×

ธนาคารโลกเผย แม้ ‘คนจน’ ของไทยจะน้อยลง แต่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง โดยเฉพาะใน ‘ชนบท’ พบอัตราความยากจนในภาคใต้และอีสานสูงเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ย

25.10.2022
  • LOADING...

รายงานการวิเคราะห์รายได้ในชนบท-โอกาสและความท้าทายของเกษตรกร (Rural Income Diagnostic-Challenges and Opportunities for Rural Farmers) ของธนาคารโลก พบว่า ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการลดความยากจนจาก 58% ในปี 2533 เป็น 6.8% ในปี 2563 โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อย่างไรก็ตาม 79% ของคนยากจนยังคงอยู่ในพื้นที่ชนบท และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 

 

รายงานวิเคราะห์นี้ชี้ให้เห็นว่า การลดความยากจนของประเทศไทยชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา โดยความยากจนเพิ่มขึ้นในปี 2559, 2561 และ 2563 สะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รายได้จากภาคการเกษตรและภาคธุรกิจที่ซบเซา 

 

และวิกฤตโควิดในปี 2563 อัตราความยากจนในพื้นที่ชนบทสูงกว่าในเขตเมืองมากกว่า 3% และจำนวนคนจนในชนบทมีจำนวนมากกว่าคนจนในเมืองเกือบ 2.3 ล้านคน การกระจายความยากจนยังมีความแตกต่างในแต่ละภูมิภาค โดยอัตราความยากจนในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงเป็น 2 เท่าของอัตราความยากจนเฉลี่ยของประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


“ประเทศไทยมีศักยภาพในการสนับสนุนครัวเรือนในชนบทให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยั่งยืน” ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) หลังการระบาดของโควิด มาตรการเชิงนโยบายที่เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การสนับสนุนการเพาะปลูกพืชผลที่มีความหลากหลายและมีมูลค่าสูง การปรับปรุงการเข้าถึงตลาดผ่านการเชื่อมต่อในพื้นที่ชนบทที่ดีขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ จะสามารถแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ที่คนยากจนในชนบทต้องเผชิญได้”

 

จากการศึกษาพบว่า การระบาดใหญ่ของโรคโควิดได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อยู่ในเขตเมืองอย่างรุนแรง เนื่องมาจากมาตรการที่จำกัดการเคลื่อนย้าย การปิดกิจการ และการเลิกจ้างงาน อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในเมืองจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

ในขณะที่ผลกระทบของวิกฤตที่มีต่อเศรษฐกิจในชนบทจะยังคงมีผลอยู่อย่างยาวนานขึ้น ผลการสำรวจทางโทรศัพท์เพื่อติดตามสถานการณ์โรคโควิดของธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า 70% ของครัวเรือนในชนบทมีรายได้ลดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563

 

การวิเคราะห์ยังพบว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีอัตราความไม่เท่าเทียมกันของรายได้สูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ด้วยค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ที่ 43.3% โดยครัวเรือนในชนบทมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 68% ของครัวเรือนในเขตเมือง หลายครัวเรือนในชนบทยังคงขาดการศึกษา มีผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงจำนวนมาก และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก

 

นาเดีย เบลฮัจ ฮัสซีน เบลกิธ นักเศรษฐศาสตร์ความยากจนของธนาคารโลก กล่าวว่า มาตรการด้านนโยบายที่มีความเชื่อมโยงหลากหลายมิติเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะ จะมีความสำคัญต่อการสนับสนุนครัวเรือนในชนบท เกษตรกรส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อยและขาดทักษะทางดิจิทัล อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรสูงอายุ

 

“ดังนั้นการสร้างทักษะให้เกษตรกรที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่อีกด้วย”

 

ภาพ: Pipat Yapathanasap / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X