ภาคการประมงของไทย ถือเป็นภาคส่วนที่ถูกเฝ้าจับตามองเป็นพิเศษจากสหประชาชาติ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ เนื่องจากในพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมหาศาลนี้ ประสบปัญหาการลักลอบบังคับใช้แรงงานทาสอย่างหนัก เพื่อตอบสนองให้ทันต่อปริมาณความต้องการบริโภคของตลาดโลก
Aljazeera เผยว่า นายชัยรัตน์ ราชปักษี อดีตลูกเรือวัย 40 ปี จากจังหวัดเพชรบุรี มุ่งหน้าสู่จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อหางานทำในภาคการประมงเมื่อปี 2013 และไม่เคยได้กลับขึ้นฝั่งอีกเลยเป็นเวลา 2 ปีนับจากนั้น เขาถูกบังคับให้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ได้ค่าจ้างเป็นการตอบแทน ถ้าหากมีการทักท้วงถามเรื่องค่าจ้าง ก็ถูกข่มขู่ว่าจะโยนทิ้งออกนอกเรือให้ตายกลางทะเล
นายชัยรัตน์เป็นหนึ่งในชาวประมงไทยที่ถูกกักขังและบังคับใช้แรงงานอย่างหนักบนเกาะเบนจินาของอินโดนีเซีย ที่ขึ้นชื่อเรื่องการค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงานทาส มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง มีศพคนงานจำนวนมากถูกฝังไว้บนเกาะแห่งนี้ โดยนายชัยรัตน์ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่และองค์กรด้านพิทักษ์สิทธิของชาวประมงไทยให้เดินทางกลับประเทศได้ในที่สุด
ปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก โดยเฉพาะทูน่ากระป๋อง ในปีที่ผ่านมา ไทยมีรายได้จากการส่งออกอาหารทะเลสูงถึง 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.8 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็น 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยมีแรงงานอยู่ในภาคการประมงของไทยกว่า 600,000 คน และมากกว่าครึ่งเป็นชาวกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งบ่อยครั้งมักจะตกเป็นเหยื่อของการลักลอบค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงานทาส
นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา รัฐบาลพยายามประกาศใช้กฎหมายที่ระบุให้เจ้าของเรือประมงจะต้องอำนวยความสะดวกในเรื่องช่องทางการติดต่อสื่อสาร เพื่อให้ลูกเรือทุกคนสามารถติดต่อกับครอบครัวของพวกเขาได้ตลอดช่วงระยะเวลาการเดินเรือ อีกทั้งยังไม่อนุญาตให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานเป็นชาวประมง และจะต้องมีระบบธนาคาร เพื่อระบุและยืนยันการจ่ายค่าแรงให้กับลูกเรือทุกคน
นายชัยรัตน์ต้องการที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ชาวประมงที่ยังคงตกเป็นแรงงานทาสอยู่ในขณะนี้ โดยเขาระบุว่า การทำสงครามด้านการบริโภคในอุตสาหกรรมการประมงนี้อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก “พวกเราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนหยุดการบริโภคอาหารทะเล เพราะนั่นจะทำให้กระทบต่อภาคการประมงด้วย ทางออกอาจเป็นการให้สิทธิความคุ้มครองแก่ชาวประมงทุกคน ให้พวกเขามีสิทธิที่จะแสดงพลังได้”
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: