วันนี้ (26 มิถุนายน) ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม อาคาร 4 เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี บรรยากาศการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศในรอบแรก ซึ่งผู้สมัคร สว. แต่ละกลุ่มจะลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน
ทั้งนี้พบว่า มีคนดังที่ผ่านการเลือกขั้นต้นและผ่านเข้ารอบไปยังการเลือกแบบไขว้
เช่น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง, บุญรักษ์ ยอดเพชร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4, อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก, เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท และ ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ
ส่วนบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ตกรอบ เช่น นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักแสดงละครเวที นักจิตบำบัด, หทัยรัตน์ พหลทัพ อดีตบรรณาธิการบริหาร เดอะ อีสานเรคคอร์ด, ฐานุพงศ์ ศักดิ์ธนาวัฒน์ หรือ กล้วย เชิญยิ้ม, จุมพล ทองตัน หรือ โกไข่ และ ดิเรก ถึงฝั่ง อดีตสมาชิกวุฒิสภา
หทัยรัตน์แฉขบวนการล็อกโหวต เสนอเงินหลักแสนแลกเข้าก๊วน
หทัยรัตน์ พหลทัพ อดีตบรรณาธิการบริหาร เดอะ อีสานเรคคอร์ด ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ระบบนี้เอื้อต่อการฮั้วคะแนน ไม่น่าใช้ได้กับกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ที่ควรจะเป็น จากที่สัมผัสด้วยตนเองตั้งแต่ขั้นตอนระดับอำเภอ และระดับจังหวัด มีความพยายามล็อกอยู่ตลอดเวลา มีการเสนอสินจ้างให้ ตนเองก็ได้รับข้อเสนอ 1-3 แสนบาท ให้เข้าไปอยู่ในก๊วนการเมือง เป็นอดีต สส. ที่เอ่ยชื่อไปก็มีแต่คนรู้จัก มีการเจรจาผ่านโทรศัพท์ก่อนการเลือก 2 วัน โดยขอให้เข้าไปอยู่ในก๊วน เพราะขาดกลุ่มสื่อมวลชน นอกจากนี้หากลงให้ 10 หมายเลข ตามที่บรีฟข้อมูลไว้ จะได้ค่าตอบแทนการเขียนครั้งละ 50,000 บาท รวม 10 หมายเลข 5 แสนบาท
ส่วนตัวได้ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าเป็นสื่อมวลชนและมีรายได้ แต่เจ้าตัวยังพยายามตื๊อ นอกจากนี้ยังมีคนรู้จักที่เจอในลักษณะคล้ายกันอีก โดยเฉพาะจังหวัดหนองบัวลำภู ที่นำรถไปรับถึงหน้าบ้านและนอนโรงแรมเดียวกัน เหตุการณ์ทั้งหมดทำให้คนที่เป็นนักการเมืองสามารถล็อกโหวตได้ เป็นการเมืองแบบเก่า
“ระบบเอื้อต่อพวกพ้อง ใครมีพวกพ้องเยอะก็สามารถจัดตั้งได้มากกว่า ไม่ได้บอกว่าตนเองมีความสามารถ แต่คนที่ไปต่อได้อย่าง อาจารย์นันทนา, คุณชิบ จิตนิยม, คุณประทีป คงสิบ ถือเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ไม่แน่ใจว่ารอบไขว้จะสามารถไปเจอผู้ที่โหวตให้เป็น สว. หรือไม่ ขอฝากความหวังไว้กับ 3 คนนี้”
กล้วย เชิญยิ้ม ยอมรับเสียดาย
ขณะที่ ฐานุพงศ์ ศักดิ์ธนาวัฒน์ หรือ กล้วย เชิญยิ้ม ผู้สมัคร สว. กลุ่ม 16 กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ให้สัมภาษณ์ภายหลังทราบผลการนับคะแนนเลือก สว. ระดับประเทศ ในรอบแรก ปรากฏว่าตัวเองตกรอบว่า ถึงจะตกรอบ แต่ก็ได้เพื่อนใหม่ๆ ผิดหวังที่ตัวแทนของกลุ่มฯ รวมถึงศิลปินได้น้อยมาก ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่าคะแนนบางกลุ่มโดด ส่วนเรื่องที่มีการโทรศัพท์หากันเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ตนมองว่ามีอยู่แล้ว เพราะตำแหน่ง สว. มีผู้ช่วยหลายคน
ส่วนการเสนอผลประโยชน์มาให้บ้างหรือไม่นั้น ฐานุพงศ์กล่าวว่า ก็มีแต่เรื่องเล่ามา เราจะไปยืนยันไม่ได้ว่ามี ส่วนตัวไม่ได้คุยอะไรกับใครมากมาย แต่มีโทรมาหาเหมือนกัน บอกให้ไปรับขนม ส่วนกังวลว่า สว. จะมีความเป็นอิสระหรือไม่นั้น ตนระบุว่า แน่นอน เพราะไม่ใช่การเลือกตั้งแบบธรรมชาติ หากมีโอกาสเข้ามาเล่นการเมืองอีกก็จะลอง แต่ก็ต้องดูปัญหาสุขภาพ เพราะลงสมัครรอบนี้ใช้ร่างกายไปเยอะ
นิวัฒน์ธำรงไม่ขอวิจารณ์ เชื่อไม่มีการล็อบบี้
นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นประสบการณ์ในการเข้ามาใช้สิทธิ และผ่านเข้ามาคัดเลือก สว. ตนเองรู้สึกเสียดาย ส่วนกระบวนการเลือก สว. ในครั้งนี้ ไม่ขอวิจารณ์มาก เชื่อว่ามีหลายคนวิจารณ์อยู่แล้ว ซึ่งการเลือก สว. ในครั้งนี้ก็ให้สิทธิในการลงคะแนนได้ทั้งตัวเองและผู้อื่น
ส่วนประเด็นกระแสข่าวเรื่องของการล็อบบี้ รวมถึงการซื้อตัวเพื่อให้โหวตลงคะแนนให้กับคนอื่นนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะมีการล็อบบี้ เพราะตัวเองก็ยังเอาไม่รอด แต่หากจะล็อบบี้จริง ก็ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายสอบสวนดำเนินการต่อไป
จุมพลชี้ แปลกและเก๋ แต่คุ้มกับค่าสมัคร
จุมพล ทองตัน หรือโกไข่ กล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้สหอาชีพเข้ามาทำงานเพื่อชาติ ถึงแม้ว่าวันนี้จะไม่ได้ทำงานในฐานะ สว. แต่จะกลับไปทำหน้าที่เหมือนเดิม ขอบคุณการออกแบบการเลือก สว. ในครั้งนี้ โดยมองว่าเป็นการเลือกที่แปลกและเก๋ ทำให้ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ทั้งความเป็นมนุษย์ สังคม ทำให้ตนเองเจอปราชญ์ชาวบ้าน คุ้มกับค่าสมัคร 2,500 บาท ส่วนตัวได้แค่ 12 คะแนน พลาดไป 1 คะแนน หากเป็นคะแนนบริสุทธิ์ก็ไม่น่าจะเหวี่ยงไปขนาดนั้น โดยเห็นว่าคะแนนเหวี่ยงไปมาก
ดุจดาวยอมรับ ‘เสียดายมาก’
ดุจดาว วัฒนปกรณ์ กล่าวว่า ตนเองรู้สึกเหนื่อยล้า ทั้งความรู้สึก และลุ้นๆ แต่เมื่อไม่ได้ไปต่อก็แอบเสียดาย โดยระบบการเลือกข้างในเอื้อให้เราต้องไปหาคนเยอะๆ ให้ได้ถึงจะมั่นใจ เป็นระบบที่ทำให้เราต้องรู้จักกับเบื้องหลังของคนเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน เพื่อประเมินและให้คะแนน ซึ่งก็ยากเหมือนกันที่จะรู้จักทุกคน แล้วจะนำคะแนนให้ใครบ้าง ส่วนการให้ทรัพย์สินเพื่อให้เลือกนั้น ไม่เคยมีใครเสนอเงินเลย แต่ก็เคยได้ยินมาเหมือนกัน ซึ่งมีคนโทรมาหาตนเองน้อยมาก
“เรารู้สึกเสียดายมาก เพราะอยากผลักดันประชาธิปไตยให้ได้ไกลที่สุด ถ้าเราทำได้ก็อยากทำ แต่มันก็ได้แค่นี้จริงๆ” ดุจดาวกล่าว
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา