ปี 2020 นับเป็นปีแห่งความวิกฤตของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วทั้งโลก ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างที่เราทราบเป็นอย่างดี ซึ่งหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้อย่าง ‘โตโยต้า’ จึงกลายเป็นเป้าที่โดนแรงกระแทกเข้าไปอย่างเต็มเบอร์
ทั้งยอดผลิตและยอดขายทั่วโลกของโตโยต้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปี 2020 โตโยต้ามียอดขายทั้งสิ้น 8,692,168 คัน ลดลง 10.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หากรวมแบรนด์ในเครือทั้งฮีโน่และไดฮัทสุ (ไม่รวมเลกซัส) แล้วมียอดขาย 9,528,438 คัน ลดลงถึง 11.4%
บอกให้เข้าใจง่ายๆ คือ โตโยต้ามียอดขายหายไปนับล้านคันในปีเดียว ซึ่งนี่คือการมียอดขายลดลงครั้งแรกในรอบ 9 ปีของโตโยต้าอีกด้วย
ขณะที่การผลิตมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อที่จะได้ไม่ต้องแบกสต๊อก โดยปีที่ผ่านมาโตโยต้ามียอดการผลิตทั้งสิ้น 7,909,488 คัน ลดลง 12.6% ส่วนทั้งกลุ่มผลิตได้ 9,213,195 คัน ลดลง 14.1%
นับเป็นการลดลงของการผลิตของโตโยต้าครั้งแรกในรอบ 2 ปี และเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปีของทั้งกลุ่ม โดยเฉพาะการผลิตนอกประเทศญี่ปุ่นที่ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว
‘โตโยต้า ประเทศไทย’ อ่วมไม่แพ้กัน
หันกลับมามองที่ตลาดเมืองไทย โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจากที่โตโยต้าทั่วโลกได้รับ ด้วยยอดขายในปีที่ผ่านมาทำได้ 244,316 คัน ลดลง 26.5%
แม้ว่าจะมียอดขายที่หดตัวอย่างมาก แต่โตโยต้ายังสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ที่ระดับ 30.8% ครองตำแหน่งยอดขายรวมสูงสุดเอาไว้ได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากแยกย่อยลงรายละเอียดไปในตลาดที่สำคัญคือ ตลาดรถยนต์นั่งและตลาดรถกระบะ เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ‘โตโยต้า หล่นจากบัลลังก์อันดับหนึ่ง’ นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่โตโยต้าพลาดเสียแชมป์ทั้งสองตลาดพร้อมๆ กัน
ทั้งนี้ตลาดรถยนต์นั่งโตโยต้ามียอดขาย 68,152 คัน ลดลง 42.1% หล่นมาอยู่อันดับสอง โดยมี ฮอนด้า ขึ้นมายืนอันดับหนึ่ง แทนที่ด้วยยอดขาย 77,419 คัน (ลดลง19.5%) ซึ่งตลาดนี้จะไม่รวมรถอเนกประสงค์แบบเอสยูวีที่ถูกนำตัวเลขไปรวมไว้ในตลาดรถเพื่อการพาณิชย์
ขณะที่ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (รวมกระบะดัดแปลง PPV) โตโยต้ามียอดขาย 149,635 คัน ลดลง 21.9% เสียตำแหน่งแชมป์คืนให้กับ อีซูซุ ที่มียอดขายทั้งสิ้น 168,467 คัน เพิ่มขึ้น 10% ซึ่งอีซูซุเป็นเพียง 1 ใน 3 แบรนด์ที่สามารถสร้างยอดขายให้เป็นบวกได้ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19
สอง ‘โปร’ คือปัจจัย
หากให้วิเคราะห์ถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มียอดขายที่ลดลง พ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งสำคัญในตลาดมาจากสองเหตุสำคัญคือ โปรดักต์ และ โปรโมชัน
เริ่มกันที่โปรดักต์ของโตโยต้า ในตลาดรถยนต์นั่งจากเดิมที่พระเอกคือ ‘Vios’ แต่แล้วเมื่ออีโคคาร์ได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากมีราคาต่ำ โตโยต้าจึงหันมาปล่อย Yaris และ Ativ ลงสู่ตลาดนี้ ทำให้ยังครองอันดับหนึ่งเอาไว้ได้
แต่แล้วในปีที่ผ่านมา หากนับความสดใหม่แล้วถือว่าอยู่ในช่วงปลายอายุโมเดลแล้ว ประกอบกับคู่แข่งอย่างฮอนด้าเปิดตัว ‘City โฉมใหม่’ ภายใต้โครงการอีโคคาร์ ทำให้สร้างยอดขายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ขณะที่ตลาดรถปิกอัพ ตัวโปรดักต์ของโตโยต้าคือ Hilux Revo ได้เข้าสู่ช่วงกลางอายุโมเดลหลังเปิดตัวในปี 2015 และมีการไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2020 เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างอีซูซุที่เปิดตัว D-Max โฉมใหม่ ในช่วงปลายปี 2019 ทำให้ยอดขายของปี 2020 พุ่งสูงขึ้นตามปกติของการเปิดตัวรถรุ่นใหม่
ดังนั้นในแง่ของโปรดักต์แล้ว การที่โตโยต้าจะกลับมาได้ต้องหาโปรดักต์ใหม่มาสู้ หรืออัปเกรดโปรดักต์เดิมให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึก ‘ว้าว’ จึงจะกลับมาได้
ส่วนโปรโมชันนั้นถือว่าเป็นไม้ตายเด็ดที่โตโยต้าใช้มาอย่างยาวนานในอดีต ทั้งแบบบนดินและใต้ดิน เช่น แคมเปญต่างๆ ที่กระตุ้นตามช่วงเวลา หรือการจัดงบสนับสนุนให้แก่ดีลเลอร์เพื่อทำกิจกรรมทางการตลาด
ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การดูแลของแม่ทัพคนสำคัญ วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ที่ต้องรามือไปเมื่อสิ้นปี 2019 โดยขยับไปอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษา ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับผู้บริหารคนใหม่เข้ามาดูแลแทน จึงกลายเป็นการเปลี่ยนแม่ทัพกลางศึกใหญ่ที่ไม่มีใครคาดว่าจะเกิดวิกฤตโควิด-19
เปลี่ยนแม่ทัพ คดีร้อน
เหนือสิ่งอื่นใด ในปีนี้มีการเปลี่ยนหัวเรือใหญ่คนใหม่ของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย อีกด้วย เนื่องจาก มิจิโนบุ ซึงาตะ ขยับไปรับตำแหน่งใหม่ที่ญี่ปุ่น และส่ง โนริอากิ ยามาชิตะ เข้ามาดูแลตลาดเมืองไทยแทน
โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
ยิ่งไปกว่านั้น หลังเข้ารับหน้าที่เก้าอี้ยังไม่ทันร้อนก็เกิดเรื่องกระหน่ำซ้ำเข้ากับโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย อีกระลอก เมื่อโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์อเมริกาว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกในประเทศไทยอาจจะกระทำผิดกฎหมายการให้สินบนต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่ดูแลเกี่ยวกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกา
ประเด็นนี้กลายเป็นเผือกร้อนบนมือของยามาชิตะ เมื่อถูกถามจากสื่อมวลชนไทยที่เข้าร่วมสัมภาษณ์เป็นครั้งแรก “เรายินดีให้ความร่วมมือในการตรวจสอบทุกขั้นตอนอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้” คือคำตอบของหัวเรือใหญ่คนใหม่เมื่อถูกถามถึงประเด็นร้อนเกี่ยวกับการทุจริต
อย่างไรก็ตาม แม้รายงานดังกล่าวไม่มีการระบุว่าเป็นเหตุการณ์ใด แต่ข้อมูลจาก LAW360 เว็บไซต์ด้านกฎหมายและข้อมูลข่าวสารของสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยข้อมูลโดยอ้างอิงจากข้อมูลการสืบสวนภายในของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่นว่า เป็นเหตุการณ์ที่มีการจ่ายเงินไปยังบริษัทที่ปรึกษากฎหมายเพื่อส่งต่อไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีที่โตโยต้ามีข้อพิพาทเกี่ยวภาษีอากรนำเข้าชิ้นส่วนของรถยนต์รุ่น Prius ซึ่งเป็นคดีเดียวที่โตโยต้ากำลังมีปัญหากับภาครัฐของไทย
สำหรับที่มาที่ไปของคดีดังกล่าวเกิดจากโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มีการนำเข้าชิ้นส่วนไฮบริดที่ได้รับอนุญาตยกเว้นภาษีอากรนำเข้า แต่ทางกรมศุลกากรระบุว่าสำแดงชนิดและพิกัดไม่ถูกต้อง จึงมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเป็นจำนวนเงินมากกว่า หนึ่งหมื่นล้านบาท
โดยคดีนี้ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลคำพิพากษาอย่างเป็นทางการ มีเพียงรายงานจากสำนักข่าวอิสราที่อ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวระบุว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โตโยต้าเป็นฝ่ายชนะคดี ส่วนในชั้นอุทธรณ์พิพากษากลับให้โตโยต้าเป็นฝ่ายแพ้ และคดีอยู่ระหว่างการยื่นฎีกา
นับว่าเป็นปีที่หนักหน่วงอย่างยิ่งสำหรับโตโยต้า มอเตอร์ ดุจดั่งมีพระราหูเคลื่อนมาทับดวง ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างรุมเร้าในทางลบ แต่เชื่อมั่นได้อย่างหนึ่งว่าสุดท้ายแล้วโตโยต้าจะสามารถผ่านบททดสอบเหล่านี้ไปได้อย่างแน่นอน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: