วานนี้ (28 มีนาคม) สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะ ร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงานกับ อะห์หมัด บิน สุไลมาน อัลรอยิฮี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบีย
สุชาติกล่าวว่า สืบเนื่องจากการหารือระหว่างกระทรวงแรงงานและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบีย ในระหว่างการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25-26 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งซาอุดีอาระเบียมีความต้องการแรงงานไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย กระทรวงแรงงานได้ขานรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างสองประเทศมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำความตกลงด้านแรงงานระหว่างสองประเทศ การเตรียมความพร้อมในการพัฒนากำลังแรงงานให้ตรงกับความต้องการของนายจ้างและสถานประกอบการของซาอุดีอาระเบีย และการดำเนินการรับสมัครคนงานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย จนนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงด้านแรงงาน
สุชาติกล่าวต่อไปว่าในวันนี้ตนและคณะจึงได้เดินทางมาลงนามในความตกลงดังกล่าวจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแรก คือความตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และอีกฉบับเป็นความตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานในบ้านระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
สุชาติกล่าวด้วยว่า สาระสำคัญของความตกลงด้านแรงงานทั้งสองฉบับนี้เป็นการกำหนดกระบวนการจัดหางานตามกฎหมายของคู่ภาคี ตั้งแต่การจัดหาจนถึงการส่งกลับประเทศ ให้ความสำคัญลำดับแรกกับการจัดหาแรงงาน โดยการจัดการหรือกำกับโดยรัฐบาลของประเทศคู่ภาคี ทั้งนี้ หากต้องจัดหาแรงงานโดยหน่วยงานจัดส่งที่ได้รับการจดทะเบียนและมีจริยธรรม มีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด ห้ามการหักค่าใช้จ่ายจากการตัดเงินเดือนของแรงงาน และมีการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการคุ้มครองแรงงานที่เคร่งครัด รวมทั้งทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันเร่งรัดการยุติปัญหาอันเกิดจากการปฏิบัติตามและการบังคับใช้บทบัญญัติแห่งข้อตกลงทั้งสองฉบับนี้
“การลงนามความตกลงด้านแรงงานในครั้งนี้ นับเป็นก้าวประวัติศาสตร์สำคัญที่จะทำให้การจัดหาแรงงานไทยไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยคำนึงถึงพันธกรณีระหว่างประเทศด้านแรงงานของทั้งสองประเทศ และความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ปกป้องคุ้มครองสิทธิของนายจ้างและแรงงาน รวมถึงการบังคับใช้กฎระเบียบ สัญญาจ้างงานระหว่างกันที่เป็นธรรม แรงงานได้รับค่าจ้าง สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย รวมทั้งจะทำให้ภาคแรงงานของไทยสามารถเดินทางกลับซาอุดีอาระเบียได้อีกครั้ง ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการทำงานให้แรงงานไทย รวมถึงช่วยพัฒนาทักษะแรงงานไทย ต่อยอดไปยังความร่วมมือด้านอื่นๆ และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย” สุชาติกล่าวในท้ายสุด