หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยในอัตราสูงถึง 36% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีถึงผู้นำกว่า 12 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มนี้ที่ได้รับจดหมายดังกล่าว ไทยจะมีผลกระทบอย่างไร และมีทางเลือกหรือทางรอดอย่างมีอะไรบ้าง
ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะอ่อนแอและน่ากังวลใจ แม้ตัวเลขส่งออกในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาจะดูดีขึ้น โดยเดือนพฤษภาคม มีการเติบโตถึง 18% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ เร่งตุนสต็อกสินค้าก่อนมาตรการภาษีใหม่ของสหรัฐฯ จะเริ่มใช้ในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งหมายความว่า การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะไม่ดีเท่าครึ่งปีแรก เนื่องจากได้มีการเร่งซื้อสินค้าไปแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยซึ่งเคยเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ กลับเติบโตเพียง 0.5% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สะท้อนปัญหาโรงงานปิดตัวและการย้ายฐานการผลิต ส่วนภาคการบริโภคก็ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนลดลงเหลือเพียง 2.6% เทียบกับ 6.9% ในปี 2566 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ตกต่ำต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลขยอดขายร้านอาหารและยอดรูดบัตรเครดิตในห้างสรรพสินค้าก็ลดลงเช่นกัน
อีกทั้งที่น่าเป็นห่วง คือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเคยเป็นเครื่องยนต์สำคัญ กลับมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกทำได้เพียง 16.6 ล้านคน และเดือนมิถุนายนมีจำนวนลดลงถึง 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ส่วนการลงทุนโดยตรง (FDI) ยังคงเป็นความหวัง โดยในไตรมาส 1 ปีนี้ ยอดโครงการลงทุนเพิ่มขึ้น 20% และเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 97% ถือเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งหวังว่าจะสามารถเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองที่ผันผวน ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้การขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้า
ตีความจดหมาย ‘ทรัมป์’ ไทยโดน 36% มีผลกระทบอย่างไร
จากการรวบรวมจดหมายกว่า 141 ฉบับที่ทรัมป์ส่งออกไป ตีความว่า โดยรวมแล้วทรัมป์ยังคงยืนยันที่จะเก็บภาษีตามที่เคยแจ้งไว้เกือบทั้งหมด ยกเว้นบางประเทศในกลุ่ม CLMV ที่มีการปรับลดภาษีเล็กน้อย แต่สำหรับประเทศไทยยังคงอัตรา 36% ไว้ตามเดิม ซึ่งส่งผลให้ไทยเสียเปรียบมาเลเซียถึง 11% และเวียดนามถึง 16% ที่ถูกเก็บ 20%
ดร. กอบศักดิ์ ย้ำว่า ความเป็นไปได้ยากที่ทรัมป์จะเปลี่ยนใจเรื่องการเก็บภาษีในรอบนี้ เนื่องจากตลาดทุนสหรัฐฯ โดยเฉพาะดัชนี S&P ทำ All Time High และปรับตัวรับข่าวภาษีได้ดีขึ้น ทำให้แรงกดดันจากภายในสหรัฐฯ ที่จะให้ทรัมป์เปลี่ยนใจมีน้อยมาก
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ก็มีเวลา 90 วันในการปรับตัวและสต็อกสินค้า ส่วนประชาชนก็ได้รับมาตรการลดภาษีจากนโยบาย One Big Beautiful Bill เข้ามาช่วยบรรเทาภาระ ทำให้แรงกดดันจากภายในสหรัฐฯ ที่จะให้ทรัมป์เปลี่ยนใจในนโยบายภาษีมีความเป็นไปได้น้อยลงมาก พร้อมทั้งยังเตือนว่า หากตลาดทุนสหรัฐฯ ยังคงรับข่าวสารได้ดี และมีการทำสถิติสูงสุดใหม่ (New High) อาจเป็นสัญญาณว่าทรัมป์จะใช้มาตรการภาษีเพิ่มเติมในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น เป็นรายประเทศ รายอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งรายโรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ
คาดภาษี ‘ทรัมป์’ ทำรายได้เพิ่มให้สหรัฐฯ 3 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี
ขณะที่หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทรัมป์เดินหน้ามาตรการภาษีนี้ คือศักยภาพในการสร้างรายได้มหาศาลให้กับสหรัฐฯ
โดยการเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีแนวโน้มจะสูงถึงประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งหากคิดเป็นรายปีจะอยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท ถือเป็นรายได้จำนวนมหาศาลนี้จะช่วยลดการขาดดุลทางการคลังของสหรัฐฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ และยังนำไปใช้เป็นเงินทุนสำหรับการลดภาษีให้กับประชาชนชาวอเมริกัน ภายใต้นโยบาย One Big Beautiful Bill อีกด้วย ซึ่งหมายความว่าแม้ประชาชนจะต้องจ่ายค่าสินค้าแพงขึ้น แต่ก็มีเงินส่วนอื่นมาช่วยชดเชย ทำให้มาตรการภาษีนี้ได้รับการยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ ในสหรัฐฯ มากขึ้น
ส่วนในกรณีที่หากการเจรจาของไทยไม่เป็นผล และไทยต้องแบกรับภาษี 36% ประเมินว่า สัดส่วนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ อาจหายไปถึงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียงประมาณ 10% ของการส่งออกทั้งหมด แม้ไทยจะเสียเปรียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนาม และอาจกระทบต่อ FDI ในอนาคต แต่ก็ชี้ว่าไทยควรเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ เช่น อินเดีย จีน อาเซียน และกลุ่มตะวันออกกลางที่กำลังเติบโต เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ
หวั่นภาค SME-FDI กระทบหนัก
อีกทั้งยังความกังวลอย่างยิ่งต่อ SME ในประเทศ โดยยกตัวอย่างสินค้าเล็กๆ น้อยๆ เช่น กลุ่มสินค้าจาก Temu ของจีนที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์ ซึ่งสหรัฐฯ คิดภาษีสูงถึง 54% หากผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ ก็จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อ SME ในประเทศที่ต้องเผชิญการแข่งขันด้านต้นทุน การที่สินค้าเหล่านี้ถูกเก็บภาษีแพงจะทำให้หาตลาดอื่นแทน ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อ SME ไทยที่ผลิตสินค้าใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ ผลกระทบที่น่ากังวลที่สุดในระยะยาวคือ การลงทุนโดยตรง (FDI) ดร. กอบศักดิ์ ชี้ว่า หากประเทศไทยยังคงมีภาษี 36% ในขณะที่เวียดนามได้อัตรา 20% บริษัทต่างชาติที่กำลังพิจารณาการลงทุนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จะต้องคิดหนักมาก
เหตุผลคือ การตั้งฐานการผลิตในเวียดนามจะทำให้ต้นทุนภาษีถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัดถึง 16% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ส่งผลต่อกำไรและผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ บริษัทเหล่านั้นอาจตัดสินใจย้ายฐานการลงทุนไปยังเวียดนามแทน การสูญเสียโอกาสในการดึงดูด FDI จะส่งผลกระทบต่ออนาคตของเศรษฐกิจไทยอย่างร้ายแรง เพราะ FDI เป็นปัจจัยสำคัญในการผลัดใบหรือสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ และฟื้นฟูภาคการผลิตของไทยที่กำลังชะลอตัวให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง หากผู้ลงทุนเลือกไปเวียดนามมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยก็จะเสียโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว
มองไทยมีทางเลือกรับมือภาษีสหรัฐฯ ไม่มาก
ดร. กอบศักดิ์ ยังให้ความเห็นว่าประเทศไทยมีทางเลือกไม่มากนัก โดยมีดังนี้
- การยอมรับสภาพอัตราที่ 36%
- การกลับไปเจรจาเพื่อขออัตราภาษีที่ดีขึ้นที่อัตรา 25% เป็นจุดที่ภาคเอกชนไทยพอจะรับได้ หากแตกต่างกับคู่แข่งไม่เกิน 5% แต่หากต่างถึง 10-16% จะเป็นเรื่องยากและกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันอย่างมาก เ
3.เดินตามทางเวียดนาม เพราะประเด็นสำคัญคือการที่เวียดนามสามารถลดภาษีจาก 46% เหลือ 20% ได้ แสดงให้เห็นว่าการเจรจาเป็นไปได้ แต่ต้องแลกกับการที่เวียดนามเปิดให้สหรัฐฯ เข้าถึงตลาดได้อย่างเต็มที่ หรือที่เรียกว่าภาษี 0% total access แต่คำถามคือ ประเทศไทยจะสามารถให้ข้อเสนอแบบเดียวกับเวียดนามได้หรือไม่ ซึ่งอาจต้องพิจารณาเปิดตลาดในบางภาคส่วนที่เราไม่ได้ผลิตเอง เช่น อิเล็กทรอนิกส์บางประเภท หรือยานยนต์บางชนิด เพื่อแลกกับการได้ภาษีที่ลดลง
อาจจำเป็นต้องเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้สหรัฐฯ ยอมให้ภาษี 0%
ในส่วนของสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ ยอมรับว่าสหรัฐฯ มีเป้าหมายในสินค้าเกษตรบางตัวที่ระบุไว้ในรายงานของ USTR (Office of the United States Trade Representative) เช่น ถั่วเหลืองและสินค้าปศุสัตว์บางชนิด ซึ่งอาจเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับประเทศไทย
อย่างไรก็ตามมีแนวคิดว่า หากประเทศไทยจำเป็นต้องเปิดตลาดให้สินค้าเกษตรและปศุสัตว์จากสหรัฐฯ ด้วยอัตราภาษี 0% จริง ๆ เพื่อแลกกับการได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีโดยรวม สิ่งที่สำคัญคือการพิจารณาว่า ‘อะไรคือสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้จริงๆ’ เช่น สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานสุขอนามัย หรือสินค้าที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรไทยโดยตรง
หากมีความจำเป็นต้องเปิดตลาดในบางส่วน มองว่า รัฐบาลควรเตรียมงบประมาณสำหรับมาตรการเยียวยา เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น การเยียวยาอาจอยู่ในรูปของการสนับสนุนให้ปรับตัว เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นที่ตลาดมีความต้องการ การเจรจาการค้าเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ซึ่งอาจมีบางส่วนที่ต้องยอมเสียไป เพื่อให้ภาพรวมเศรษฐกิจเดินหน้าได้ และเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมเติบโต ก็จะมีรายได้กลับมาเพื่อใช้ในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ
มองการเปิดแข่งขันช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้พัฒนาตัวเอง
ดร. กอบศักดิ์ ยังให้ความเห็นต่อการเปิดให้มีการแข่งขันอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป โดยยกตัวอย่างกรณีของจีนที่เคยปกป้องอุตสาหกรรม EV ของตนเอง แต่เมื่อเปิดให้ Tesla เข้ามาแข่งขัน กลับทำให้ผู้ผลิต EV ของจีนพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การพิจารณาเปิดตลาดในบางสินค้าที่ไทยอาจไม่ได้มีความได้เปรียบในการผลิต หรือสินค้าที่ไทยต้องนำเข้าอยู่แล้ว อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในประเทศด้วยการเข้าถึงสินค้าที่ราคาถูกลง ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบต่อภาคส่วนที่อ่อนไหว
ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลและการปรับตัวของภาคธุรกิจ
ดร. กอบศักดิ์ ย้ำว่า รัฐบาลไทยและทุกหน่วยงานควรเร่งรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลึก และควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการคลังและนโยบายการเงิน รวมถึงการพิจารณาเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังต้องรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคเอกชน
สำหรับภาคธุรกิจ แนะนำให้เร่งหาตลาดส่งออกอื่นที่ไม่ใช่สหรัฐฯ โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ที่กำลังเติบโต เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง และอาเซียน ซึ่งรัฐบาลสามารถสนับสนุนได้โดยการค้ำประกันการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการ SGP (Small and Medium Enterprises Government Procurement) หรือการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่กำหนดสัดส่วนการซื้อสินค้าจาก SME ในประเทศให้มากขึ้น อาจเพิ่มเป็น 50% เพื่อช่วยพยุงผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศจากผลกระทบของภาษีนำเข้าจากจีน และควรเพิ่มมาตรการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SME ด้วย
อย่างไรก็ดี ประเมินวิกฤตครั้งนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนครั้งก่อน และตลาดโลกจะยังคงเผชิญความผันผวนจากมาตรการของนโยบายของทรัมป์อย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ และพยายามเจรจาอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ดีที่สุด