×

ย้อนดูจำนวนนายพลไทย มีมากแค่ไหน เงินเดือนเท่าไร ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิมีไว้ทำไม

04.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • จำนวนนายพลช่วงปี 2551-2554 อยู่ที่ 550-584 คน ก่อนกระโดดขึ้นมาเป็น 811 คนในปี 2555 และทะลุ 1,000 คนในช่วงปี 2557
  • ตำแหน่ง ‘ผู้ทรงคุณวุฒิ’ หรือ ‘ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ’ ใช้พักรอคนที่เหมาะสมจะขึ้นตำแหน่งหลักในปีถัดไป หรือใช้เป็น ‘เก้าอี้รองรับ’ สำหรับนายพลที่หลุดจากตำแหน่งหลัก

“หลังมีการโปรดเกล้าฯ ลงมา เป็นที่พอใจของทุกคน ไม่มีใครไม่พอใจ”

 

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยหลังบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล ประจำปี 2561 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา

 

 

935 คือจำนวนนายพลที่มีชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีแต่งตั้ง-โยกย้ายรอบล่าสุด แต่นี่ไม่ใช่จำนวนนายพลทั้งหมดในกองทัพ เพราะยังมีนายพลที่ไม่ถูกโยกย้ายไปไหนอยู่อีกจำนวนหนึ่ง

 

จากสถิติจำนวนนายพลเฉพาะที่ปรากฏในบัญชีโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลประจำปี จะพบว่าจำนวนนายพลช่วงปี 2551-2554 อยู่ที่ 550-584 คน ก่อนกระโดดขึ้นมาเป็น 811 คนในปี 2555

 

และทะลุ 1,000 คนในช่วงปี 2557 ซึ่งบังเอิญตรงกับช่วงที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้บัญชาการทหารบก 4 ปีซ้อนทำรัฐประหารและตั้งรัฐบาล คสช. พอดี

 

 

ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ ตำแหน่งขาลอย-ต่างตอบแทน

ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการและคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โพสต์เฟซบุ๊กเขียนถึงตำแหน่งที่น่าสนใจก็คือ ‘ผู้ทรงคุณวุฒิ’ ว่าหมายถึงนายพลที่ไม่มีตำแหน่งหลักให้ลง จะมีงานก็ต่อเมื่อได้รับมอบหมาย

 

แบ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเฉยๆ ยศ ‘พลตรี’ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มียศ ‘พลโท’ กับ ‘พลเอก’

 

พูดง่ายๆ คือในสาย ‘ผู้ทรงคุณวุฒิ’ ที่ไม่มีงานเป็นหลักแหล่งแน่นอนยังมีการเลื่อนไหลเพิ่มยศเลื่อนขั้นได้อีกด้วย

 

ในบางบริบทกองทัพก็ใช้ตำแหน่ง ‘ผู้ทรงคุณวุฒิ’ หรือ ‘ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ’ ในการพักรอคนที่เหมาะสมจะขึ้นตำแหน่งหลักในปีถัดไป หรือใช้เป็น ‘เก้าอี้รองรับ’ สำหรับนายพลที่หลุดจากตำแหน่งหลักหรืออายุราชการไม่พอที่จะเติบโตสู่ดวงดาว ก็มอบตำแหน่ง ‘ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ’ ที่เลื่อนไหลให้หนึ่งชั้นยศเป็นการตอบแทนระหว่างรอเกษียณ

 

THE STANDARD นั่งนับตำแหน่งที่ปรึกษาและตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิในบัญชีแต่งตั้ง-โยกย้าย พ.ศ. 2561 (เฉพาะยศนายพล) พบว่ามี 24 ที่ปรึกษา 180 ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ปรากฏสังกัดเฉพาะแน่นอน ยังไม่นับรวมยศระดับพันเอกที่นั่งตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่น้อย

 

 

ปรับเพิ่มเงินเดือนนายทหารชั้นนายพล ปี 2558

ขณะที่เงินเดือนค่าตอบแทนของนายทหารระดับนายพลมีการปรับเพิ่มขึ้นในยุครัฐบาล คสช. โดยผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 โดยสำนักข่าวอิศราได้ขุดข้อมูลอัตราเงินเดือนใหม่ของทหารชั้นนายพลที่ปรับขึ้นมา

 

  • ระดับ น.6 (พลตรี/พลเรือตรี/พลอากาศตรี) ปรับเพิ่มระดับต่ำสุดเป็น 32,378 บาท จากเดิม 29,980 บาท ส่วนระดับสูงสุดปรับเพิ่มเป็น 67,760 บาท จากเดิม 62,080 บาท
  • ระดับ น.7 (พลโท/พลเรือโท/พลอากาศโท) ปรับเพิ่มระดับต่ำสุดเป็น 37,897 บาท จากเดิม 35,090 บาท ส่วนระดับสูงสุดปรับเพิ่มเป็น 72,965 บาท จากเดิม 67,560 บาท
  • ระดับ น.8 (พลเอก/พลเรือเอก/พลอากาศเอก) ปรับเพิ่มระดับต่ำสุดเป็น 42,217 บาท จากเดิม 39,090 บาท ส่วนระดับสูงสุดปรับเพิ่มเป็น 72,965 บาท จากเดิม 67,560 บาท
  • ระดับ น.9 (อัตราจอมพลเดิม) ปรับเพิ่มระดับต่ำสุดเป็น 56,117 บาท จากเดิม 51,960 บาท ส่วนระดับสูงสุดปรับเพิ่มเป็น 76,604 บาท จากเดิม 70,930 บาท

 

สำหรับอัตราจอมพล ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ …) พ.ศ. .…  โดยยกเลิกอัตรายศจอมพล แต่ยังคงได้รับเงินเดือนในอัตราระดับ น.9 เหมือนเดิม สำหรับอัตราจอมพลนั้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงกลาโหม จะรับเงินเดือนอัตราจอมพล (น.9) แต่ไม่ได้รับพระราชทานโปรดเกล้ายศจอมพล

 

ภาพประกอบ: Pichamon W.

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising