×

รัฐบาลส่ง 2 รัฐมนตรี พิชัยนำทีมไทยแลนด์เจรจาสหรัฐฯ คาดต้นสัปดาห์หน้า

โดย THE STANDARD TEAM
14.04.2025
  • LOADING...
thailand-us-trade-talks

วันนี้ (14 เมษายน) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่มีการสรุปประเด็นของคณะกรรมการติดตามมาตรการภาษีสหรัฐอเมริกา ทั้งในส่วนกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ผู้ส่งออกและนำเข้าด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 เมษายน)

 

ในวันอังคารที่ 15 เมษายนนี้ คณะกรรมการจะสรุปผลทั้งหมดเพื่อวิเคราะห์ผลได้ผลเสียและความเป็นไปได้ เพื่อเตรียมเป็นข้อมูลในการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ โดย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะผู้เจรจา จะเดินทางล่วงหน้าไปที่นครซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ในวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายนนี้ โดยคณะล่วงหน้าจะเดินทางไปพบกับนักธุรกิจในกลุ่มต่างๆ ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนด้านอื่นๆ

 

จากนั้นในวันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเดินทางไปร่วมกับคณะของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นทีมไทยแลนด์ และทั้งคณะจะเดินทางถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเตรียมเข้าพบกับผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันจันทร์ที่ 21 เมษายนนี้

 

จิรายุกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลไทยมีความพร้อมในการพูดคุย โดยข้อมูลทั้งหมดได้ถูกรวบรวมมาตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน ผ่านการประชุมหารือทั้งในส่วนของรัฐบาลและทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคเอกชน เช่น ผู้แทนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย ผู้แทนบริษัทธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและสินค้าทั้งหมดที่มีการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้ยุทธศาสตร์การเจรจาที่เน้นสร้างความสมดุลทางการค้าและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นการปูทางสู่การเจรจาเชิงลึกระหว่างไทย-สหรัฐฯ ในระดับต่างๆ ในโอกาสต่อไป

 

คณะเจรจายังมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีทางออกที่ดีที่สุดในการค้าระหว่างประเทศครั้งนี้อย่างแน่นอน สำหรับแนวทางการดำเนินการของไทยต่อกรณีนโยบายการค้าและมาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯ ภายใต้ 5 หลักการดังนี้

 

  1. การเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมที่ไทยและสหรัฐฯ เกื้อหนุนกัน โดยรัฐบาลไทยเห็นว่าความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพร่วมกัน เช่น เกษตร-อาหาร และเทคโนโลยี ถือเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสองประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตพรีเมียมเกรดและสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดโลกได้มากขึ้น หากมีการเสริมวัตถุดิบจากสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด ที่มีต้นทุนต่ำและคุณภาพสูง

 

  1. การเปิดตลาดและลดภาษี ลดอุปสรรคทางการค้าตาม National Trade Estimate 2025 ของสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลพร้อมพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าและบริหารโควตาสินค้าเกษตรที่สหรัฐฯ มีความสามารถในการแข่งขัน เช่น ข้าวโพด เพื่อเปิดตลาดในลักษณะที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ โดยจัดสรรการนำเข้าเฉพาะช่วงที่สินค้าในประเทศขาดแคลน สร้างระบบการค้าที่เป็นธรรมและยืดหยุ่นต่อทุกฝ่าย

 

  1. การเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ ในสินค้าที่ไทยจำเป็นต้องใช้ โดยไทยเตรียมพิจารณานำเข้าพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบที่ภาคอุตสาหกรรมต้องใช้แต่ผลิตไม่ได้เพียงพอ เช่น วัตถุดิบด้านปิโตรเคมี หรือเครื่องบินพาณิชย์ เพื่อเติมเต็ม Supply Chain ของประเทศ รวมถึงสินค้าที่ประเทศไทยเป็น Net Importer เช่น ชีส วอลนัท ผลไม้สดที่ไทยผลิตเองไม่ได้ เช่น เชอร์รี แอปเปิ้ล ซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุลด้านการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ให้ลดการได้เปรียบดุลการค้า

 

  1. การตรวจสอบเพิ่มความเข้มงวดสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม โดยรัฐบาลตระหนักถึงความกังวลของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าราคาต่ำจากประเทศที่สามผ่านไทยเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี จึงจะมีมาตรการคัดกรองสินค้าต้นทาง ตรวจสอบแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวด และยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้โปร่งใสและเป็นไปตามหลักสากล สร้างความเชื่อมั่นในฐานะคู่ค้าที่มีธรรมาภิบาล

 

  1. การส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แล้ว ไทยยังมีแผนผลักดันให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐฯ โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ผลิตสินค้าส่งออกจากฐานการผลิตในสหรัฐฯ ไปยังตลาดโลก ซึ่งไม่เพียงช่วยกระจายความเสี่ยง แต่ยังช่วยลดแรงต้านด้านการค้าและสร้าง Value Chain ใหม่ที่เข้มแข็ง

 

ในการประชุมหารือและได้ข้อสรุปในทุกประเด็นดังกล่าวแล้วนั้นได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบทุกระยะ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้คณะเจรจาดำเนินการให้เต็มที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายทั้งการค้าระหว่างประเทศและภาคธุรกิจเอกชนที่เป็นส่วนสำคัญในการนำผลิตภัณฑ์เมดอินไทยแลนด์ไปสู่ตลาดสหรัฐฯ และตลาดโลกต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising