ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เผยแผนบริหารหนี้สาธารณะ โดยคาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2566 น่าจะลดลงเล็กน้อยเหลือ 60.43% ต่อ GDP โดยมีปัจจัยหลักมาจาก GDP ที่น่าจะขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมมอง สบน. กำลังเผชิญความเสี่ยงทางการเงิน 3 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และการปรับโครงสร้างหนี้
วันนี้ (12 ตุลาคม) แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคมปี 2565 หนี้สาธารณะของไทยคงค้างอยู่ที่ 10.31 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 60.7% ต่อ GDP และคาดการณ์ว่า ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP น่าจะลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 60.56% เนื่องจากหลายหน่วยงานไม่ได้กู้เงินเต็มจำนวนตามแผน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
โดยสิ้นปีงบประมาณ 2566 หนี้สาธารณะคาดว่าจะลดลงอีกเหลือ 60.43% ต่อ GDP ภายใต้คาดการณ์ที่ว่า GDP ปี 2566 น่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 18.55 ล้านล้านบาท จาก 17.2 ล้านล้านบาทในปี 2565
นอกจากนี้ สบน. ยังประเมินด้วยว่า หากในปีงบประมาณ 2566 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้เต็มเพดานที่ 1.2 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะต่อ GDP จะไปอยู่ที่ 61.2%
เปิด ‘แผนก่อหนี้’ ใหม่ในปีงบ 2566
ผู้อำนวยการ สบน. ยังเปิดเผยแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ด้วย ซึ่งผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหน่วยงานต่างๆ ได้เริ่มกู้เงินไปแล้ว ประกอบด้วย
- แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,052,785.47 ล้านบาท
- แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท
- แผนการชำระหนี้วงเงิน 360,179.68 ล้านบาท
สำหรับตัวอย่างโครงการลงทุนจากการก่อหนี้ใหม่ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและม่วง แผนเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นใต้ดิน โครงการขยายและปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
ความท้าทายด้านการบริหารหนี้สาธารณะของไทยยุคหลังโควิด
แพตริเซียเปิดเผยว่า สบน. กำลังเผชิญความเสี่ยงทางการเงิน 3 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และการปรับโครงสร้างหนี้ แต่มองว่าความท้าทายสำคัญมีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่กำลังสูงขึ้น และการของบชำระหนี้จากสำนักงบประมาณ
“ท่ามกลางดอกเบี้ยกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ สบน. ทำไปแล้วคือพยายามเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Float) เป็นอัตราคงที่ (Fixed) กว่า 80% ของหนี้ในอดีตแล้ว ขณะที่ในอนาคตถ้ามีการกู้เพิ่มขึ้นดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้น รวมกับดอกเบี้ยลอยตัว (Float) ของเก่า ต้นทุนก็จะแพงขึ้นเรื่อยๆ” แพตริเซียกล่าว
อย่างไรก็ตาม แพตริเซียมองว่า ความท้าทายสูงที่สุด คือการของบชำระหนี้จากสำนักงบประมาณ
“จากหนี้ที่กำลังเพิ่มขึ้น สบน. ต้องคุยกับสำนักงบประมาณว่า ในอนาคต ดอกเบี้ยที่ตามมาจะมีการจัดสรรอย่างไร รวมทั้งเงินต้นด้วย ที่ผ่านมาแม้ว่าสำนักงบฯ จะจัดสรรเงินต้นให้ 3% ซึ่งอยู่ในกรอบที่คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังประกาศไว้ที่ 2.5-4% แต่ 3% โดยจำนวนนี้เป็นการชำระหนี้ของรัฐบาล 2.1% อีก 0.9% เป็นการชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจ เราจึงต้องหารือและสื่อสารกับสำนักงบประมาณให้มากขึ้น ว่าเราต้องการเห็นการจัดสรรงบชำระหนี้ให้ภาครัฐมากขึ้น เพื่อลดสถานะหนี้คงค้างของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้หนี้ในระยะปานกลางและยาวแข็งแกร่ง และไม่มีภาระมากเกินไป” แพตริเซียกล่าว
เน้น ‘บริหารจัดการหนี้’ ที่หลากหลาย
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการหนี้สาธารณะในปีงบประมาณหน้า ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า จะเน้นการสื่อสารกับตลาด และกระจายการกู้เงินด้วยเครื่องมือที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน เพื่อไม่ทำให้ต้นทุนในประเทศกระโดดสูงเกินไป ซึ่งจะเป็นภาระของนักลงทุนและคนกู้ยืมเงินทั้งประเทศ เนื่องจากหากอัตราผลตอบแทนกระโดดขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมของเอกชนก็จะสูงขึ้นด้วย พร้อมๆ กับการเชื่อมฐานข้อมูลบริหารหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ และการเชื่อมระบบฐานข้อมูลหน้ีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Data Synchronization) ด้วย
“เราสื่อสารกับตลาดตลอดเวลาว่า ต้องการเครื่องมือการลงทุนแบบไหน เพื่อจะได้ออกเครื่องมือที่ตอบโจทย์ และทำงานกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ ตลาดการเงินให้อยู่ในระดับเหมาะสม ส่งผลให้ 2 ปีที่ผ่านมา เราสามารถระดมทุนได้ครบแผนตามความต้องการการใช้เงินของรัฐบาล และป้องกันไม่ให้การกู้เงินเพิ่มของรัฐบาลแย่งชิงเม็ดเงินจากภาคเอกชนมากเกินไป” แพตริเซียกล่าว
ประเมิน ‘ดอกเบี้ยจ่าย’ ปีงบประมาณหน้ายาก
ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวอีกว่า สำหรับการประมาณการต้นทุนจากดอกเบี้ยในปีหน้า ‘ประเมินได้ยาก’ เพราะต้องดูเครื่องมือที่จะใช้ในอนาคต และตอนนี้ยังเร็วไปที่จะประมาณการได้ แต่ก็ยอมรับว่าดอกเบี้ยน่าจะแพงขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้
ทั้งนี้ การใช้เครื่องมือที่หลากหลายทำให้ช่วยดึงต้นทุนการกู้ หรือดอกเบี้ย ลดลงจาก 3.28% ในปีงบประมาณ 2562 เป็น 2.34% ของหนี้รัฐบาล ในเดือนสิงหาคม 2565 นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งชิงสภาพคล่องหรือทรัพยากรทางการเงิน (Crowding Out) กับ ธปท. และภาคเอกชน สบน. ได้กู้เงินจากแหล่งเงินกู้ทางการต่างประเทศที่เป็นเงินกู้พิเศษเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโควิด