Thailand Policy Lab ห้องปฏิบัติการนโยบาย ก่อตั้งโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เปิดเวทีระดับนานาชาติ Policy Innovation Exchange 2 (PIX 2) ถกเส้นทางพลิกโฉมอนาคต 5 ประเทศ อย่าง เอสโตเนีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อังกฤษ และประเทศไทย
โดยมีนักวางแผนนโยบาย ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ ภาคเอกชน และภาควิชาการมากกว่า 1,000 คนร่วมถอดบทเรียน และสะท้อนกลับมายังประเทศไทยก่อนที่จะช้าไปกว่านี้
นอกจากนี้ คานนี วิกนาราจา ผู้อำนวยการภูมิภาคโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และ วิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังได้เน้นย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพลิกโฉมกระบวนการนโยบายสาธารณะที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเท่าทันอนาคต
-
เอสโตเนียกับเส้นทางพลิกโฉมสู่มหาอำนาจด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government)
เอสโตเนีย อดีตส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตที่มีจำนวนประชากรเพียงแค่ 1.3 ล้านคน พลิกโฉมประเทศขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในระยะเวลาเพียง 10 ปี จนในปัจจุบันบริการสาธารณะของเอสโตเนียได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นระบบออนไลน์แล้วถึง 99%
Kristina Reinsalu ผู้จัดการโปรแกรมด้านประชาธิปไตยอิเล็กทรอนิกส์ชี้ว่า ก่อนที่จะสร้างสังคมดิจิทัล (Digital Society) เอสโตเนียสร้างพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) ให้เกิดขึ้นก่อน โดยให้ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะอายุเท่าไร ได้เข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียม
เอสโตเนียยังนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาส่งเสริมด้านประชาธิปไตยของประเทศ โดยการเป็นพลเมืองดิจิทัล (E-Citizen) ของเอสโตเนียประกอบไปด้วย 4 ปัจจัย 1. E-Information คือประชาชนเข้าถึงข้อมูล 2. E-Consultation คือประชาชนสามารถปรึกษากับหน่วยงานภาครัฐ 3. E-Participation คือประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจของรัฐบาล (แลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ ริเริ่มไอเดีย ลงนามเอกสาร ติดตามและประเมินการทำงานของรัฐบาล) 4. E-Empowerment คือประชาชนถูกเสริมพลังการเป็นพลเมืองผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่เอสโตเนียกำลังสร้างสังคมดิจิทัล ในปี 2013 เอสโตเนียได้จัดทำระบบ Crowdsourcing เพื่อระดมความเห็นของประชาชนว่า จะเปลี่ยนระบบดิจิทัลให้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยให้ประชาชนสามารถร่วมเสนอกฎหมายไปที่สภาเอสโตเนีย หรือเสนอเป็นกระทู้เพื่อแสดงความคิดเห็น
สังคมดิจิทัลของเอสโตเนียจึงไม่เพียงเป็นบทเรียนต่อประเทศในด้านการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงการทำงานของภาครัฐ แต่ยังเป็นกรณีศึกษาในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาส่งเสริมสังคมประชาธิปไตยอีกด้วย
-
สิงคโปร์กับการใช้นวัตกรรมพลิกโฉมการทำงานของภาครัฐแบบก้าวกระโดด
ปัจจุบันสิงคโปร์กำลังเผชิญกับวิกฤตมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุคล้ายกับประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักต่อความท้าทายที่ซับซ้อนและรวดเร็วนี้ จึงได้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการนวัตกรรม (Innovation Lab) เพื่อนำไอเดีย วิธีการ และเครื่องมือใหม่ๆ มาปรับปรุงการทำงานของภาครัฐ
โดยปัจจุบันรัฐบาลสิงคโปร์มุ่งเน้นการให้บริการด้านสาธารณสุขแบบดิจิทัล ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีระบบการรักษาตัวที่บ้าน (Next Generation Polyclinic: NGP) วิสัยทัศน์ของสิงคโปร์คือ การให้บริการสาธารณะแบบรวมศูนย์ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งได้รับความเชื่อมั่นอย่างมากจากประชาชน
ทีโอ ลินยู หัวหน้าหน่วยออกแบบห้องปฏิบัติการนวัตกรรม (Innovation Lab) ชี้ว่า การใช้นวัตกรรมพลิกโฉมการทำงานภาครัฐของสิงคโปร์แบ่งเป็น 3 ระดับ 1. การเปลี่ยนแปลงภาครัฐทั้งหมด (Whole-of-Government) คือการพลิกโฉมทั้งรัฐบาลสู่ดิจิทัล 2. การเปลี่ยนแปลงระดับหน่วยงาน (Agency) คือการเปลี่ยนแปลงการทำงานของหน่วยงานด้วยนวัตกรรม 3. การเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล (Officer) คือการเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของคนทำงาน และเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการให้มองประชาชนเป็นศูนย์กลาง
โดยสิงคโปร์เน้น 3 คุณสมบัติของการเป็นนวัตกรคือ 1. เข้าใจ (Empathize) 2. ร่วมมือ (Collaborate) 3. ทดลอง (Experiment)
-
เกาหลีใต้กับการพลิกโฉมกรุงโซลสู่โลกอนาคตที่โปร่งใสและยั่งยืน
เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงรอบทิศ และเคยอยู่ในภาวะสงคราม แต่สามารถผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วในช่วงระยะเวลาเพียงไม่นาน โดยเฉพาะกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ที่เป็นหนึ่งในเมืองต้นแบบ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและขนส่งสาธารณะ
อาจุงลี ผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการประจำศูนย์นโยบายโซลของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP Seoul Policy Center) ระบุว่า เป้าหมายของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลคือ การทำให้ภาครัฐโปร่งใสตรวจสอบได้ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ปัจจุบันเกาหลีใต้มีประชากรราว 92% ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต มี WiFi ฟรี โดยเฉพาะย่านธุรกิจ โดยปลายปีนี้จะมี WiFi ฟรีกว่า 23,700 แห่งทั่วประเทศ โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สาธารณรัฐเกาหลีมีนโยบายสนับสนุนให้ผู้สูงอายุใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นด้วยการให้การศึกษา และจัดหาอุปกรณ์ 300,000 ชุดให้ผู้สูงอายุและผู้พิการ และช่วยให้ผู้สูงอายุ 9,900 คนได้รับการช่วยเหลือ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้วยการใช้เทคโนโลยี AI
กรณีศึกษาที่สำเร็จมากของกรุงโซลคือ กรุงโซลใช้เทคโนโลยี AI เก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชนที่ใช้ขนส่งสาธารณะในตอนกลางคืนที่มักเสียค่าใช้จ่ายสูง เพราะเป็นช่วงเวลาที่ระบบขนส่งสาธารณะหยุดให้บริการ ซึ่งกรุงโซลได้ใช้ AI บันทึกข้อมูลกว่า 3 พันล้านรายการภายในระยะเวลา 1 เดือน เพื่อนำมาวิเคราะห์และเพิ่มระบบขนส่งสาธารณะที่สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้งาน และเพื่อเก็บค่าโดยสารในอัตราที่เหมาะสม
นอกจากนี้การพลิกโฉมกรุงโซลยังเน้นเรื่องการสร้างความโปร่งใสและให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบการทุจริต เช่น โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบความคืบหน้าโครงการ และการจ่ายงบประมาณให้บริษัทก่อสร้างในงวดต่างๆ ได้ตลอดเวลาผ่านเว็บไซต์
-
อังกฤษกับการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการออกแบบนโยบาย
อังกฤษเป็นชาติที่มีห้องปฏิบัติการนโยบาย (Policy Lab) เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายในภาครัฐ ซึ่งทีมนวัตกรของห้องปฏิบัติการนโยบาย ประกอบไปด้วยผู้คนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนที่เรียนจบด้านนโยบายหรือรัฐศาสตร์ แต่ประกอบไปด้วย ศิลปิน นักออกแบบ นักชาติพันธุ์วิทยา และนักสื่อสาร เพื่อค้นหาวิธีการออกแบบนโยบายที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และสร้างสรรค์แนวทางร่วมกัน
วาเนสซา ลิฟท์ตัน นักชาติพันธุ์วิทยา และหัวหน้าโครงการ Policy Lab สหราชอาณาจักร และ ดร.พีน่า ซาดาร์ หัวหน้าโครงการนโยบาย Policy Lab สหราชอาณาจักร นำเสนอว่า กรอบการทำงานของ Policy Lab UK นั้นเป็นโมเดลแบบ Double Diamond ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ 1. ค้นหาปัญหา (Discover) 2 .ระบุปัญหา (Define) 2. พัฒนาแนวคิด (Develop) 4. ส่งมอบแนวคิดเหล่านั้น (Deliver)
แนวการทำงานของ UK Policy Lab คือ ต้องมีหลักฐานและตรวจสอบได้ และการติดตามประเมินผลนโยบายที่ออกแบบไป การระดมแนวคิดที่แตกต่างหลากหลาย และสร้างสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย เป็นการใช้กระบวนการอำนวยความสะดวกแทนที่จะชี้นำ และเป็นการทำงานกับประชาชนที่มุ่งสนับสนุนให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของนโยบาย ที่สร้างขึ้นและนำมาปรับใช้ในบริบทของพวกเขา
-
ภารกิจพลิกโฉมประเทศไทยสู่อนาคต
สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านแผนงานและนโยบาย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ว่า ประสบการณ์และบทเรียนจากต่างประเทศยิ่งย้ำชัดว่า ประเทศไทยนั้นตามหลังประเทศอื่นเป็นอย่างน้อย 10 ปี โดยใน 5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยถูกซ้ำเติมจากหลายปัญหา ทั้งจากโควิดและวิกฤตทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันพยุงทิศทางประเทศไทยให้ดีขึ้น และต้องพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
โดยสภาพัฒน์ตั้งเป้าหมายเปลี่ยนประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วดังนี้
- ปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม
- การสร้างโอกาสลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และพัฒนาสมรรถนะ
- การสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม ด้วยการส่งเสริมการดำเนินงาน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อย่างชาญฉลาด เพิ่มศักยภาพของชุมชนในการรับมือภัยธรรมชาติ
- การปฏิรูปนโยบายสาธารณะของประเทศผ่าน Thailand Policy Lab ที่จะเป็นห้องปฏิบัติการนโยบายในการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบายของประเทศด้วยวิธีใหม่ๆ เสริมสร้างทักษะด้านนวัตกรรมของข้าราชการ นักวิชาการ นักบริหาร เพื่อขยายองค์ความรู้ไปให้เร็วที่สุด รวมถึงสร้างสังคมแห่งนวัตกรในระดับชาติและนานาชาติ