×

สทท. หวังปีหน้ามีนักท่องเที่ยวมาไทย 25 ล้านคน สร้างรายได้ 1.5 ล้านล้านบาท ก่อนกลับสู่ภาวะปกติในปี 2566 หากแผนกระจายวัคซีนเป็นไปตามเป้า

28.06.2021
  • LOADING...
นักท่องเที่ยว

วิชิต ประกอบโกศล รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ประเมินว่า หากประเทศไทยสามรถเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุม 70% ของประชากร และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ภายใน 120 วันตามเป้าของรัฐบาล จะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยประเมินว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะกลับไปอยู่ที่ระดับ 25 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.5 ล้านล้านบาทในปีหน้า และกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนวิกฤตโควิดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศ 3 ล้านล้านบาทในปี 2566

 

“เราเชื่อว่าถ้าไทยเร่งฉีดได้ครอบคลุม 70% ของประชากรอย่างน้อยคนละ 1 เข็ม ต่างชาติจะมีความเชื่อมั่นที่จะกลับมาท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นภาครัฐอาจต้องเข้ามาช่วยในแง่การประชาสัมพันธ์และการตลาด ซึ่งน่าจะใช้งบประมาณ 3-5 พันล้านบาท รวมถึงช่วยให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินรีโนเวตกิจการเพื่อเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งเข้าถึงแหล่งเงินทุน” วิชิตกล่าว

 

วิชิตกล่าวอีกว่า ในระยะยาวภาคการท่องเที่ยวไทยมีความจำเป็นต้องปรับสมดุลตัวเองให้สอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวของโลกที่จะเปลี่ยนไปหลังวิกฤตโควิด เช่น การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสุขอนามัย การท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ที่จะลดลง และการท่องเที่ยวที่จะให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น

 

“ปัจจุบันเรายังมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่มากับกรุ๊ปทัวร์สูงกว่ากลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวเองหรือ FIT แต่ภายใน 5 ปี เชื่อว่าสัดส่วนนักท่องเที่ยว FIT จะมากกว่า โดยสัดส่วนอาจจะปรับเป็น FIT 70% และกรุ๊ปทัวร์ 30% ดังนั้นธุรกิจจะต้องปรับตัวให้เท่าทันกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่จะ Niche มากขึ้น” วิชิตกล่าว

 

วิชิตระบุว่า การปรับสมดุลของภาคการท่องเที่ยวไทยที่จะมุ่งเน้นในเชิงคุณภาพของนักท่องเที่ยวมากขึ้นนั้น ไม่จำเป็นต้องลดจำนวนนักท่องเที่ยวหรือปริมาณลง โดยเชื่อว่าทั้งสองส่วนสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กันได้ เนื่องจากโครงสร้างการท่องเที่ยวไทยมี Capacity หรือศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 50 คนต่อปี หากมุ่งเน้นแต่เชิงคุณภาพโดยไม่สนปริมาณ จะทำให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาดหรือ Oversupply ซึ่งจะนำไปสู่สงครามการค้าของผู้ประกอบการ 

 

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูและกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวไทยในยุคหลังวิกฤตโควิด โดยมองว่าความชัดเจนเชิงนโยบายของภาครัฐจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการปรับตัวของภาคส่วนอื่น รัฐจำเป็นจะต้องมี Action Plan ที่ชัด เพื่อชี้นำเอกชนเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยว

 

ขณะที่ภาคธุรกิจเองต้องปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงกระจายฐานลูกค้าไม่ให้พึ่งพากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากจนเกินไป เร่งพัฒนาทักษะแรงงาน ส่วนภาคประชาชนก็ต้องตระหนักถึงภาพการท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนไปเช่นกัน ต้องช่วยการรักษาความสะอาดและความปลอดภัยทางสาธารณสุข รวมถึงช่วยกันอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวไม่ให้เสื่อมโทรม

 

ชญาวดีกล่าวว่า อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยควรทำเพื่อให้การท่องเที่ยวกลับมาเติบโตได้อีกครั้งคือการรวมแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันแยกออกจากกันเป็น Fragment ให้มารวมอยู่ในจุดเดียว เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยว 

 

“ทุกอย่างควรสามารถทำได้ในแอปพลิเคชันเดียว ทั้งการจองที่พัก การค้นหาโปรโมชัน การใช้จ่ายผ่านวอลเล็ต การดูข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด และข้อมูลความปลอดภัยต่างๆ หากเราทำตรงนี้ได้จะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเราแข็งแกร่งยิ่งขึ้น” ชญาวดีกล่าว

 

ด้านเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงินของ ธปท. กล่าวว่า ธปท. คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลา ซึ่งอาจต้องรอถึงไตรมาส 1/66 กว่าจะกลับมาสู่ก่อนระดับโควิด โดยมองว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ยังรุนแรงจะทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อ โดยจำกัดการเคลื่อนที่ของประชาชน งดการเดินทาง เว้นระยะห่างบุคคล และลดความแออัดในการรวมตัวของคนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

“เชื่อว่าวิกฤตครั้งนี้จะทิ้งรอยแผลเป็นให้ธุรกิจไทยและศักยภาพภาคการท่องเที่ยวไทยไปอย่างยาวนาน การเร่งฉีดวัคซีนจะเป็นทางออกของวิกฤตนี้ แต่คำว่าวัคซีนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการสร้างภูมิให้กับบุคคลเพื่อรับมือกับโรคร้ายเพียงอย่างเดียว แต่วัคซีนยังหมายถึงการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจหลังโควิด และเตรียมพร้อมกับความผันผวนที่คาดไม่ถึงอีกด้วย การสร้างภูมิให้กับธุรกิจในโลกใหม่ข้างต้น จะต้องขับเคลื่อนด้วยกันผ่าน 3 ฝ่าย ประกอบด้วยภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชน” เมธีกล่าว

   

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปมองว่าทุกภาคส่วนจะต้องร่วมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน ประกอบด้วย

  

  1. ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญต่อมาตรฐานชีวอนามัยขั้นสูง สนใจความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องการความสะดวกที่ไม่น้อยกว่าเดิม 

 

  1. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะต้องสร้างความได้เปรียบให้แก่ธุรกิจที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ และสร้างประสบการณ์ด้านดิจิทัลให้กับลูกค้าให้ได้รับความสะดวกในการจอง การจัดการเดินทาง และการชำระเงิน รวมถึงการจัดเตรียมบริการที่ปรับให้สอดคล้องกับความชอบของแต่ละบุคคล

 

  1. ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่ต้องหันมาทบทวนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ การสืบสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การผสมผสานการท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรอง และสร้างบุคลากรในสาขาวิชาชีพต่างๆ ให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยว

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X