×

นายกฯ ยืนยัน ตั้งใจลงพื้นที่ภาคใต้ดูแลน้ำท่วมตั้งแต่ช่วงแรก ด้านภูมิธรรมสั่งระดมทุกอุปกรณ์ช่วยเหลือ อนุทินเชื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย

โดย THE STANDARD TEAM
01.12.2024
  • LOADING...

วันนี้ (1 ธันวาคม) มีรายงานว่า ในช่วงสัปดาห์หน้า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเตรียมลงพื้นที่ประสบอุทกภัยที่จังหวัดสงขลาและปัตตานี เพื่อให้กำลังใจ ติดตามสถานการณ์น้ำ และเร่งรัดการเยียวยาฟื้นฟูพื้นที่

 

แพทองธารสั่งการไปยัง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อเร่งรัดให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะจุดที่ขาดแคลนเครื่องมือ และได้ประสานกระทรวงกลาโหมให้ทหารเข้าไปช่วยเหลือประชาชน โดยต้องการให้เร่งรัดขั้นตอนการเยียวยาให้เกิดความรวดเร็ว ไม่ให้ประชาชนต้องรอนาน

 

ทั้งนี้ มีรายงานอีกว่า นายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจที่จะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่เกิดน้ำท่วมในช่วงแรกแล้ว แต่ด้วยติดภารกิจการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่วางกำหนดการไว้ก่อนหน้าแล้ว และหากไปในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมหนัก กังวลว่าจะเป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ต้องมาคอยต้อนรับ โดยตลอดช่วงที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วม นายกรัฐมนตรีได้ติดตามและสั่งการ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมกองทัพลงไปช่วยประชาชนอย่างเต็มที่

 

โดยภูมิธรรมสั่งระดมความช่วยเหลือพี่น้องภาคใต้ โดยเฉพาะใน 8 จังหวัด คือ จังหวัดยะลา, ปัตตานี, สงขลา, นราธิวาส, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, สตูล และตรัง อย่างเต็มกำลัง พร้อมทั้งสั่งการให้เกาะติดสถานการณ์เป็นรายชั่วโมง ทั้งนี้ พบว่าชาวบ้านมีความต้องการเรือท้องแบน เจ็ตสกี รถยกสูง และอาหารแห้ง ซึ่งได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหม กรมเจ้าท่า จัดหารถยกสูงและเรือรูปแบบต่างๆ พร้อมเจ็ตสกี เข้าพื้นที่เพื่อเคลื่อนย้ายพี่น้องประชาชนไปยังจุดที่ปลอดภัย 

 

พร้อมสั่งให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำ รวมทั้งนำถุงยังชีพและอาหารแห้งเข้าแจกจ่ายแล้ว รวมถึงให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคงดการระบายน้ำของเขื่อนบางลางตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ท้ายน้ำ ในส่วนของถนนหนทางได้ให้กระทรวงคมนาคมสำรวจความเสียหายและแก้ไขให้สามารถสัญจรได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งตรวจสอบเส้นทางรถไฟที่อาจได้รับผลกระทบจากดินถล่ม ขณะที่ด้านสาธารณสุขได้สั่งป้องกันโรงพยาบาลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยและกลุ่มเปราะบางในการเดินทางไปโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

 

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากการพยากรณ์อากาศมีความชัดเจนว่าปริมาณน้ำฝนน่าจะเริ่มลดลงตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จึงเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะเริ่มคลี่คลาย เพราะอุทกภัยภาคใต้นั้นแตกต่างจากภาคเหนือ เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนมากเพียงอย่างเดียว หากผลักดันน้ำลงสู่ทะเลได้ทุกอย่างก็จะดีขึ้น 

 

จากการติดตามความคืบหน้าจากผู้ว่าราชการจังหวัดพบว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ขณะที่การประเมินความเสียหายทั้งบ้านเรือนประชาชนและระบบสาธารณูปโภคต้องรอให้น้ำลดลงก่อนถึงจะเข้าไปตรวจสอบได้ รวมทั้งเรื่องสุขภาพของประชาชน เพราะช่วงที่วิกฤตที่สุดก็คือหลังน้ำลด

 

ส่วนกรณีที่มีอาจารย์มหาวิทยาลัยถูกไฟดูดขณะเกิดเหตุน้ำท่วมนั้น อนุทินกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการกำชับกับการไฟฟ้าให้ดูแลพื้นที่ในส่วนที่น้ำเข้าท่วม ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระมัดระวังการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวเรือน และทางจังหวัดได้จัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งมีการอพยพประชาชนเข้ามาพักพิง

 

อนุทินกล่าวต่อว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลชาวบ้านอย่างมีมาตรฐาน ทั้งเรื่องอาหารการกิน ที่นอน ตลอดจนสุขอนามัยที่ต้องสะอาดและได้มาตรฐาน ไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อ พร้อมทั้งมีการอนุมัติเงินใช้ทดลองฉุกเฉินเพิ่มอีก 50 ล้านบาทในจังหวัดเสี่ยงภัย รวมเป็นจังหวัดละ 70 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสม เชื่อว่าสามารถดูแลประชาชนได้

 

ส่วนเงินเยียวยานั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างประสานกับจังหวัดที่ประสบภัย ซึ่งส่วนใหญ่ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยทั้งจังหวัดอยู่แล้ว จะทำให้สามารถดำเนินการได้เร็วมากยิ่งขึ้น เมื่อการสำรวจความเสียหาย หากเข้าเกณฑ์ก็จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วจะมีการโอนเงินเข้าสู่บัญชีผู้ประสบภัยโดยตรง แบบเดียวกับการเยียวยาอุทกภัยที่ภาคเหนือ พยายามจะเร่งเสนองบประมาณเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการใช้งบกลางของนายกรัฐมนตรี จึงต้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาข้อมูลก่อน

 

อนุทินยังระบุถึงหลักเกณฑ์เยียวยาด้วยว่า เป็นไปตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้มาตั้งแต่อุทกภัยในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการว่า ความเดือดร้อนขนาดนี้ไม่ควรต้องประเมินความเสียหาย ควรใช้เกณฑ์สูงสุดครัวเรือนละ 9,000 บาท เนื่องจากน้ำนั้นมากกว่าปกติถึง 2 เท่า และไม่ได้มาตามฤดูกาล ซึ่งน่าจะต้องใช้หลักเกณฑ์นี้ไปจนถึงสิ้นปี ก่อนที่ปีหน้าจะต้องสู้กับปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 รวมทั้งปัญหาภัยแล้งอีก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising