หลังองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์และเครือข่ายภาคประชาชน รณรงค์ล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org กับประเด็น ‘ค้านส่งออกช้างไทยไปต่างแดน’ ล่าสุด กรมการค้าต่างประเทศชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นความเข้าใจผิด ยืนยันการส่งออก ‘ช้าง’ เป็นไปเพื่อการศึกษาวิจัยและเชื่อมสัมพันธไมตรีเฉพาะภาครัฐเท่านั้น ไม่มีการอนุญาตให้ส่งออกเพื่อการค้าแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ (10 พ.ค.) ที่ผ่านมา องค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ Watchdog Thailand ออกหนังสือเปิดผนึกผ่านเพจเฟซบุ๊ก Watchdog Thailand ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พ.ร.บ. ช้างไทย โดยระบุว่าเป็นข่าวเศร้าสำหรับคนรักช้างในประเทศไทย ที่กรมการค้าต่างประเทศจะอนุญาตให้มีการส่งช้างไทยไปต่างประเทศ พร้อมทั้งจัดแคมเปญรณรงค์ล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org ในหัวข้อ ‘ค้านส่งออกช้างไทยไปต่างแดน’ เพื่องดการส่งออกช้างไปยังต่างประเทศ และถึงตอนนี้มีผู้ลงชื่อสนับสนุนโครงการแล้วกว่า 3,255 คน
ทันทีที่เกิดประเด็นความไม่พอใจจากกลุ่มอนุรักษ์ อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นร้อนนี้ว่า กรณีดังกล่าวเป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการส่งออก ‘ช้าง’ ซึ่งยืนยันว่าการอนุญาตเป็นการให้ส่งออกเพื่อการศึกษาวิจัยและเชื่อมสัมพันธไมตรีเฉพาะภาครัฐเท่านั้น ไม่มีการอนุญาตให้ส่งออกเพื่อการค้า และการอนุญาตยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะเป็นผู้กำหนดต่อไป
ทั้งนี้ เงื่อนไขเบื้องต้นที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ฉบับปี 2562 ได้กำหนดให้ช้างที่ส่งออกได้จะต้องเป็นช้างที่จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณแล้วเท่านั้น และอนุญาตให้ส่งออกช้างได้ 3 กรณี ดังนี้
- การส่งช้างเพื่อการศึกษาวิจัย
- การส่งช้างเพื่อสัมพันธไมตรี
- การส่งส่วนต่างๆ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้มาจากช้างเพื่อศึกษาวิจัยทางวิชาการหรือเพื่อเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
“หมายความว่าการส่งออกช้างตามระเบียบฉบับนี้ เป็นการปลดล็อกเพื่อให้ส่งออกเพื่อการศึกษาวิจัย เพื่อสัมพันธไมตรีเท่านั้น ไม่สามารถส่งออกเพื่อการค้าได้ และผู้ที่จะขออนุญาตส่งออกได้ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐเท่านั้น คือกรมอุทยานแห่งชาติฯ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยจะต้องมีการจัดทำความตกลง ซึ่งจะมีรายละเอียดตามที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ กำหนด และช้างที่ส่งออกต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของหน่วยงานที่ขอส่งออกไม่น้อยกว่า 1 ปี” อดุลย์กล่าว
นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศยังได้สรุปความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อประกอบการยกร่างระเบียบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ แล้วด้วย เช่น หากต่างประเทศไม่สามารถดูแลช้างได้ ต้องสามารถขอช้างคืนได้ โดยจะต้องมีการติดตามเป็นระยะ และกรณีการวิจัย ต้องมีรายละเอียดโครงการวิจัยที่ชัดเจน ไม่เพื่อการแสดง และระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ซึ่งไทยควรมีส่วนร่วมในการวิจัยและต้องได้รับประโยชน์จากการวิจัยด้วย และหากไม่สามารถปฏิบัติได้ ไทยสามารถยับยั้งโครงการและขอช้างกลับคืนได้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: