วันนี้ (15 มกราคม) ประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วย (รมช.) ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าต้นเหตุที่ราคาเนื้อสุกรมีราคาแพงขึ้นนั้น เกิดจากการเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จึงขอชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี 2564 มีลูกสุกรเข้าคอกเลี้ยงเฉลี่ยราว 350,000 ตัว ซึ่งปัจจุบันปริมาณลูกสุกรเข้าเลี้ยงก็ยังคงมีตัวเลขใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังมีจำนวนสุกรที่เข้าโรงเชือดที่มีปริมาณคงที่มาโดยตลอด จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดราคาเนื้อสุกรจึงมีราคาแพงขึ้น โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญอาจมาจากการกักตุนสินค้าในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว จึงได้ประสานงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ประภัตรกล่าวว่า กรณีการพบการระบาดของโรค ASF นั้น กรมปศุสัตว์จะจัดตั้งวอร์รูมขึ้นทั่วประเทศ เพื่อสแกนพื้นที่เสี่ยงในการเกิดโรคระบาด ASF พร้อมเข้าช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกร โดยเฉพาะรายเล็กและรายย่อย ในการยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้จะมีอาสาปศุสัตว์เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
“ขอยืนยันว่าหากตรวจพบการเกิดโรค ASF กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ จะเร่งเข้าควบคุมโรคโดยทันที ภายใต้มาตรการต่างๆ อย่างรัดกุม และจำกัดวงเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรน้อยที่สุด”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รู้จักโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ‘ASF’ ภัยพิบัติในฟาร์มหมู-ต้นเหตุหมูแพง
- หมูแพงแก้ไม่ถูกจุด เมื่อนักวิชาการส่งหนังสือยืนยันพบอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แต่กรมปศุสัตว์บอกไม่เคยเห็น
- ส่องบทเรียนจากจีน และ EU กับสถานการณ์ ‘หมูแพง-หมูถูก’ และการรับมือโรค ‘อหิวาต์แอฟริกาในหมู’
- ชมคลิป: ‘หมูหมดฟาร์ม คนเลี้ยงหมดตัว’ เปิดใจเจ้าของฟาร์มชาวนครปฐม ผู้เผชิญโรคระบาดในหมู
- ชมคลิป: หมูแพง รัฐปิดข่าวโรค ASF เสียหายทะลุแสนล้านบาท
- เปิดงบกลาง 574 ล้านบาท รัฐเยียวยาเกษตรกรเลี้ยงหมู หลังเจอโรคระบาด ต้องทำลายทิ้ง