×

ไทยเจอผู้ป่วยฝีดาษลิงแล้ว 7 ราย กรมวิทย์ฯ เผย คนส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนฝีดาษ 40 ปีก่อน ไม่มีภูมิคุ้มกันลบล้างฝีดาษลิงได้

โดย THE STANDARD TEAM
05.09.2022
  • LOADING...

วันนี้ (5 กันยายน) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ แถลงข่าวเรื่อง ‘ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษลิง (Monkeypox)’ สายพันธุ์ B.1 และ A.2 จำนวน 30 คน พบว่าส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้นในระดับป้องกันโรค มีเพียง 2 รายมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษลิงได้

 

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า โรคฝีดาษลิงพบครั้งแรกในลิงเมื่อปี 1958 จากนั้นได้เริ่มมีการรายงานพบการระบาดในคนปี 1970 ซึ่งประมาณร้อยละ 70 เป็นการแพร่กระจายจากสัตว์สู่คน และกลายเป็นโรคประจำถิ่นแถบประเทศแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ต่อมาในปี 2020 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานว่า พบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อฝีดาษลิงจำนวน 4,594 ราย เสียชีวิต 171 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.7 และมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งวันที่ 23 กรกฎาคม 2022 WHO ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 2 กันยายน 2022 มีผู้ป่วยยืนยัน 50,327 ราย เสียชีวิต 15 ราย โดยพบใน 100 ประเทศ ส่วนประเทศไทยขณะนี้พบผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 7 ราย 

 

ในขณะที่มีรายงานว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษคนสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ร้อยละ 85 ดังนั้น จึงมีคำถามว่าคนไทยที่รับวัคซีนฝีดาษเมื่อ 40 ปีก่อน จะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษลิงได้หรือไม่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้นำซีรั่มจากอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนโรคฝีดาษคนมานานกว่า 40 ปี จำนวน 30 คน แบ่งเป็นกลุ่มอายุ 45-54, 55-64 และ 65-74 ปี มาหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษลิง สายพันธุ์ B.1 (พบในยุโรป) และ A.2 (พบในแอฟริกา) ที่แยกได้จากผู้ติดเชื้อที่พบในประเทศไทย มาทดสอบโดยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานเพื่อหาค่าที่ไวรัสฝีดาษลิงเชื้อเป็นถูกทำลายได้ครึ่งหนึ่ง หรือที่เรียกว่า PRNT Titer 50%, PRNT50 โดยภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนฝีดาษคน ซึ่งระดับแอนติบอดี Titer มากกว่าหรือเท่ากับ 32 (PRNT50 ≥ 32) ถือว่าคนนั้นมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษลิงได้ 

 

ซึ่งผลการทดสอบพบว่า ในอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนฝีดาษมานานกว่า 40 ปี จำนวน 28 ราย ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสฝีดาษลิงทั้ง 2 สายพันธุ์ มีเพียง 2 รายที่พบมีระดับภูมิคุ้มกันมากกว่า 32 (PRNT50 Titer > 32) ที่สามารถลบล้างฤทธิ์ของไวรัสฝีดาษลิงได้ ในจำนวนนี้พบ 1 รายมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ A.2 และอีก 1 รายมีภูมิคุ้มกันต่อทั้ง 2 สายพันธุ์ สรุปได้ว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษเมื่อ 40 ปีก่อน ไม่มีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษลิงได้ 

 

นพ.ศุภกิจกล่าวต่ออีกว่า ในเรื่องของวัคซีนนั้น หากมีวัคซีนเข้ามาจะใช้ 2 กรณี คือ กลุ่มเสี่ยงมาก เช่น เจ้าหน้าที่ห้องแล็บ คนสัมผัสใกล้ชิด และกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติไปสัมผัสโรคก็อาจฉีดให้ เพื่อลดความรุนแรงของโรค หากถามว่าจำเป็นต้องนำมาฉีดกับคนทั่วไปไหม ขณะนี้ยังไม่จำเป็น เนื่องจากขณะนี้สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดส่วนใหญ่เป็น A.2 ซึ่งไม่ใช่สายพันธุ์รุนแรง ยกเว้นคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีที่กินยากดภูมิคุ้มกัน หรือคนที่เป็นโรคบางอย่างที่ทำให้ภูมิคุ้มกันน้อย รวมทั้งเด็กเล็ก

 

อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำว่าโรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อกันง่าย ส่วนใหญ่ติดต่อจากการสัมผัสผื่นผู้ป่วยทางผิวหนังโดยตรง หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย กรมวิทย์ฯ จึงขอให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง หรือคู่นอนที่ไม่รู้จัก ทั้งนี้ ในผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่รุนแรงสามารถหายเองได้ แต่จะมีอาการรุนแรงได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและในเด็กเล็ก ดังนั้น มาตรการล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง สามารถนำมาใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้ให้การรับรองวัคซีนจินนีออส (Jynneos) เพื่อนำมาใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงในกรณีฉุกเฉินแล้ว ส่วนประเทศไทยได้นำเข้าวัคซีนดังกล่าวจากสหรัฐฯ สำหรับป้องกันโรคในกลุ่มที่มีความเสี่ยงแล้วจำนวน 1,000 โดส

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising