×

อัตราเงินเฟ้อไทยเพิ่ม 1.54% ในเดือนพฤษภาคม สูงสุดในรอบ 13 เดือน เหตุราคาพลังงาน ผักสด และไข่ไก่ เพิ่มขึ้น

07.06.2024
  • LOADING...

อัตราเงินเฟ้อไทยเพิ่ม 1.54% ในเดือนพฤษภาคม สูงสุดในรอบ 13 เดือน และเข้ากรอบเป้าหมายของแบงก์ชาติแล้ว สาเหตุหลักมาจากราคาพลังงาน ผักสด และไข่ไก่ ที่เพิ่มขึ้น ด้านกระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.0-1.0% (ค่ากลาง 0.5%) 

 

วันนี้ (7 มิถุนายน) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนพฤษภาคม 2567 สูงขึ้น 1.54%YoY หรือสูงขึ้น 0.63%MoM เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 อย่างไรก็ดี CPI เฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ลดลง 0.13%AoA

 

โดยมีปัจจัยผลักดันสำคัญๆ ได้แก่

 

  1. การสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก

 

  1. ราคาผักสดและไข่ไก่ที่สูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศร้อนส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

 

“ปัจจัยค่ากระแสไฟฟ้าเป็นปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากย้อนกลับไปเดือนพฤษภาคม 2566 รัฐบาลมีมาตรการด้านพลังงานประมาณ 3-4 มาตรการ รวมถึงส่วนลดค่า Ft ต่อหน่วยด้วย” พูนพงษ์กล่าว

 

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก จะสูงขึ้น 0.39%YoY เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนเมษายน 2567 ที่สูงขึ้น 0.37%YoY

 

เปิดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายน 2567

 

กระนั้นพูนพงษ์ยังมองว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง โดยมีสาเหตุสำคัญ ดังนี้

 

  1. ผลกระทบจากฐานราคาต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าลดลง

 

  1. การต่ออายุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของครัวเรือนอีก 4 เดือน (พฤษภาคม-สิงหาคม 2567)

 

  1. ราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะผักสด มีแนวโน้มลดลง หลังสิ้นสุดสภาพอากาศร้อนจัดและเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ

 

  1. การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาขาย รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่มีการทำโปรโมชันส่งเสริมการขาย



 

ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้สินค้าบางชนิดยังอยู่ในระดับสูง ได้แก่

 

  1. ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ ซึ่งปรับมาอยู่ที่ 33.00 บาทต่อลิตร สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน


  2. ความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตาม 

 

“สำหรับเดือนมิถุนายนเราคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อน่าจะเป็นบวกราว 1-1.1% บวกน้อยกว่าเดือนพฤษภาคม ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปี อัตราเงินเฟ้อของไทยก็น่าจะกลับมาเป็นบวกแล้ว แต่ทั้งปีก็ไม่น่าจะถึง 1% หรือไม่เกิน 1%” พูนพงษ์กล่าว

 

พูนพงษ์กล่าวต่อว่า ยังต้องจับตาดูการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในประเทศ เนื่องจากน้ำมันมีสัดส่วนค่อนข้างมากในตะกร้าเงินเฟ้อราว 9% ทั้งเบนซิน ดีเซล และแก๊สโซฮอล์ เพราะฉะนั้นน้ำมันก็จะมีผลกับอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างมาก 

 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.0-1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

 

โดยในรายงานนโยบายการเงิน ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 และ 2568 จะอยู่ที่ 0.6% และ 1.3% ตามลำดับ โดยยังมองว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปีนี้ สะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อไทยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเร็วกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ไว้

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X