จากการสำรวจของ Kearney บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ประจำปี 2568 สะท้อนมุมมองนักลงทุนระดับโลก เผยไทยติดอันดับ 10 ในกลุ่ม ตลาดเกิดใหม่ ที่นักลงทุนสนใจและให้ความเชื่อมั่นมากที่สุด
ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยหลัก เริ่มตั้งแต่ ศักยภาพของแรงงานไทย 34% รองลงมาคือ ความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และทรัพยากรธรรมชาติ ในสัดส่วน 24% เท่าๆ กัน
ที่สำคัญนักลงทุนยังชื่นชมบทบาทเชิงรุกของไทยในการส่งเสริมการลงทุนแต่สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการพัฒนานวัตกรรม และบุคลากรที่มีทักษะสูง เพื่อแข่งขันกับ ประเทศอื่น
ชาญชัย ถนัดค้าตระกูล กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Kearney กล่าวว่า ประเทศไทยได้แสดงบทบาทเชิงรุกในการส่งเสริมการลงทุนและลดอุปสรรคในการดำเนินงานของนักลงทุนต่างชาติ
ถึงกระนั้นในภาวะการแข่งขันที่รุนแรงการดึงดูดเงินลงทุน FDI จากหลายตลาด ทำให้ประเทศจำเป็นต้องเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเสริมความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะ และสร้าง มาตรการดึงดูดการลงทุนที่ตรงจุดสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
พร้อมย้ำถึงมาตรการภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐอเมริกาจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรมรวมถึง ยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันก็ล้วนต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านต้นทุนและข้อบังคับต่างๆ ที่มีความท้าทายอยู่แล้ว
“ถึงแม้ไทยจะเผชิญความท้าทายต่างๆแต่ยังคงรักษาจุดแข็งที่สามารถดึง นักลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน ทั้งในด้านบุคลากรที่มีศักยภาพ ความสะดวก ในการ ประกอบธุรกิจ และทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยนโยบายเชิงรุกและมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสมประเทศไทยจะสามารถปลดล็อกศักยภาพในการสร้างคุณค่าระยะยาว ท่ามกลางสภาพแวดล้อมโลกที่ผันผวนได้” ชาญชัยย้ำ
เมื่อข้ามไปดูทางฝั่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังคงได้รับความเชื่อมั่นสูง โดยมี 8 ประเทศ ติดอันดับ Top 25 ของโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น อันดับ 4, จีน รวมฮ่องกง อันดับ 6, ออสเตรเลีย อันดับ 10, เกาหลีใต้ อันดับ 14, สิงคโปร์ อันดับ 15, นิวซีแลนด์ อันดับ 16, ไต้หวัน อันดับ 23 และอินเดีย อันดับ 24
สำหรับการสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่านักลงทุนกว่า 82% ในภูมิภาคนี้มีแผนเพิ่มการลงทุนในช่วง 3 ปีข้างหน้าและอีก 50% มองบวกเศรษฐกิจมากขึ้นถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมา
แต่ยังกังวลเรื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นประกอบกับความท้าทายด้านกฎระเบียบและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ ที่ได้เพิ่มความจำเป็นเร่งด่วนในการวางแผนรับมือต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต และยานยนต์
สุดท้ายแล้วผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDICI) ประจำปี 2568 ซึ่งจัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก Kearney ได้สะท้อน มุมมองของนักลงทุนทั่วโลกในช่วงที่เศรษฐกิจและการเมืองโลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงสำคัญ
แม้จะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลังการเก็บข้อมูลช่วงต้นปี แต่ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่านักลงทุนยังคงให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของระบบกฎหมาย การบังคับใช้กฎระเบียบ ผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจ และศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศต่างๆ และมองว่าในปีนี้ตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง