หาก โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ และประกาศปรับเพิ่มอัตรา ภาษีนำเข้า จากจีน 60% จะทุบอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (Growth) ต่อปีของจีนลง ‘มากกว่าครึ่งหนึ่ง’ ตามการวิเคราะห์ใหม่จาก UBS Group
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเก็บอัตรา ภาษีนำเข้า สินค้าจีน 60% โดยตามรายงานวิเคราะห์จากทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ UBS ประเมินว่า หากมีการปรับขึ้นภาษีจริง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนจะลดลง 2.5% ในปีถัดไปหลังจากมาตรการดังกล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลปักกิ่งตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจประมาณ 5% สำหรับปี 2024 หลังจาก GDP ขยายตัว 5.2% ในปี 2566
โดยการคาดการณ์ดังกล่าวของ UBS ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า
- การค้าบางส่วนถูกเปลี่ยนเส้นทางผ่านประเทศที่ 3
- จีนไม่ได้ตอบโต้กลับ
- ประเทศอื่นๆ ไม่เข้าร่วมกับสหรัฐฯ
“เมื่อเวลาผ่านไป การส่งออกและการผลิตที่เพิ่มขึ้นในประเทศอื่นๆ จะสามารถช่วยลดผลกระทบจากมาตรการเพิ่มภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ได้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความเสี่ยงที่ประเทศอื่นๆ จะเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีนเช่นกัน” ทีมนักเศรษฐศาสตร์นำโดย Wang Tao กล่าว
การส่งออกของจีนเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่งในปีนี้ โดยการส่งออกสุทธิคิดเป็น 14% ของการขยายตัวของเศรษฐกิจจนถึงขณะนี้ และการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนที่แล้ว ยังทำให้เกิดกระแสโต้กลับในหลายประเทศคู่ค้า ทำให้หลายประเทศเตรียมเรียกเก็บภาษีหรือพิจารณาขั้นตอนต่างๆ เพื่อตอบโต้ลักษณะการค้าของจีนที่ไม่สมดุลมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี หากจีนมีการตอบโต้กลับ ผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรดังกล่าวอาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการตอบโต้จะผลักดันต้นทุนการนำเข้า
โดยในกรณีที่เกิดสงครามการค้าอีกครั้ง ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนเพียงอย่างเดียวก็สามารถส่งผลต่อผู้นำเข้าในสหรัฐฯ แม้ว่าอัตราภาษีจะลดลงในที่สุดก็ตาม
ทั้งนี้ UBS คาดการณ์ว่า GDP จีนจะขยายตัว 4.6% ในปี 2025 และ 4.2% ในปี 2026 โดยหากทรัมป์ดำเนินนโยบายภาษีดังกล่าว และจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการส่งออกใดๆ เพื่อตอบโต้ผลกระทบของภาษี GDP จีนก็จะลดลงอยู่ดี เหลือราว 3% ทั้ง 2 ปี
โดยรัฐบาลจีนอาจใช้มาตรการทางการคลังและผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางจีนอาจปล่อยให้สกุลเงินหยวนอ่อนค่าลง 5-10%
จับผลกระทบไทยและทิศทางการค้าหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ประเมินว่า หากไบเดนชนะการเลือกตั้ง การดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศจะเป็นไปในทิศทางเดิม แต่หากทรัมป์ชนะอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ 2 มิติ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ได้แก่
- ด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยจะลดการให้ความช่วยเหลือประเทศที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง โดยเฉพาะการยกเลิก/ลดการสนับสนุนยูเครน ซึ่งจะส่งผลให้สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนสิ้นสุดในไม่ช้า แต่ในขณะเดียวกัน การลดบทบาทของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนความมั่นคงในเวทีโลก โดยเฉพาะ NATO อาจทำให้ความขัดแย้งในพื้นที่อื่นๆ ปะทุได้ง่ายขึ้น ซึ่งวันนี้แทบปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- ด้านเศรษฐกิจ การใช้มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ จะเข้มข้นขึ้น รวมถึงสงครามการค้ากับจีนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยจะมีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทุกประเทศร้อยละ 10 และจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนร้อยละ 60 ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไบเดนได้ประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเฉพาะสินค้าที่ถูกพิจารณาว่ามีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลาร์เซลล์ เหล็กและอะลูมิเนียม รวมถึงแร่ธาตุสำคัญ
นอกจากนี้การกลับมาของทรัมป์ที่น่าจะมาพร้อมกับนโยบาย American First อาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และการค้าโลกจะมีความยากลำบากมากขึ้นด้วยการตั้งกำแพงภาษีสกัดสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างงานในประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆ ที่เคยได้รับประโยชน์จากการลงทุนของสหรัฐฯ และบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เผชิญการถอนการลงทุนออก โดยเฉพาะบริษัทในสาขาอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญที่ปัจจุบันยังตั้งอยู่ในจีน และบริษัทที่ได้ขยาย/ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาที่ภูมิภาคอาเซียน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ในช่วงก่อนหน้าอาจมีบางส่วนย้ายกลับสหรัฐฯ หรือประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ เพื่อลดความเสี่ยงทางการค้า
สนค. เผยแผนนโยบายที่ต้องเตรียมรับมือผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ
- ติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งและนโยบายทางเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายการต่างประเทศ ที่ผู้แทนจากทั้งสองพรรคประกาศในช่วงหาเสียงอย่างใกล้ชิด
- ดำเนินมาตรการปกป้องทางการค้าอย่างเหมาะสม
- ส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งด้านการลงทุน การผลิต และการค้า รวมถึงเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
- กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้า เพื่อรักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการแยกส่วนทางเศรษฐกิจ
สนค.ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการ
เพื่อรับมือกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นในบางสาขาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการ ดังนี้
- ปรับกลยุทธ์ทางการค้าและการส่งออก โดยการเปิดตลาดใหม่ การกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออก รวมถึงการปรับใช้อีคอมเมิร์ซในการส่งออกสินค้าไปยังผู้บริโภคทั่วโลกโดยตรง
- ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น กรณีมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 จะทำให้สหรัฐฯ มีแนวโน้มบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้นหรือนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นทดแทนสินค้าจีน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ประเทศที่สามรวมถึงไทย ในการขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ
- ลดความผันผวนทางการค้าและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยเพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบ/สินค้านำเข้า ไม่ให้พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายขยายการผลิตในประเทศหรือส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ ผ่านการส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้า และมองหาคู่ค้ารายใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงที่ห่วงโซ่อุปทานจะหยุดชะงัก
อ้างอิง: