×

ไทยกำลังเผชิญวิกฤตด้านสถาบัน? เปิดตำแหน่ง ‘ประเทศไทย’ ใน 7 ดัชนีระดับโลก กำลังถดถอยลงทุกดัชนี

05.08.2024
  • LOADING...
สถาบัน

เปิดตำแหน่ง ‘ประเทศไทย’ ใน 7 ดัชนีด้าน สถาบัน ระดับโลก พบว่า ไทยอยู่ระดับกลางๆ ถึงรั้งท้าย นอกจากนี้อันดับของประเทศไทยยังถดถอยลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าไทยอาจกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านสถาบัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความอยู่ดีกินดีของผู้คนและเศรษฐกิจด้วย

 

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘โครงสร้างเชิงสถาบันกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน’ ในงานประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์และบัณฑิตศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 17

 

โดยระบุว่า ‘ปัจจัยเชิงสถาบัน’ มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมาก โดยจะสังเกตได้ว่า จากดัชนีเชิงสถาบันระดับโลก 7 ดัชนี พบว่าอันดับของประเทศไทยในทุกดัชนีถอยหลังลงในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศใน 20 อันดับแรกของทุกดัชนีมักเป็นประเทศซ้ำๆ เช่น นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน และเดนมาร์ก ฯลฯ

 

“20 ประเทศอันดับแรกๆ ของดัชนีเหล่านี้เป็นประเทศซ้ำๆ กัน สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยเชิงสถาบันจึงมีความสำคัญมากกับความสำเร็จในการพัฒนาประเทศเชิงเศรษฐกิจ”

 

โดยปัจจัยเชิงสถาบันที่ว่านี้คือ ความเป็นประชาธิปไตย ความเป็นทุนนิยมที่ดี กลไกการตรวจสอบการคดโกง ระบบการศึกษาที่ดี และมีระบบนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง เป็นต้น

 

ทั้งนี้ 7 ดัชนีเชิงสถาบันระดับโลก ได้แก่ รายได้ต่อหัว (GNI per capita), ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient), ดัชนีการเป็นประชาธิปไตย (Democracy Matrix), ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Freedom Index), ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index), คะแนน PISA และดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) 

 

การเติบโตในแต่ละทศวรรษของไทยมีแนวโน้มถอยลงเรื่อยๆ

 

บรรยงยังแสดงความเป็นห่วงว่า เศรษฐกิจไทยกำลังถอยลงๆ ในทุกวิกฤต โดยหลังจากวิกฤตล่าสุดคือโควิด เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ไม่เกิน 2% ต่อปี โดยในปีนี้หลายคนก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่เกิน 2.5% ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสังคมตามมา เนื่องจากคนรากหญ้าจะไม่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวในระดับเพียงเท่านี้เท่าที่ควร 

 

“วิกฤตโควิดสะท้อนให้เห็นถึงความไร้การยืดหยุ่นในการฟื้นตัว (Resilience) และความคล่องตัว (Agility) ของไทย หลังจากเกิดโควิดหลายประเทศในโลกฟื้นตัวในเวลา 1 ปี แต่ประเทศไทยต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปีกว่าจะกลับมายืนที่เดิม”

 

แนะวิธีแก้ปัญหา

 

บรรยงมองว่า 3 แนวทางที่จำเป็นและเร่งด่วนที่สุดในการแก้ปัญหานี้ ได้แก่ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน และปรับปรุงกฎหมายต่างๆ 

 

นอกจากนี้บรรยงยังเชื่อในหลักการที่ว่า ประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าประชาชนอยากให้ (การแก้ไขปัญหา) เกิดขึ้นมันก็จะเกิดขึ้น

 

“ถ้าเราเข้าใจแต่ละดัชนีว่าใช้ปัจจัยอะไรในการประเมิน เราก็จะรู้ว่าจะปรับปรุงและพัฒนาได้อย่างไร” บรรยงกล่าว

 

สถาบัน

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising