×

ชวนวิเคราะห์ ทำไมประเทศไทยจึงเป็นหมุดหมายการส่งออกอาวุธปืนอันดับ 1 ของสหรัฐฯ?

04.10.2023
  • LOADING...
ประเทศไทย ส่งออกอาวุธปืน

ย้อนกลับไปที่หนึ่งในเหตุกราดยิงครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย ณ หนองบัวลำภูเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2022 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า คนร้ายใช้อาวุธปืนขนาดเล็กของ Sig Sauer บริษัทผู้ผลิตปืนรายหลักของสหรัฐฯ ซึ่งอาวุธชิ้นนั้นเป็นเพียงจุดเล็กๆ จุดหนึ่งของการส่งออกปืนพกกึ่งอัตโนมัติและไรเฟิลที่เพิ่มขึ้นโดยผู้ผลิตปืนสหรัฐฯ ที่มีความเชื่อมโยงกับคดีอาชญากรรมรุนแรงหลายคดี

 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ในปัจจุบันมีอาวุธปืนกว่า 400 ล้านกระบอกอยู่ภายใต้การครอบครองของชาวอเมริกัน และบริษัทอย่าง Sig Sauer กำลังขยายฐานลูกค้าใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนเพื่อผลักดันการซื้อ-ขายดังกล่าว

 

เครื่องจักรต่างๆ ที่ขับเคลื่อนการซื้อ-ขายปืนของต่างประเทศกับสหรัฐฯ

การซื้อ-ขายอาวุธปืนที่เพิ่มขึ้นมาจากแรงผลักดัน 2 ส่วนคือ กฎหมาย ‘US Assault-Weapon Ban’ ที่หมดอายุลงไปเมื่อปี 2004 ทำให้การซื้อ-ขายในสหรัฐฯ กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง และปัจจัยที่สองคือการชนะการต่อสู้ทางกฎหมายของเหล่าผู้ผลิตปืน ที่ทำให้กระบวนการส่งออกไปยังต่างประเทศทำได้ง่ายมากขึ้น

 

และที่น่าตกใจคือจุดหมายที่สหรัฐฯ ส่งออกอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติไปมากที่สุดคือประเทศไทย ซึ่งมียอดรวมกว่า 795,000 กระบอกในกรอบระยะเวลาตั้งแต่ปี 2005-2022 หรือประมาณ 21% ของยอดการส่งออกทั่วโลกที่ 3.7 ล้านกระบอกในกรอบเวลานี้

 

ประเทศไทย ส่งออกอาวุธปืน

 

แม้เหตุการณ์กราดยิงในสหรัฐฯ และอาชญากรรมในหลายประเทศที่มีอาวุธปืนเป็นส่วนเกี่ยวข้องจะเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ผู้คนทั่วโลกผวา แต่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าหาลูกค้ารายใหม่จากต่างประเทศมางานมหกรรมปืนที่จัดขึ้นในเมืองลาสเวกัส ของแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการโน้มน้าวให้กฎหมายด้านการควบคุมอาวุธปืนถูกลดทอนความเข้มข้นลง ผ่านความร่วมมือระหว่างบริษัทผู้ผลิตและพันธมิตรทางการเมืองของพวกเขา

 

Sig Sauer คือบริษัทที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากความพยายามของสหรัฐฯ ในการส่งออกปืน โดยบริษัทผันตัวเองจากผู้ผลิตอาวุธปืนระดับไฮเอนด์เฉพาะทาง กลายมาเป็นผู้ผลิตที่เน้นปริมาณและราคาให้อยู่ในระดับที่เข้าถึงง่าย “เรามีทิศทางธุรกิจที่ชัดเจนแล้วว่า เราต้องการเติบโตในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา” Ron Cohen ซีอีโอของ Sig Sauer กล่าวไว้เมื่อปี 2010 และในวันนี้บริษัทของเขาก็เป็นผู้ส่งออกปืนรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ

 

ในช่วงการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี Donald Trump บริษัทใช้เส้นสายทางการเมืองเพื่อผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่จะเอื้อต่อการเข้าถึงอาวุธปืนแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยย้ายอำนาจการควบคุมดูแลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มาอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่งมีความเป็นมิตรและให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจมากกว่ากระทรวงเดิม

 

นับตั้งแต่ปี 2014 กระทรวงพาณิชย์เริ่มดูแลลูกค้าต่างชาติในมหกรรมซื้อ-ขายปืน ณ เมืองลาสเวกัส และการส่งออกของ Sig Sauer ยังคงเติบโตต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ภายใต้ประธานาธิบดี Joe Biden ถึงแม้เขาจะวิพากษ์วิจารณ์ ‘การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองตามครัวเรือน’ ก็ตาม

 

ไทยกลายเป็นลูกค้าหลักของอาวุธปืนสหรัฐฯ ได้อย่างไร?

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตัวแทนความสำเร็จด้านการส่งออกปืนของ Sig Sauer ซึ่งบริษัทสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับตำรวจไทยผ่านโครงการปืนสวัสดิการ ที่ช่วยให้ข้าราชการตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ชนิดนี้ได้ในราคาถูก ถึงแม้จะมีการประกาศระงับโครงการปืนสวัสดิการตำรวจออกไปอย่างไม่มีกำหนด เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2022 แต่ผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามการซื้อขายก็ให้ข้อมูลกับ Bloomberg ว่า “โครงการนั้นมีช่องโหว่ที่นำไปสู่การซื้อ-ขายอาวุธขนาดเล็กในตลาดมืด”

 

ตามการตรวจสอบของตำรวจ ผลปรากฏว่าโครงการปืนสวัสดิการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน การลักลอบค้าอาวุธปืน และติดอาวุธให้กับอาชญากร โดยแฟ้มรายงานของตำรวจเต็มไปด้วยคดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธของ Sig Sauer ที่นำเข้ามาผ่านโครงการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในภูเก็ตเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 และ คดีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในย่านอโศกเมื่อเดือนเมษายนของปีนี้ 

 

ปืนจากสหรัฐฯ อยู่คู่กับประเทศไทยมายาวนาน ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม “เรามีปืนจากจีน จากตุรกี และจากประเทศอื่นๆ แต่ก็เป็นความรู้สึกของคนไทยบางกลุ่มที่มองว่าสินค้าต่างๆ จากสหรัฐฯ ตั้งแต่วัคซีนไปจนถึงปืนนั้นมีคุณภาพมากกว่า” นักวิชาการอาวุโส TDRI กล่าว

 

ในกรุงเทพฯ ตลาดซื้อ-ขายปืนสำหรับคนทั่วไปมีขนาดค่อนข้างเล็ก และกฎหมายก็มีความเข้มงวดเรื่องเอกสาร อย่างเช่น ใบอนุญาตให้ซื้อ และใบอนุญาตให้ครอบครองอาวุธปืน ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปี นอกจากนี้ผู้ซื้อยังต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลด้วยว่าบุคคลนั้นมีความสามารถเพียงพอที่จะครอบครองอาวุธปืน

 

อย่างไรก็ตาม ความยากลำบากดังกล่าวมิได้เกิดกับข้าราชการตำรวจที่มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นปฏิบัติการเล่าว่า “ปืนที่ทางกองเตรียมให้อยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน อาจเป็นอันตรายได้เนื่องจากถูกใช้งานมาหลายปีแล้ว” ซึ่งโครงการปืนสวัสดิการก็เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในส่วนนี้

 

แต่ในขณะที่ปัญหาด้านอุปกรณ์ล้าสมัยถูกแก้ ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้น

 

เนื่องจากโครงการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถซื้อปืนได้ในราคาถูกกว่าตลาดทั่วไปหลายเท่า ทำให้แรงจูงใจที่จะลักลอบขายปืนราคาต่ำที่ตนซื้อมาให้กับคนที่ต้องการในตลาดมืดด้วยราคาที่สูงขึ้น ก็ฟังดูเป็นโอกาสทำกำไรที่น่าดึงดูดไม่ใช่น้อย

 

ตำรวจบางรายเล่าให้ Bloomberg ฟังว่า พวกเขาซื้ออาวุธปืนเพื่อการลงทุน เพราะพวกเขารู้ว่าสามารถนำไปขายต่อได้หลังจากที่ถือครองครบ 5 ปีตามที่ระบุไว้ในโครงการ หรือบางคนที่มีปัญหาด้านการเงินก็ยอมที่จะฝ่าฝืนกฎโดยขายออกไปก่อนครบ 5 ปี ซึ่งธุรกรรมเหล่านั้นก็ค่อนข้างยากที่จะตามสืบได้

 

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของโครงการปืนสวัสดิการเริ่มขึ้นในปี 2015 เมื่อประเทศไทยตกลงทำสัญญาการซื้อปืนกับ Sig Sauer เป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรายละเอียดส่วนหนึ่งในสัญญาระบุว่า สำนักงานตำรวจไทยตกลงที่จะนำเข้าปืนรุ่นหนึ่งของ Sig Sauer จำนวน 150,000 กระบอก ในราคากระบอกละ 525 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคือ 1 ใน 3 ของราคาที่ขายให้กับคนทั่วไปในตลาดปกติ และข้อตกลงนี้ก็เป็นหนึ่งในความสำเร็จของผู้ผลิตปืนรายนี้ด้วย

 

นอกจากนี้ ในปี 2020 ประธานาธิบดี Donald Trump เซ็นอนุมัติใบอนุญาตการส่งออกปืนแก่ Sig Sauer อย่างไม่ลังเล และเป็นปีเดียวกับที่ทางการไทยขยายสิทธิ์ให้พนักงานของรัฐและตำรวจอาสาสามารถซื้ออาวุธปืนไว้ป้องกันตัวได้ และยังประกาศสัญญาซื้อปืนพกจากบริษัทดังกล่าวจำนวน 250,000 กระบอก ถือว่าเป็นดีลปืนพกใหญ่ที่สุดสำหรับไทย และหนึ่งในดีลที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้ผลิตสัญชาติสหรัฐฯ รายนี้ 

 

ในระหว่างปี 2016-2021 อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนเพิ่มขึ้นถึง 43% ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประเทศไทยนำเข้าปืนจากสหรัฐฯ เข้ามาในประเทศ ตามข้อมูลของตำรวจ โดยในจำนวนนี้น่าจะมีในส่วนของปืนชนิดที่ทำขึ้นหรือดัดแปลงเองรวมอยู่ด้วย

 

ดนัยโชค บุญโสม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ กล่าวไว้หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงในหนองบัวลำภูว่า

 

“อาวุธปืนเข้าถึงง่ายมาก และเราก็เห็นความรุนแรงโดยใช้อาวุธเกิดขึ้นบ่อยขึ้น ผมมองว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง ผู้ที่ได้รับเรื่องจากผมก็บอกว่าเขาจะส่งต่อความกังวลนี้ไปถึงรัฐบาลกลางให้แก้ไขปัญหา แต่สุดท้ายแล้วคนที่ต้องตัดสินใจก็คือพวกเขา”

 

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเมื่อวานนี้ (3 ตุลาคม 2023) คำพูดนี้น่าจะเป็นสิ่งเตือนใจให้กับผู้กำหนดนโยบาย ที่ต้องกลับมาประเมินผลดีและผลเสียของโครงการสวัสดิการปืนอีกครั้ง ถึงแม้จะยังไม่มีการพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าอาวุธที่ใช้ก่อเหตุ ณ สยามพารากอน มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการหรือไม่ แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธว่ายังมีช่องโหว่ที่ทำให้คนประสงค์ร้ายสามารถเข้าถึงอาวุธได้ง่ายขึ้น

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X