วันนี้ (6 ก.ย. 2562) สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยกับสื่อมวลชน ภายหลังการหารือพิจารณาแนวทางและจัดทำแผนงานเพื่อแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากอุทกภัย จังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัยที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ
พร้อมทั้งให้บูรณาการข้อมูลแผนงานโครงการที่จำเป็นต้องดำเนินการทันทีอย่างเร่งด่วนว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเงื่อนไขการพิจารณาโครงการ 3 ประเด็นหลัก คือ
1. เป็นโครงการที่มีความพร้อมดำเนินการแล้วเสร็จในระยะ 1-2 เดือนนี้ เนื่องจากเป็นโครงการระยะสั้น มีความจำเป็นเร่งด่วน หากไม่ทำจะเกิดความเสียหายหรือได้รับผลกระทบกับประชาชนได้ รวมถึงยังเป็นโครงการที่สามารถเก็บกักน้ำในพื้นที่ที่ประสบน้ำท่วมขังในขณะนี้เก็บไว้ได้ และรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาเพิ่มได้ด้วย
2. โครงการต้องไม่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณปี 2563 ที่ได้รับ
3. โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ทัน เพื่อก่อหนี้ผูกพันภายในปีงบประมาณ 2562 ในเดือนกันยายนนี้
อย่างไรก็ตาม จากการหารือร่วมกันเบื้องต้นในกรอบแนวทางครั้งนี้แล้ว ทุกหน่วยงานจะกลับไปพิจารณาแผนงานโครงการที่จะเสนอมาอีกครั้ง โดยในแต่ละโครงการหน่วยงานต้องแจ้งจังหวัดในพื้นที่รับทราบด้วย และให้กระทรวงมหาดไทยประสาน ตรวจสอบ จากนั้น สทนช. จะนำผลสรุปแผนงานโครงการและวงเงินงบประมาณที่ได้หารือร่วมกันแล้วจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง เสนอ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาภายในวันจันทร์นี้ (9 ก.ย. 2562) ก่อนเสนอสำนักงบประมาณพิจารณากลั่นกรองเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ เพื่อให้ทันระยะเวลาการก่อหนี้ผูกผันในปีงบประมาณ 2562 ตามลำดับขั้นตอนโดยเร่งด่วนต่อไป
สำหรับแผนงานโครงการเร่งด่วนที่หน่วยงานนำเสนอ อาทิ การจัดทำแก้มลิง ฝาย การปรับปรุงซ่อมแซมคันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากพายุ โดยกรมชลประทาน น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร น้ำบาดาลเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล การขุดลอกสระ คลอง ห้วย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์