×

โอกาสใหม่เมืองเกษตรกรรม! ไทยขึ้นแท่นฮับไบโอพลาสติก หลัง ‘Braskem’ และบริษัทระดับโลกแห่ตั้งโรงงานที่ จ.ระยอง

18.08.2023
  • LOADING...
ไบโอพลาสติก

อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยไม่เป็นรองใคร! 5 ปีเติบโตก้าวกระโดด BOI ระบุส่งเสริมไปแล้วกว่า 3.7 หมื่นล้านบาทตลอดซัพพลายเชน หนุน BCG งัดจุดแข็งเมืองเกษตรกรรม ต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากวัตถุดิบทางการเกษตร ล่าสุดขึ้นแท่นฐานผลิตพลาสติกชีวภาพของโลกไปเป็นที่เรียบร้อย หลังบริษัทยักษ์ใหญ่แห่ตั้งโรงงานในไทย ล่าสุด Braskem ผู้ผลิตอันดับ 2 ของโลก ร่วมทุนเอสซีจี เคมิคอลส์ ตั้งโรงงานไบโอ-เอทิลีน จังหวัดระยอง

 

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) พลาสติกที่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด, อ้อย, มันสำปะหลัง, มันเทศ, ข้าวสาลี ฯลฯ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของแนวคิด BCG ที่ผลักดันให้เกิดการลงทุน โดยดึงศักยภาพของไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งวัตถุดิบพืชเกษตร

 

ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอันดับ 2 ของโลก โดยในปัจจุบันพลาสติกชีวภาพสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่กำลังเป็นที่ต้องการในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทย อีกทั้งยังสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง  


 

บริษัทระดับโลกเข้ามาตั้งโรงงานในไทย 3.7 หมื่นล้าน

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้อัดฉีดมาตรการสนับสนุนช่วง 5 ปี ในกิจการผลิตพลาสติกชีวภาพจำนวน 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 37,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งบริษัทระดับโลก เช่น บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด, บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ จำกัด ผู้ผลิตโพลีเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ ชนิดโพลีแล็กติกแอซิด (Polylactic Acid หรือ PLA) 

 

บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS (Polybutylene Succinate), บริษัท ดูปองท์ นิวทริชั่น จำกัด ผู้ผลิตไมโครคริสตัลไลน์เซลลูโลส สำหรับผลิตฟิล์มเคลือบอาหารที่สามารถย่อยสลายได้ 

 

บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET (Food Grade) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท Alpla ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ของยุโรป 

 

ล่าสุด บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ได้ร่วมทุนกับ Braskem ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพสัญชาติบราซิลรายใหญ่ของโลก และใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกา รวมถึงเป็นผู้ผลิตไบโอ-โพลีเมอร์เบอร์ 1 ของโลก จัดตั้งโรงงานผลิตไบโอ-เอทิลีนสำหรับผลิตเม็ดพลาสติกไบโอ-โพลีเอทิลีน (Green-Polyethylene) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

 

“เราใช้จุดแข็งที่ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแหล่งวัตถุดิบ และมีบุคลากรที่มีความพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม รวมทั้งมีสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ และตอบโจทย์ทิศทางเมกะเทรนด์ของโลกด้วย” นฤตม์กล่าว

 

พลาสติกชีวภาพ ‘โอกาสใหม่’ ดูดลงทุน

 

THE STANDARD WEALTH สำรวจข้อมูลจาก European Bioplastics ถึงอัตราการผลิตพลาสติกชีวภาพทั่วโลก พบว่าทั่วโลกมีการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 ล้านตันในปี 2565 และคาดว่าจะพุ่งสูงขึ้น 6.3 ล้านตันในปี 2570

 

พลาสติกชีวภาพนำมาใช้ในตลาดจำนวนมากขึ้น โดยใช้ทดแทนพลาสติก ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์สำหรับจัดเลี้ยง, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค, ยานยนต์, การเกษตร/พืชสวน, ของเล่น ไปจนถึงสิ่งทอและส่วนอื่นๆ อีกหลายส่วน และบรรจุภัณฑ์ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับพลาสติกชีวภาพ

 

อย่างไรก็ตาม การใช้งานยังหลากหลายไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ยานยนต์และการขนส่ง หรืออาคารและการก่อสร้าง ยังคงเพิ่มขึ้นด้วยกำลังการผลิตโพลีเมอร์สำหรับใช้งานที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ข้อมูลจากสถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยต่อเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบชีวภาพ (BCG) โดยสหรัฐอเมริกาผลิตพลาสติกชีวภาพประมาณ 150,000 ตันต่อปี ในขณะที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิต 95,000 ตัน

 

วิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย กล่าวเสริมว่า ผู้ผลิตไทยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตอีก 75,000 ตันต่อปี และตลาดมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะความต้องการพลาสติกชีวภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังเพิ่มสูงขึ้น และ 90% ของพลาสติกชีวภาพที่ประเทศไทยผลิตได้ส่งออกไป

 

ปัจจุบันนอกจากรัฐบาลไทยจะส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมเติบโตมากขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ที่ตั้ง และเมืองแห่งเกษตรกรรม ที่ทำให้ไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบในการป้อนอุตสาหกรรมชีวภาพอีกมาก

 

“เพราะประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตพลาสติกชีวภาพ เนื่องจากเราอุดมไปด้วยอ้อยและมันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก และอนาคตไทยและโลกยังมีโอกาสอีกมากในการเปลี่ยนพลาสติกจากปิโตรเลียม ที่ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกประมาณ 360 ล้านตัน และการผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6% ต่อปีอีกด้วย” วิบูลย์กล่าว

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising