วันนี้ (2 เมษายน) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ เค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีเนปาล ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามและการแลกเปลี่ยนความตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน จำนวน 8 ฉบับ ดังนี้
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวไทย – เนปาล
- ความตกลงทางวัฒนธรรม ไทย – เนปาล
- บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าเนปาล
- บันทึกความเข้าใจระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับสถาบัน Nepal Netra Jyoti Sangh (NNJS)
- บันทึกความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับบริษัท Jantra Agro and Forestry
- บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสยามกับมหาวิทยาลัยกาฐมาณฑุ
- บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสหพันธ์หอการค้าและ อุตสาหกรรมแห่งเนปาล
- บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมแห่งเนปาล
จากนั้นนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเนปาลร่วมกันแถลงข่าว โดยสรุปสาระสำคัญของการแถลงข่าวดังนี้
นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับผู้นำเนปาลและคณะเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเยือนครั้งแรกในรอบ 66 ปี ซึ่งจะช่วยกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้น และเปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับความร่วมมือในอนาคต
ทั้งสองฝ่ายได้หารือในด้านพลังงาน โดยไทยชื่นชมเนปาลในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และการพัฒนาโครงการพลังงานน้ำ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าควรส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเสริมสร้างความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ลดอุปสรรคทางการค้า และพัฒนาข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน และไทยสนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนในตลาดเนปาลมากขึ้น
ด้านการเชื่อมโยง ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการขยายเส้นทางการบินเชื่อมต่อกรุงเทพฯ – กาฐมาณฑุ พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้เปิดเที่ยวบินตรงสู่ลุมพินี
ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ไทยและเนปาลเห็นพ้องส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน การแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม และสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและการแพทย์ นอกจากนี้ภาคเอกชนไทยโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม โรงพยาบาล และสายการบิน ต่างมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเนปาล
นายกรัฐมนตรียังขอบคุณเนปาลที่สนับสนุนไทยในฐานะประธาน BIMSTEC และยืนยันความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับ BIMSTEC อย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกรอบการประชุม และผลักดัน BIMSTEC ให้เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค