×

คลี่ยุทธศาสตร์ ‘ไปรษณีย์ไทย’ การเติบโตขององค์กร 141 ปี ที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้สังคม [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
17.10.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 min read
  • ‘ไปรษณีย์ไทย’ กำลังเดินหน้าสู่แผน ‘การเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายไปรษณีย์’ โดยมีจุดแข็งที่ใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้อย่าง ‘เครือข่ายที่แข็งแกร่ง’ มาเป็นกลยุทธ์ใหม่
  • ในวันที่ ‘เกมราคา’ กลายเป็นบริบทใหม่ในการแข่งขัน ‘ไปรษณีย์ไทย’ พี่ใหญ่ของธุรกิจสื่อสารและขนส่งที่อยู่คู่คนไทยมาถึง 141 ปี จะปรับตัวและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี กฎกติกาในเกมการตลาดที่เปลี่ยนไป ผู้เล่นหน้าใหม่ ไปจนถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ได้อย่างไร?
  • ‘Information Logistics’ ขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่ธุรกิจดิจิทัล หนึ่งในกลยุทธ์สร้างการเติบโตด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม จะมีเครื่องมือใดบ้างที่จะทำให้เป้าหมายสัมฤทธิ์ผล

วิสัยทัศน์และกลยุทธ์การเคลื่อนทัพสู้ศึกในสงครามโลจิสติกส์ของ ‘ไปรษณีย์ไทย’ องค์กรอายุ 141 ปี ที่พิชิตชัยชนะมาแล้วทุกวิกฤต จะปรับตัวและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไรท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี กฎกติกาในเกมการตลาดที่เปลี่ยนไป ผู้เล่นหน้าใหม่ ไปจนถึงพฤติกรรมผู้บริโภค

 

 

หากมองที่ผลประกอบการในครึ่งปีแรก 2567 ไปรษณีย์ไทยทำรายได้อยู่ที่ 10,602.30 ล้านบาท ด้วยผลกำไร 136.60 ล้านบาท ยังครองส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจส่งพัสดุเป็นอันดับ 1 ของไทย ทว่าตัวเลขกำไรอาจเป็นเพียงหนึ่งในตัวชี้วัดการเติบโตเท่านั้น โดยเฉพาะในวันที่ ‘เกมราคา’ กลายเป็นบริบทใหม่ในการแข่งขัน

 

แต่แทนที่ไปรษณีย์ไทยจะร่วมแข่งในเกมราคา กลับเลือกดึงจุดแข็งที่ใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้อย่าง ‘เครือข่ายที่แข็งแกร่ง’ มาปั้นกลยุทธ์ใหม่ภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งสร้าง ‘การเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายไปรษณีย์’

 

 

ปรับองค์กรผ่านแนวคิด ‘Sustainable POST เราทำได้ ไปรษณีย์ยั่งยืน’

 

องค์กรอายุ 141 ปี จะปรับเปลี่ยนทั้งองคาพยพให้ได้แบบยั่งยืนต้องเริ่มจากการปรับหัวใจสำคัญที่สุดขององค์กรนั่นคือ ‘บุคลากร’ ให้มี ‘วัฒนธรรมองค์กร’ เดียวกันด้วยแนวคิด ‘Sustainable POST เราทำได้ ไปรษณีย์ยั่งยืน’ ที่เชื่อว่าองค์กรจะยั่งยืนได้ต้องเกิดจากองค์ประกอบ 4 แกนด้วยกัน ได้แก่

P (Professional): ใส่ใจงานอย่างมืออาชีพ

O (Over Deliver): ส่งมอบบริการเหนือความคาดหวัง

S (Speed): สนองตอบความต้องการอย่างรวดเร็ว

T (Trendy): สมัยใหม่ทันยุค

 

แนวคิดดังกล่าวยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กรเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการดำเนินธุรกิจ 4 เรื่อง ได้แก่

  • Networking Beyond Logistic บูรณาการระบบงานไปรษณีย์ที่หลากหลายให้เกิดเป็นเครือข่ายการให้บริการที่ครบวงจร
  • Ecosystem of Connection ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายไปรษณีย์ในการเชื่อมโยงและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการดำเนินธุรกิจของประเทศ
  • Deliver Experience through Innovation ยกระดับเครือข่ายไปรษณีย์ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ
  • Sustainable ESG Practice ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการเติบโตอย่างมีธรรมาภิบาลและยั่งยืน ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

ก้าวสู่การเป็น ‘Information Logistics’ ขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่ธุรกิจดิจิทัล

 

หากคลี่พันธกิจข้างต้นประกอบกับกลยุทธ์ที่ไปรษณีย์ไทยกำลังมุ่งเดินหน้าเพื่อสร้างการเติบโตด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม หนึ่งในนั้นคือการประกาศปรับตัวสู่การเป็น ‘Information Logistics’ เพื่อรองรับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้ทันต่อการแข่งขันที่รุนแรงในยุคดิจิทัล ไปรษณีย์ไทยมีการวางแผนสร้างความแข็งแกร่งทั้งด้าน Physical Networking และ Digital Networking เพื่อบาลานซ์และสนับสนุนการเติบโตของทุกภาคส่วน เพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ผ่านการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการต่างๆ รวมถึงการพัฒนาระบบการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า CRM

 

แล้วเครื่องมือใดบ้างที่จะทำให้เป้าหมายข้างต้นสัมฤทธิ์ผล?

 

เริ่มจากการเปิดตัวบริการ Prompt Post ระบบจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร ตอบโจทย์ความต้องการยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนพฤติกรรมจากจดหมายและเอกสารแบบเดิมๆ สู่รูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรองรับตั้งแต่การรับ-ส่งเอกสารออนไลน์ด้วย Digital Postbox ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงาน และหน่วยงานกับประชาชน ดำเนินการอยู่ในระบบปิด ปลอดภัยจากสแปม ภายใต้แนวคิด One ID One Postbox ที่มีการยืนยันตัวตนของหน่วยงานและผู้ใช้งาน ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลเอกสารต่างๆ ส่งมาจากหน่วยงานหรือบุคคลนั้นจริง รวมทั้งการจัดเก็บเอกสารบนคลาวด์ (Cloud Storage), สร้างเส้นทางการเดินเอกสาร (Document Workflow), เซ็นเอกสารออนไลน์ (Digital Signature), ประทับตราสำหรับนิติบุคคล (e-Seal) และประทับรับรองเวลา (e-Timestamp) ยืนยันว่าเป็นเอกสารตัวจริง ใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายได้ ตลอดจนสามารถชำระค่าบริการตามใบแจ้งหนี้ที่ถูกส่งมาได้อีกด้วย เรียกได้ว่าจัดการภาระด้านเอกสารครบ จบ ในที่เดียว

 

 

อีกหนึ่งบริการที่น่าสนใจก็คือ D/ID (ดีไอดี) ซึ่งเป็น Digital Post ID ส่วนบุคคลที่จะช่วยปกปิดข้อมูลแสดงผลจ่าหน้าในรูปแบบ QR Code ซึ่งจะระบุได้ถึงพิกัดตำแหน่งด้วยการปักหมุด บอกพิกัดแนวดิ่ง ทำให้สามารถระบุที่อยู่สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูงได้อย่างแม่นยำ ลดข้อผิดพลาดในการส่ง หรือในกรณีที่ผู้ใช้งานแก้ไขข้อมูลในระบบ D/ID ข้อมูลที่อยู่ ซึ่งเดิมไว้ใช้ติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ไปยังหน่วยงานปลายทางโดยอัตโนมัติ

 

ข้อได้เปรียบขององค์กรที่มี Big Data มหาศาลจึงนำข้อมูลต่างๆ มาบริหารจัดการและพัฒนาบริการ ‘Postman Cloud’ ต่อยอดจุดแข็งของบุรุษไปรษณีย์หรือพี่ไปรกว่า 25,000 คน ที่มีความเชี่ยวชาญ รู้ลึก รู้จริง เข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ มาให้บริการในรูปแบบ Postman as a Service เช่น ตรวจเช็กเก็บข้อมูลและสำรวจทรัพย์ บริการรับ-ส่งสิ่งของแบบ Point to Point ตามความต้องการของลูกค้า/พันธมิตร Matching บริการเชื่อมโยง Demand และ Supply

 

เติบโตอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ด้วยหลัก ESG+E

 

หากเลือกจะเดินบนเส้นทางแห่งความยั่งยืนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับกลยุทธ์การพัฒนาระบบงานต่างๆ ด้วยหลัก ESG+E ผ่านแผนงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญยิ่งของไปรษณีย์ไทยนับจากนี้ โดยเป้าหมายด้านความยั่งยืนปี 2567-2571 มีดังนี้

 

  • Environment ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และในไตรมาส 4 ของปีนี้จะมีการนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในระบบงานไปรษณีย์เพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 85% ภายในปี 2573 ครบทั้งหมด 100% ภายในปี 2583 และยังอยู่ระหว่างศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้กับระบบขนส่งเพิ่มเติม

 

  • Social ด้านสังคม สร้างชุมชนที่ยั่งยืนด้วยโครงการ ‘ไปรษณีย์เชื่อมสุข’ ที่มุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพ และเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังชุมชนที่สำคัญเพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ รวมถึงขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กลุ่มเกษตร กลุ่ม SMEs และกลุ่มเปราะบางทางสังคมผ่านแพลตฟอร์ม ThailandPostMart โดยที่ผ่านมาช่วยสร้างรายได้จากการขายสินค้าผ่านช่องทางไปรษณีย์ไทยทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์มากกว่า 600 ล้านบาทต่อปี และตลอดระยะเวลา 3 ปี ได้สนับสนุนเกษตรกรไทยในการขนส่งผลไม้และพืชผลทางการเกษตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องรวมกว่า 100,000 ตัน ครึ่งปีแรกของปี 2567 มีปริมาณการฝากส่งผลไม้ไทยยอดนิยมผ่านบริการ EMS ส่งด่วนทั่วไทยกว่า 18 ล้านกิโลกรัม

 

  • Governance ด้านการกำกับดูแลกิจการ ให้ความสำคัญกับการรักษา ปกป้อง และใช้ข้อมูลอย่างมีธรรมาภิบาล เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอน พร้อมมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร และพัฒนาธุรกิจเพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตในสังคมยุคดิจิทัล

 

  • Economy ด้านเศรษฐกิจ สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจด้วยการกระจายรายได้สู่สังคมและชุมชน สนับสนุนคู่ค้าโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกว้างและขนาดย่อมให้เติบโตไปกับห่วงโซ่ไปรษณีย์ไทย โดยในปี 2566 สามารถกระจายรายได้สะสมไปสู่วิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2563 ได้ถึง12 ล้านบาท และยังส่งเสริมให้บุรุษไปรษณีย์มีรายได้เสริมจากรูปแบบธุรกิจใหม่มากกว่า 2.2 ล้านบาทในปี 2566

 

 

นอกจากแผนงานที่เล่าไป ไปรษณีย์ไทยยังวางกรอบกลยุทธ์อื่นๆ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งที่ปัจจุบัน ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหันมาควบคุมการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ด้วยตัวเอง หรือผูกขาดกับผู้ให้บริการขนส่งเพียงรายใดรายหนึ่งจนทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน

 

เช่น การขยายกรอบธุรกิจให้ก้าวออกจาก Red Ocean ให้พร้อมต่อการแข่งขันในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ที่เปลี่ยนไป หรือการหันมาจับกลุ่มตลาด Niche Market มากขึ้น ขยายตลาดขนส่งสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจง ดีไซน์บริการเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มสินค้าขนาดใหญ่ สินค้าควบคุมอุณหภูมิ ผลไม้และผลผลิตทางการเกษตร

 

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการสร้างเครือข่ายโดยการเข้าไปเป็นผู้ขนส่งให้กับแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น แพลตฟอร์ม TikTok, Shopee และ Lazada โดยบริการที่มีการเติบโตโดดเด่นสุดคือบริการส่งด่วน EMS ในประเทศ ที่มีปริมาณสิ่งของฝากส่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 13% จากแรงบวกของการค้าออนไลน์ ค้าปลีก และความน่าเชื่อถือของบริการที่รวดเร็ว ปลอดภัย

 

 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนธุรกิจโลจิสติกส์ เช่น การนำระบบ IT เข้ามาช่วยบริหารจัดการข้อมูล เพื่อใช้กำหนดกลยุทธ์การตลาดให้ตอบโจทย์ลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง บริหารระวางการขนส่งและลดต้นทุนในภาพรวม เพิ่มความแม่นยำและจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ไปรษณีย์ไทยยังมุ่งเน้นบริการระหว่างประเทศ รองรับกลุ่มลูกค้าหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบริการ EMS World ส่งด่วนทั่วโลก, Courier Lite ส่งรสชาติไทยไปไกลทั่วโลก, ePacket ส่งประหยัดระหว่างประเทศ, Courier Post ส่งด่วนพรีเมียม, บริการขนส่งสินค้าทางราง (Rail Netwok), บริการขนส่งสินค้า(Cargo Mode) และโครงการขนส่งสินค้าแบบ Virtual Address โดยใช้ที่อยู่เสมือนจริงรับสินค้าจากไทยและต่างประเทศ

 

เมื่อคลี่กลยุทธ์ เครื่องมือ และแนวทางในการดำเนินธุรกิจของไปรษณีย์ไทยต่อจากนี้ คงลบภาพจำองค์กรเก่าแก่ที่เคยถูกมองว่า ‘ล้าสมัย’ ได้หมดสิ้น เพราะอนาคตของไปรษณีย์ไทยกับพลังเครือข่ายจากทุกภาคส่วนที่เน้นการทำงานเชิงรุก ปรับตัวก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงได้อย่างสง่างาม จะมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยและความเป็นอยู่ของคนไทย รวมถึงสังคมไทยอย่างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X