้กับเด็กผู้หญิงอายุก่อน 15 ปี เนื่องจากวัคซีนจะได้ผลดีที่สุดหากฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์

ในขณะที่ผู้คนทั่วโลกกำลังหวาดกลัวการระบาดของโควิด อย่าลืมว่า ‘โรคมะเร็ง’ ก็ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อ้างอิงจากรายงานแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (พ.ศ. 2561-2565) ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในสถานการณ์โรคมะเร็งโลก

  

 

ข้อมูลล่าสุด มะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นลำดับ 2 ของผู้หญิงวัยทำงานในประเทศไทย รองจากมะเร็งเต้านม ใน 1 วันประเทศไทยตรวจพบผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกถึง 25 คน คิดเป็น 9,158 คนต่อปี และเสียชีวิตถึงวันละ 13 คน และเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV หรือ Human papillomavirus

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสำคัญกับการกำจัดมะเร็งปากมดลูก โดยแนะนำให้แต่ละประเทศเร่งฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ครอบคลุม 90% ในเด็กผู้หญิงก่อนพ้นอายุ 15 ปี พร้อมทั้งตรวจคัดกรองในกลุ่มผู้หญิงอายุ 35 ปี ครอบคลุม 70% และสุดท้ายคือให้การรักษาผู้หญิงที่เป็นระยะก่อนมะเร็งและมะเร็งระยะลุกลามให้ครอบคลุม 90%

 

 

วัคซีน HPV เป็นวัคซีนจำเป็นสำหรับเด็กไทย

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนให้กับเด็กว่า “การฉีดวัคซีน HPV ไม่เกี่ยวกับการพร้อมในการมีเพศสัมพันธ์แต่อย่างใด แต่การฉีดวัคซีนในเด็กจะตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันได้ดีและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด เหมือนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพที่สุดก่อนที่จะได้รับเชื้อนี้คือก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์ ทางการแพทย์จึงแนะนำให้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี แต่เหมาะสมที่สุดในอายุ 11-12 ปี หรือราวๆ ชั้น ป.5 เพราะเป็นวัยที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดและส่วนใหญ่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์”

 

เมื่อถามถึงเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน HPV ศ.พญ.กุลกัญญา ยืนยันว่า วัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย เพราะวัคซีนไม่มีเชื้อที่มีชีวิต จึงไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ อีกทั้งได้มีการติดตามความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด โดยวัคซีน HPV ที่ได้กระจายฉีดให้กับเด็กผู้หญิง ป.5 ปีนี้ มีการใช้มามากกว่า 400 ล้านโดสทั่วโลก ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงหรือการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน

  

“องค์การอนามัยโลกได้วิเคราะห์ข้อมูลติดตามผลการฉีควัคซีน HPV ทั่วโลก พบว่า หลังจากฉีดวัคซีนจำนวนเคสที่มีรอยโรคที่จะดำเนินเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งอื่นๆ ที่เกิดจากไวรัส HPV น้อยลงอย่างชัดเจน นั่นหมายความว่าวัคซีน HPV มีประสิทธิภาพที่ดีและมีข้อมูลยืนยันความปลอดภัย องค์การอนามัยโลกจึงประกาศให้ทุกประเทศทั่วโลกบรรจุวัคซีน HPV เข้าไปเป็นวัคซีนหนึ่งในโปรแกรมสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศให้กับกลุ่มเด็กอายุ 9-15 ปี” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว

 

สำหรับประเทศไทยนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ทางภาครัฐบาลได้มีการสนับสนุนการป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยวัคซีน HPV และการตรวจคัดกรอง สอดคล้องกับเป้าหมายของ WHO ที่จะกำจัดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย ซึ่งการฉีควัคซีนและการตรวจคัดกรองเป็นนโยบายทางสาธารณสุขที่มีคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข  

 

 

รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย และประธานอนุสาขามะเร็งวิทยานรีเวช ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงประเด็นความคุ้มค่าของการจัดสรรวัคซีน HPV ว่า “ในมุมมองความคุ้มค่าระดับประเทศต้องกล่าวว่า เชื้อ HPV นั้นสามารถนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ ตลอดจนหูดหงอนไก่ ฯลฯ หากปล่อยให้มีการแพร่ระบาดในระดับประเทศ นอกจากผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเข้ารับการรักษามหาศาลแล้ว ขณะเดียวกันโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขก็ต้องสูญทรัพยากรทั้งเม็ดเงิน บุคลากร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในการรักษาคนป่วยมากเช่นกัน 

 

“จากงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขให้ผลชัดเจนว่า การลงทุนจัดซื้อวัคซีนนำมาฉีดให้ประชาชนที่อยู่ในเกณฑ์ เช่น เด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เป็นทางเลือกที่คุ้มค่าแก่การลงทุนในระดับประเทศ”

 

ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งประเทศไทย (สปสช.) ได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลโรคดังกล่าวอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดบริการฉีดวัคซีนในโรงเรียนให้กับนักเรียนหญิงชั้น ป.5 ทั่วประเทศ และส่งเสริมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA สำหรับหญิงไทยอายุ 30-60 ปี ให้มีสิทธิ์เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคนี้ทุก 5 ปี ฟรี ณ สถานพยาบาลที่มีรายชื่อสังกัดอยู่ 

  

แม้ว่าประสิทธิภาพการป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดให้กับคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน แต่คนช่วงวัยอื่นก็จำเป็นต้องฉีควัคซีนด้วยเช่นกัน เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าในตัวเราจะมีเชื้อ HPV หรือไม่ หรือถ้ามีเชื้อสายพันธุ์ 16 แล้ว แต่การฉีดวัคซีน HPV ก็ยังให้ผลในการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นที่มีในวัคซีนได้ด้วยเช่นกัน

 

ไม่ใช่แค่มะเร็งปากมดลูก แต่วัคซีน HPV ยังป้องกันได้มากกว่า

หนึ่งในประเด็นที่ถูกยกมาพูดถึงกันมากในช่วงหลังคือ ทำไมเด็กหญิงและเด็กชายอายุตั้งแต่ 11-12 ปี ควรต้องฉีดวัคซีน HPV? หากมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่เกิดในเพศหญิงเท่านั้นและกลุ่มเสี่ยงคือคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์

 

เพราะความจริงแล้วไวรัส HPV ยังเป็นต้นเหตุของมะเร็งทวารหนัก มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ชาย รวมไปถึงมะเร็งช่องปากและลำคอ นั่นหมายความว่าการฉีดวัคซีน HPV สามารถป้องกันได้มากกว่ามะเร็งปากมดลูก 

 

ปัจจุบันในหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งที่เกิดจากไวรัส HPV แล้ว ยังส่งผลดีอย่างมีนัยสำคัญต่อการกำจัดมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากผู้ชายก็สามารถเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส HPV มาสู่ผู้หญิงได้ อย่างเช่น ประเทศออสเตรเลียมีการให้วัคซีนทั้งผู้ชายและผู้หญิงมานานแล้ว จนปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกกลายเป็นโรคหายาก (อัตราการเกิด 6 ต่อ 100,000 คน) และอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียก็มีหลายประเทศที่เริ่มให้ความสำคัญกับการได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย หรือฮ่องกง

 

น่าจะเข้าใจตรงกันแล้วว่า การฉีดวัคซีน HPV ยิ่งเริ่มฉีดเร็วเท่าไร ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งอื่นๆ ที่เกิดจากไวรัส HPV มากเท่านั้น โดยเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไปในเด็กหญิงและเด็กชาย ซึ่งวัคซีน HPV ที่ได้รับการจัดสรรในปีนี้สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก และหูดหงอนไก่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงทุกคนควรตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำ เพื่อที่จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X