×

เศรษฐพุฒิชี้ ธปท. ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตาม Fed ยืนยัน พิจารณาปัจจัยในประเทศเป็นหลัก

20.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (20 กันยายน) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ย ไม่ได้หมายความว่า ธปท. จะต้องลดตาม เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ผูกค่าเงินไว้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเหมือนกับฮ่องกงหรือบางประเทศในตะวันออกกลาง ที่จะต้องลดดอกเบี้ยตามไปโดยปริยาย

 

พร้อมทั้งย้ำว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ยังคงมุ่งไปที่ปัจจัยในประเทศ 3 ประการ ได้แก่ แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน ประกอบกับหลักการ Outlook Dependent

 

นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ ยังกล่าวด้วยว่า การที่ Fed ลดอัตราดอกเบี้ยลงไป 0.50% เมื่อวันที่ 18 กันยายน ถือว่าเป็นอัตราที่ ‘ไม่น้อย’ ถึงกระนั้นตลาดก็สามารถรองรับ (Absorb) ได้ระดับหนึ่ง ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่ได้มาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาระบบธนาคารเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ยังเห็นผลกระทบต่อตลาดบอนด์และค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐบ้าง ท่ามกลางราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น

 

ดร.เศรษฐพุฒิ ยังคงยืนยันว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยปัจจุบันยังใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของ ธปท. กล่าวคือ การเติบโตของเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ระดับศักยภาพ (Potential GDP) และเงินเฟ้อกำลังกลับเข้าสู่กรอบ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ที่สูงขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อตึงตัวมากกว่าที่ ธปท. มองไว้ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ ธปท. ต้องดู

 

ยอมรับเงินบาทผันผวนมาก

 

ดร.เศรษฐพุฒิ ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนค่อนข้างสูง ซึ่ง ธปท. ไม่อยากเห็นค่าเงินที่ผันผวนขนาดนี้ โดยในภาพรวมปีนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 3.1% ตั้งแต่ต้นปี (YTD) แต่ยังมีสกุลเงินอื่นที่แข็งค่ากว่า เช่น ริงกิตมาเลเซีย ที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างเยอะ

 

ดร.เศรษฐพุฒิ ยืนยันว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทยังเป็นไปตามกลไกของตลาดจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า รวมทั้งราคาทองคำที่สูงขึ้น และตอนนี้ยังไม่เห็นการเก็งกำไร

 

“เงินบาทเป็นค่าเงินที่มีการเคลื่อนไหว (Correlation) กับราคาทองคำที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เห็นได้จากเมื่อทองคำปรับตัวสูงขึ้นและแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All-Time High) เงินบาทก็จะแข็ง” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

 

สำหรับผลกระทบต่อการส่งออก ดร.เศรษฐพุฒิ ระบุว่า การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในเชิงมูลค่าหรือส่งผลกระทบต่อกำไร (Margin) มากกว่า อย่างไรก็ตาม มองว่าการส่งออกเชิงปริมาณมีความสำคัญกว่า ซึ่งปริมาณจะขึ้นอยู่กับสภาพตลาดและความต้องการของโลก อาทิ หากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าดี การส่งออกไทยก็จะดี


 

หั่นดอกเบี้ย ลดหนี้ครัวเรือนได้ไหม

 

ดร.เศรษฐพุฒิ ยังได้อธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างหนี้ครัวเรือนต่อ GDP และอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่า การลดอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อหนี้ครัวเรือนใน 2 ส่วน ได้แก่ ความสามารถในการช่วยลดภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายหนี้เก่าได้ และสินเชื่อที่โตเร็วขึ้น

 

โดย ธปท. ต้องชั่งน้ำหนักทั้งสองมิตินี้ เนื่องจาก ธปท. ไม่อยากเห็นหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พุ่งสูงต่อไป แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ต้องการเหยียบเบรกให้หนี้สินนี้ลงเร็วเกินไป เนื่องจากการเหยียบเบรกดังกล่าวมีผลต่อเศรษฐกิจ กล่าวคือ หากเศรษฐกิจชะลอตัว จะทำให้ตัวฐาน (GDP)โตช้า แต่ตัวส่วนหนี้ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X