ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว หลักใหญ่ใจความที่เป็นเรื่องถกเถียงและเป็นคำถามก็คือการแก้ไขมาตรา 2 ในร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าว โดยกำหนดให้ ‘มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป’
สรุปง่ายๆ ก็คือกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อไร ให้นับไปอีก 3 เดือนก็เป็นอันว่า ณ วันนั้นกฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการ ปี่กลองเลือกตั้งเป็นอันเริ่มบรรเลงได้
แต่ที่แน่นอนกว่านั้นคือโรดแมปเลือกตั้งที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยประกาศกับผู้นำสหรัฐอเมริกาว่าจะมีเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นอันถูกเลื่อนไปในทันที
อย่างไรก็ตาม เหมือนจะจบแต่ก็ยังไม่จบดีนัก เพราะ สนช. จะต้องส่งร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ถ้าเห็นไม่ตรงกัน โอกาสที่ร่างดังกล่าวจะถูกโหวตคว่ำก็มี และทำให้ต้องกลับไปเริ่มต้นกันใหม่ ซึ่งจะยาวยืดไปยิ่งกว่าเดิม
จะได้เลือกตั้งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ
เปิดไปดูรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนเงื่อนไขไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 267 ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีภาระหน้าที่ต้องร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ได้แก่
- พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.
- พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
- พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
- พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
ขณะที่มาตรา 268 ระบุว่า เมื่อกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับถูกประกาศใช้ ต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใน 150 วัน
อธิบายง่ายๆ ก็คือ การจะเริ่มเลือกตั้งได้ต้องจัดทำกฎหมาย 4 ฉบับดังกล่าวให้เสร็จ และต้องรอให้กฎหมายทั้ง 4 ฉบับมีผลใช้บังคับตามกฎหมายก่อน
ปัจจุบันมี พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศใช้เป็นฉบับแรก ตามมาด้วย พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้แล้วอย่างเป็นทางการเป็นฉบับที่ 2
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เพิ่งจะผ่านความเห็นชอบจาก สนช. เมื่อไม่นานนี้ ซึ่งยังไม่มีผลใช้บังคับ
นั่นแปลว่าลำพังการประกาศจากพลเอก ประยุทธ์ ที่ขยับไปขยับมาก็ยังมีเงื่อนปมของรัฐธรรมนูญที่วางข้อกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการเลือกตั้งเอาไว้อีก ไม่ต้องนับว่าในทางการเมือง สนช. นั้นถูกแต่งตั้งโดย คสช. ที่มีหัวหน้าเป็นคนคนเดียวกัน
กฎหมายทั้งสองฉบับที่รอการประกาศใช้บังคับ เฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส. จะต้องรอถึง 3 เดือนจึงจะมีผล แต่ทว่าในส่วนของ ส.ว. ให้มีผลใช้บังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที
อย่างที่อธิบายไปก่อนหน้านี้แล้วว่า กฎหมายทั้งสองฉบับยังต้องถูกส่งกลับไปยังองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าเห็นไม่ตรงกับ สนช. โอกาสที่จะถูกโหวตให้คว่ำก็ยังมีอีก
กรณี สนช. คว่ำร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายเพื่อยืดวันเลือกตั้งนั้น สนช. ต้องมีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะเกิดสุญญากาศทางการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ระบุว่าหากกฎหมายลูกไม่ผ่าน สนช. แล้วจะทำอย่างไรต่อไป
กางปฏิทินดูไทม์ไลน์ จะได้เลือกตั้งเมื่อไรแน่?
นับไปอีกไม่กี่เดือน คสช. ก็จะมีอายุยาวนานถึง 4 ปี หลังจากทำการรัฐประหารเข้ามาปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
การประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีจุดเริ่มต้นจากโรดแมปที่ผ่านมาถูกเลื่อนไปมาตลอด ส่วนใหญ่เป็นการขยับลากออกไป โดยผ่านน้ำเสียง ‘คำสัญญา’ ของพลเอก ประยุทธ์ ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งฝ่ายบริหารและในบทบาทหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นต้นทางให้กำเนิดแม่น้ำ 5 สาย
THE STANDARD เคยเขียนรายงานไว้ก่อนหน้านี้ว่า ตลอด 4 ปีของพลเอก ประยุทธ์ เคยพูดถึงการ ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ มาแล้วกี่ครั้ง (คลิกอ่าน)
หากยึดเอาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ สนช. มีมติให้ผ่านแล้ว โดยขยายการบังคับใช้ออกไป 90 วัน หรือ 3 เดือน ถามว่าหน้าตา ‘รัฐบาลใหม่’ จะได้เห็นกันเมื่อไร ลองมากางปฏิทินดูไทม์ไลน์กันหน่อยว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อใด (เป็นเพียงการคาดการณ์ตามเงื่อนไขและกรอบเวลาที่เป็นไปได้)
มกราคม 2561
- สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
- สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.
กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2561
- สนช. ส่งร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่
เมษายน – มิถุนายน 2561
- ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้หลังพ้น 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (พฤษภาคมหรือมิถุนายน 2561)
- ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที (เมษายน 2561)
พฤษภาคม 2561
- ยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการเลือกตั้งโดยเสรี
กรกฎาคม 2561
- จัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เริ่มจาก อบจ. และ กทม. ก่อน
กันยายน 2561 กรณีไม่มีปัญหา เดินหน้าต่อ
- ครบ 90 วัน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป
กันยายน 2561
- ได้ ส.ว. สรรหาครบ 250 คน (ต้องได้ก่อนเลือกตั้ง ส.ส.)
ตุลาคม 2561 – กุมภาพันธ์ 2562
- เกิดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใน 150 วัน ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
มีนาคม – เมษายน 2562
- กกต. ประกาศรับรองผลเลือกตั้งให้ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 95%
พฤษภาคม 2562
- เปิดประชุมสภาครั้งแรกเพื่อเลือกประธานรัฐสภาและนายกรัฐมนตรี
มิถุนายน 2562
- รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ
ตามไทม์ไลน์ที่ดูจากปฏิทินทางการเมืองแล้ว หากไม่มีปัญหาให้สะดุด คนไทยน่าจะได้เลือกตั้งใหญ่เป็นการทั่วไปพร้อมกันทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ก่อนหน้านั้นอาจจะได้ชิมลางการเลือกตั้งท้องถิ่น และเห็นโฉมหน้าของ ส.ว. สรรหาแล้ว
และถ้าคำนวณและคาดการณ์จากเหตุผลและกรอบเวลาทางการเมืองตามกฎหมาย หากมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะได้เห็นรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อบริหารประเทศแทน คสช. ในเดือนมิถุนายน 2562
ต่อความกังวลใจที่ว่า มีโอกาสอีกหรือไม่ที่ในอนาคตการเลือกตั้งอาจจะถูกเลื่อนยาวออกไปอีก ไม่ใช่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ประชาชนคนไทยคงต้องจับตาดูท่าทีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้งสองฉบับนับแต่นี้ต่อไปชนิดที่ห้ามกะพริบตาเด็ดขาด…
อ้างอิง: