ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันรอบด้านจากนโยบายทางการค้าและเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา
ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์ หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัดให้สัมภาษณ์ในรายการ Morning Wealth ระบุว่า หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีประกาศตัดสินใจเลื่อนกำหนดขึ้นภาษีจากเดิม 9 กรกฎาคม เป็น 1 สิงหาคม ดูเหมือนจะเป็นข่าวดีที่ช่วยให้ไทยมีเวลาเตรียมตัวและเจรจามากขึ้น เปรียบเหมือนต่อเวลาหายใจให้ไทยเพิ่มขึ้น ที่มาพร้อมเงื่อนไข ซึ่งสหรัฐฯ อาจแบ่งประเทศคู่ค้าออกเป็น 3 กลุ่ม โดยไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่สาม ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการกำหนดเงื่อนไขทางการค้าใหม่ แต่เปิดช่องให้เจรจาต่อรองได้
ปัจจัยที่ทำให้ไทยยังไม่สามารถปิดดีลเจรจากับภาษีกับสหรัฐฯ ได้รับการผ่อนผัน มีดังนี้
- ไทยไม่ใช่คู่ค้าหลัก สหรัฐฯ มีทรัพยากรจำกัดในการเจรจา ทำให้ต้องจัดลำดับความสำคัญ และไทยอยู่ในกลุ่มที่สามารถเลื่อนการเจรจาออกไปก่อนได้
- บทเรียนเวียดนามโมเดล สหรัฐฯ อาจใช้กรณีของเวียดนามเป็นต้นแบบในการเจรจา ทั้งในเรื่องภาษีสวมสิทธิ์ (Transhipment) ที่ 40% ภาษีโดยรวม 20% และการเรียกร้องให้ลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% ซึ่งประเด็นหลังนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องนำกลับมาหารือกับภาคเอกชนไทยอย่างรอบคอบ เนื่องจากจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา
- สถานการณ์การเมืองไทย ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้สหรัฐฯ อาจมองว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในการเจรจาได้อย่างเด็ดขาด
การจำกัดส่งออกชิป AI ความเสี่ยงใหม่ต่ออนาคตเทคโนโลยีไทย
นอกเหนือจากเรื่องภาษี อีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่มีผลกระทบอย่างมีนัยคือ การจำกัดการส่งออกชิป AI ขั้นสูงจากสหรัฐฯ มายังไทยและมาเลเซีย แม้จะเป็นคนละประเด็นกับการขึ้นภาษี แต่มีความเกี่ยวโยงกับความกังวลด้านความมั่นคงและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ อย่างลึกซึ้ง
ทั้งนี้สหรัฐฯ กังวลว่าไทยและมาเลเซียอาจเป็นช่องทางให้จีนเข้าถึงชิป AI ขั้นสูง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ ต้องการควบคุมไม่ให้หลุดมือไปสู่คู่แข่ง การที่ไทยถูกรวมอยู่ในรายชื่อนี้ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีความกังวลในประเด็นการสวมสิทธิ์และการเป็นทางผ่านของเทคโนโลยีขั้นสูงนี้
โดยมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ แม้สัดส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจะคิดเป็นประมาณ 17% ของการส่งออกทั้งหมด และชิปขั้นสูงอาจมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่มาตรการควบคุมที่เข้มงวดนี้จะจำกัดโอกาสในการพัฒนาภาคเทคโนโลยีของไทยในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากในอนาคตประเทศไทยต้องการนำเข้าชิปขั้นสูงมาเพื่อสร้าง Data Center หรือพัฒนาอุตสาหกรรม IT ขั้นสูงอื่นๆ
5 ปัจจัยกำหนดฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน
ดร. ปิยศักดิ์ สรุปว่า เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีความท้าทายจาก 5 ปัจจัยหลัก ซึ่งล้วนสร้างความไม่แน่นอนและจำเป็นต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
- สงครามการค้าเป็นปัจจัยเสี่ยง ‘สีแดง’ ที่สุด หากไทยโดนภาษี 10% กรณีดีที่สุดแต่โอกาสน้อย GDP อาจบวก 0.3% จากฐาน 1.4% แต่หากโดน 15-20% GDP จะอยู่แค่ 1.1-1.4% และใน กรณีเลวร้ายที่สุด หากภาษีสูงกว่า 21% เช่น 36% GDP อาจลดลงกว่า 2.5% หรือเสี่ยงมีอัตราการเติบโตติดลบ
- สงครามอิสราเอล-อิหร่าน แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย แต่ความเสี่ยงจากการปิดช่องแคบฮอร์มุซยังคงมีอยู่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและการค้าโลก
- การเมืองไทยเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยง ‘สีแดง’ ที่สุด เช่นกัน ที่สร้างความไม่แน่นอนให้เศรษฐกิจ หากรัฐบาลอยู่ต่อ GDP อาจไม่เปลี่ยนแปลง แต่หากมีการยุบสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการอนุมัติงบประมาณปี 2569 จะกระทบกระบวนการงบประมาณรุนแรง ทำให้ GDP อาจเหลือเพียง 0.9%
- นโยบายการเงิน การเปลี่ยนแปลงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ และทิศทางนโยบายดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร หากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากขึ้น ธปท. จะพร้อมลดดอกเบี้ยหรือไม่
- นโยบายการคลัง ประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ 1.15 แสนล้านบาทของรัฐบาล รวมถึงงบประมาณปี 2569 หากการเมืองไม่นิ่ง อาจส่งผลให้การเบิกจ่ายล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผน และลดทอนผลบวกต่อเศรษฐกิจ
ตั้งรับและเฝ้าระวัง คำแนะนำสำหรับภาคธุรกิจและนักลงทุน
ดร. ปิยศักดิ์ แนะนำว่าสถานการณ์ปัจจุบันจำเป็นต้องใช้แนวทาง “ตั้งรับและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด” (Wait & See) สำหรับภาคธุรกิจ ควรระมัดระวังในการดำเนินงานและจับตาทิศทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นภาษีและข้อจำกัดการส่งออกชิป แม้ผู้ส่งออกบางรายจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงในตอนนี้ แต่ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
สำหรับนักลงทุน ควรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง (Diversification) ของพอร์ตการลงทุน และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หากการลงทุนในตลาดต่างประเทศให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ควรพิจารณาจัดสรรเงินลงทุนไปต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่มีความแข็งแกร่งอย่างสหรัฐฯ
โดยแรงกดดันรอบด้านที่ไทยกำลังเผชิญ ทั้งจากปัจจัยภายนอกอย่างนโยบายของสหรัฐฯ และปัจจัยภายในอย่างความไม่แน่นอนทางการเมือง กำลังเป็นบททดสอบสำคัญของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างรอบคอบและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการนำพาประเทศก้าวผ่านความท้าทายนี้ไปได้