×

สรุป! ทำไมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัว 3% สูงกว่าคาด ‘สภาพัฒน์’ คาด GDP ทั้งปี 2567 โต 2.6%

18.11.2024
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 ขยายตัว 3% สูงกว่าคาด เหตุน้ำท่วมกระทบเศรษฐกิจน้อยกว่าคาด รวมทั้งการลงทุนและภาคส่งออกขยายตัวดี สภาพัฒน์ประเมิน GDP ทั้งปี 2567 โต 2.6% (รวมมาตรการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว)

 

วันนี้ (18 พฤศจิกายน) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 3/67 ขยายตัว 3%YoY เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 2/67 ทำให้ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3% และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/67 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า 1.2%QoQ

 

โดยการขยายตัวของ GDP ไทยในไตรมาส 3/67 ยังสูงกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญและตลาดประเมินไว้ที่ราว 2.6% ซึ่งดนุชาระบุว่าปัจจัยหลักมาจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น 5.2% จากปีก่อน (โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐที่ขยายตัวถึง 25.9%) ขณะเดียวกันการผลิตในภาคต่างๆ ก็ขยายตัวได้อยู่ ปริมาณการส่งออกขยายตัวได้ดีมากถึง 8.3% และผลจากฐาน (Base Effect)

 

เศรษฐกิจไทย

 

น้ำท่วมปี 2567 กระทบเศรษฐกิจไตรมาส 3/67 น้อยกว่าคาด

 

สำหรับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมต่อ GDP ไตรมาส 3/67 สภาพัฒน์คาดว่าจะอยู่ที่ 0.3% ของ GDP หรือคิดเป็นมูลค่าราว 6 หมื่นล้านบาท

 

ดนุชากล่าวว่า “น้ำท่วมรอบนี้ไม่ได้กระทบพื้นที่เกษตรและภาคอุตสาหกรรมมากเท่ากับปี 2554 ที่นิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบหนัก แต่รอบนี้ผลกระทบอยู่ในภาคครัวเรือนและการค้าชายแดนเป็นหลัก นอกจากนี้ เงินจากภาครัฐที่ใช้จ่ายไปเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบก็สะท้อนกลับมาใน GDP อีกทีในแง่ของภาคก่อสร้าง การลงทุน และการซ่อมแซม จึงไม่ได้เห็นผลกระทบมากเท่าที่คาด”

 

พร้อมระบุอีกว่าผลกระทบจริงๆ จากเหตุน้ำท่วมอยู่ที่ภาครัฐมากกว่าที่ต้องจัดสรรงบประมาณมาจัดการเหตุเหล่านี้ไปเรื่อยๆ หากไม่มีการบริหารหรือป้องกันให้ดีขึ้น โดยภาระดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าราว 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

คาดแจกเงินหมื่นกลุ่มเปราะบางเห็นผลไตรมาส 4/67

 

สำหรับผลของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ (หรือที่หลายคนเรียกว่าเงินหมื่นเฟสแรก) ดนุชาประเมินว่าโครงการดังกล่าวน่าจะมีผลในไตรมาส 4/67 เนื่องจากเริ่มโอนช่วงท้ายเดือนกันยายน และจะต้องสำรวจเพื่อประเมินผลลัพธ์ของโครงการดังกล่าวอีกครั้ง ตัวอย่างเช่น ใช้จ่ายในสินค้าประเภทใดและส่วนใดบ้าง

 

“โดยปัจจุบันกระทรวงการคลัง สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ สศช. กำลังร่วมมือกันสำรวจโครงการดังกล่าว เนื่องจากการแจกเงินครั้งนี้เป็นการแจกเงินสดจึงต้องอาศัยการสำรวจในกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก เพื่อทำให้แบบสำรวจสามารถสะท้อน (Represent) ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายใช้จ่ายไปกับอะไรและส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง” ดนุชากล่าว

 

เปิดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567

 

สภาพัฒน์คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 2.6% (รวมมาตรการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว) ปรับตัวดีขึ้นจาก 1.9% ในปีก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 2.5% ของ GDP

 

เปิดปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปี 2568

 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 สภาพัฒน์คาดว่าจะขยายตัว 2.3-3.3% (ค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ 2.8%) ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.3-1.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6% ของ GDP โดยมีปัจจัยดังนี้

 

  1. การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนจากรายจ่ายภาครัฐ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีประจำปีงบประมาณ 2568
  2. การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนและการขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน
  3. การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวไทย
  4. การขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า สอดคล้องกับทิศทางการค้าโลกและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

 

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงปี 2568

 

  1. ความเสี่ยงจากแนวโน้มการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกท่ามกลางความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาชุดใหม่ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสำคัญ และแนวโน้มการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน
  2. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงภายใต้มาตรฐานสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับตัวลดลง ส่งผลให้สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้นและมูลค่าสินเชื่อชะลอลง
  3. ความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคการเกษตรทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญๆ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผลผลิตภายใต้สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้นจะสร้างแรงกดดันให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง ท่ามกลางสถานการณ์ผลผลิตข้าวจากผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น

 

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดนุชาระบุว่าต้องติดตามรายละเอียดของนโยบายต่างๆ อีกครั้ง ตัวอย่างเช่น กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บ อย่างไรก็ตาม ดนุชายังคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้และช่วงต้นปี 2568 การส่งออกไทยน่าจะยังขยายตัวไปได้

 

ภาพ: Rafa Elias / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X