Oscar Tjakra นักวิเคราะห์อาวุโสของ Rabobank ออกมาประเมินว่าราคาข้าวในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ของไทยออกมาระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญได้ทำให้พื้นที่ภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่ของประเทศ มีปริมาณฝนสะสมน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึง 40% พร้อมแจ้งเตือนให้เกษตรกรเลี่ยงทำนาปี
โดยคาดว่าสถานการณ์ในประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกจะยิ่งซ้ำเติมราคาข้าวในตลาดโลก หลังจากที่ก่อนหน้านี้อินเดีย ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็น 40% ของการส่งออกข้าวทั่วโลก ได้ออกมาตรการห้ามส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ จนส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 15-20% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายนปีก่อน
“ราคาข้าวในตลาดโลกจะพุ่งสูงขึ้นแน่หากการผลิตในประเทศไทยลดลง อย่างไรก็ดี เรายังต้องจับตาดูว่าเกษตรกรไทยจะปฏิบัติตามคำเตือนของ สทนช. หรือไม่ เพราะราคาข้าวในปัจจุบันก็สร้างแรงจูงใจให้มีการทำนาปลูกข้าวเช่นกัน” Tjakra กล่าว
ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทวีความรุนแรงขึ้นได้ส่งผลให้ประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก มีผลผลิตข้าวลดลง เมื่อรวมกับอุปทานของธัญพืชทางเลือกอื่นๆ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาข้าวในปัจจุบันดีดตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ไทยระบุว่า ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาไทยส่งออกข้าวได้ทั้งสิ้น 5.72 แสนตัน ลดลง 25.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 327.6 ล้านดอลลาร์ ลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกข้าวไทยยังคงขยายตัวทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า โดยไทยส่งออกข้าวได้ทั้งสิ้น 4.04 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 75,526.2 ล้านบาท (2,223.9 ล้านดอลลาร์) โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 14.9% และมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 23.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565 ที่มีการส่งออกปริมาณ 3.51 ล้านตัน มูลค่า 61,021.2 ล้านบาท (1,839.7 ล้านดอลลาร์)
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาราคาข้าวไทยเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าข้าวไทยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 550.5 ดอลลาร์ต่อตัน เทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งปี 2565 ที่มีราคาเฉลี่ย 515.9 ดอลลาร์ต่อตัน โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนข้าวไทยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 572.7 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 13.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ล่าสุดสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยรายงานว่า ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมราคาข้าวไทยทุกประเภทปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยข้าวสาร 5% ราคา (F.O.B.) อยู่ที่ 572 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 38 ดอลลาร์ต่อตัน, ข้าวหอมมะลิไทยชนิดพิเศษ (65/66) ราคาอยู่ที่ 925 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 27 ดอลลาร์ต่อตัน และข้าวเหนียวขาว 10% ราคาอยู่ที่ 852 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 69 ดอลลาร์ต่อตัน เป็นต้น
ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ประกาศห้ามการส่งออกข้าว ทำให้ผู้ค้าข้าวไทยทั้งผู้ส่งออกและโรงสีข้าวไทยมีความเป็นห่วง โดยยังคาดเดาลำบากว่าหลังจากนี้จะทำให้ตลาดข้าวโลกชะลอตัวหรือไม่ จึงต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอีกครั้งว่ารัฐบาลอินเดียจะผ่อนปรนคำประกาศหรือไม่
อย่างไรก็ดี คาดว่าเรื่องนี้จะทำให้ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของการกำหนดราคาข้าวแต่ละชนิดที่อยู่ระหว่างการทำสัญญาซื้อขายที่อาจต้องเลื่อนไปก่อน เพราะคาดว่าราคาข้าวในตลาดโลกจะสูงขึ้น ซึ่งทำให้ราคาข้าวในประเทศต้องปรับราคาขึ้นตามไปด้วย แต่จะส่งผลดีต่อเกษตรกรให้ขายข้าวเปลือกราคาดีขึ้น
ทั้งนี้ ภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐจะเร่งหาวิธีการอื่นๆ โดยเฉพาะการหาตลาดใหม่ทดแทน เพื่อชะลอการปรับราคาขึ้นในประเทศ ซึ่งขณะนี้การเพาะปลูกข้าวไทยกำลังประสบปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ จึงเกรงว่าปริมาณข้าวไทยในปีนี้อาจลดน้อยลงไปด้วย จึงต้องรีบวางมาตรการรองรับต่อไป
อ้างอิง: