ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยกำลังส่งสัญญาณว่า เตรียมกู้เงินเพิ่มและเตรียมปรับเพดานหนี้สาธารณะหลายต่อหลายครั้ง โดยล่าสุด พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมออกมาตรการมาดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังสหรัฐฯ ออกนโยบายภาษีศุลกากรใหม่
พร้อมทั้งย้ำว่า “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เบื้องต้นจึงคาดว่า จะต้องใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท”
โดยพิชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้เงินก้อนนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่องในประเทศเป็นหลัก ทั้งการกระตุ้นการบริโภค การลงทุนในประเทศ และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนด้วย
สำหรับที่มาของแหล่งเงิน พิชัยกล่าวว่า ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา เพราะมีหลายทาง โดยขณะนี้ก็ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า รัฐบาลอาจเลือกใช้วิธีออก พ.ร.ก.กู้เงิน
ก่อนหน้านี้ พิชัยยังเคยกล่าวในรายการ Executive Espresso ของ The Secret Sauce ว่าเล็งจะขยายเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 70% เนื่องจากมองว่า หากไทยต้องการแก้ปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยและปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม
ส่อง ‘หนี้สาธารณะไทย’ อยู่เท่าไรในปัจจุบัน
ตามข้อมูลล่าสุด จากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลังแสดงให้เห็นว่า ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ระดับ 64.21% ต่อ GDP
โดยในแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ฉบับทบทวน ประมาณการว่า หนี้สาธารณะไทยในปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ 64.65% ต่อ GDP และ 64.93%
ขณะที่ในรายงานติดตามการคลัง (Fiscal Monitor) ฉบับล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า หนี้รัฐบาลไทยจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าไปแตะระดับ 64.5% ต่อ GDP ในปี 2568 และสูงขึ้นต่อเนื่องไปทุกปี จนไปแตะระดับ 68% ต่อ GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้า นับว่าไม่ไกลจากเพดานหนี้สาธารณะไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 70% ต่อ GDP
ทั้งนี้ ส่วนความแตกต่างของคำนิยาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ และ IMF ได้แก่ IMF ไม่ได้รวมหนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่รับภาระเข้าไป ขณะที่ตามคำนิยาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ก็ไม่ได้รวมหนี้รัฐบาลท้องถิ่นเข้าไป
โดยประมาณการหนี้รัฐบาลไทยของ IMF ในปีนี้ ยังนับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหนี้รัฐบาลทั่วโลกในปีนี้ที่ 95% ต่อ GDP และค่าเฉลี่ยตลาดเกิดใหม่และรายได้ปานกลางเอเชียที่ 74.8% ต่อ GDP
ก่อนหน้านี้ในรายงานติดตามเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลก (World Bank) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์คาดการณ์ว่า ระดับหนี้สาธารณะของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 64.8% ในปีงบประมาณ 2568 และมีแนวโน้มเข้าใกล้เพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของ GDP ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า
พร้อมมองว่า นโยบายการคลังของประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสามประการ ได้แก่ การตอบสนองต่อความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ การฟื้นฟูการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน
IMF เตือนรัฐบาลไทยต้องรอบคอบ-รัดเข็มขัดรับความเสี่ยง
อีรา ดาบลา นอร์ริส (Era Dabla-Norris) รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการการคลังของ IMF แสดงความคิดเห็นต่อหนี้สาธารณะของไทยว่า เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศอาเซียน หนี้รัฐบาลไทยซึ่งอยู่ 64.5% ต่อ GDP นี้นับว่า สูงกว่าหลายประเทศ
ดังนั้น นอร์ริสจึงแนะนำว่า ไทยควรใช้นโยบายทางการคลังควรรอบคอบ และควรรัดเข็มขัดทางกลางคลังอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นก็ควรใช้มาตรการแบบเฉพาะเจาะจง (Targeted) และชั่วคราวเท่านั้น ท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมากมาย รวมถึงนโยบายภาษีของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ในรายงานในรายงานติดตามการคลัง (Fiscal Monitor) ยังแนะว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ผู้กำหนดนโยบายจะต้องจัดการกับการแลกเปลี่ยนที่ซับซ้อนระหว่างหนี้ การเติบโตที่ช้าลง และแรงกดดันด้านการใช้จ่ายรูปแบบใหม่
“ผู้กำหนดนโยบายการคลังอาจต้องเผชิญกับการแลกเปลี่ยนที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างสมดุลระหว่างการลดหนี้ การสร้างพื้นที่การคลังกลับขึ้นมาใหม่ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน และการตอบสนองความต้องการค่าใช้จ่ายที่เร่งด่วนท่ามกลางแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง และต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น”
รวมไปถึงการหาสมดุลที่เหมาะสมระหว่างรัดเข็มขัดทางการคลัง และการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งปรับให้เหมาะกับสถานการณ์เฉพาะของแต่ละประเทศ ทรัพยากรที่มีอยู่ และสภาพเศรษฐกิจโดยรวม
สำหรับประเทศที่มีความยืดหยุ่นทางการคลังอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้รอบคอบ ภายในแผนระยะกลางที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน การสนับสนุนทางการคลังสำหรับธุรกิจและผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้ารุนแรง โดยการสนับสนุนดังกล่าวควรอยู่ในรูปแบบชั่วคราวและแบบเฉพาะเจาะจง พร้อมตอกย้ำถึงความโปร่งใสและการจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ นโยบายการคลังควบคู่ไปกับนโยบายโครงสร้างอื่นๆ ควรเน้นที่การเพิ่มศักยภาพการเติบโต ซึ่งจะช่วยบรรเทาความท้าทายระหว่างการเติบโตและความยั่งยืนของหนี้ได้
“จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายและความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป แนวโน้มทางการคลังจึงแย่ลง เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลควรเน้นที่การสร้างความไว้วางใจของประชาชน การรับรองการจัดเก็บภาษีที่ยุติธรรม และการจัดการทรัพยากรอย่างชาญฉลาด การทำเช่นนี้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถส่งเสริมความยืดหยุ่นและส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนได้” วิเตอร์ แกสปาร์ (Vitor Gaspar) ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการการคลังของ IMF
ภาพ: Phakorn Kasikij / Shutterstock, ศวิตา พูลเสถียร / THE STANDARD