อัตราเงินเฟ้อไทยในเดือนธันวาคม 2567 สูงขึ้น 1.23% สูงสุดรอบ 7 เดือน ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารและเครื่องดื่ม ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อไทยเฉลี่ยทั้งปี 2567 กลับยังอยู่ระดับต่ำที่ 0.40% จับตา ธปท. ส่งจดหมายเปิดผนึก ขณะที่แนวโน้มทั้งปี 2568 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น โดยจะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.3-1.3% (ค่ากลาง 0.8%)
วันนี้ (6 มกราคม) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) สูงขึ้น 1.23%YoY นับเป็นการเพิ่มขึ้น 4 เดือนติดต่อกัน และเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยปัจจัยสำคัญคือราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีฐาน รวมถึงราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบเป็นรายเดือนพบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ลดลง 0.18%MoM เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว สูงขึ้น 0.79%YoY ชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่สูงขึ้น 0.80%YoY
ส่อง ‘เงินเฟ้อ’ เฉลี่ยทั้งปี 2567 ต่ำสุดรอบ 4 ปี
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) เฉลี่ยทั้งปี 2567 เทียบกับปี 2566 สูงขึ้น 0.40%AoA โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาอาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล
โดยระดับดังกล่าวนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี และต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3%
ย้อนดู ‘เงินเฟ้อไทยเฉลี่ย’ ปี 2563-2566
- ปี 2563 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ลดลง 0.85% เนื่องมาจากการลดลงของราคาพลังงานตามราคาพลังงานโลก
- ปี 2564 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ขยายตัว 1.23% ตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทย และการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
- ปี 2565 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ขยายตัว 6.08% จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับตัวสูงขึ้น
- ปี 2566 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ขยายตัว 1.23% จากราคาอาหารสดที่สูงขึ้น เนื่องจากเอลนีโญ ส่งผลให้การเพาะปลูกพืชสำคัญบางชนิดต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย
จับตา ธปท. ส่งจดหมายเปิดผนึกแจงปมเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินที่เป็นความตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลางและปี 2567
ทั้งนี้ ในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า เคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ชี้แจงสาเหตุ แนวทางดำเนินการ และระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยจะมีจดหมายเปิดผนึกทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย
ธปท. ยืนยัน ยังไม่เห็นต้นทุนจากภาวะเงินเฟ้อต่ำมากนัก
วันนี้ (6 มกราคม) ปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวในงาน Monetary Policy Forum โดยระบุว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำช่วงนี้มาจากกลไกการปรับฐาน (Correction) หลังจากก่อนหน้านี้อัตราเงินเฟ้อไทยปรับตัวขึ้นไปถึงเกือบ 8% เมื่อปี 2565
พร้อมทั้งมองว่า การเคลื่อนไหวของราคาปัจจุบันในภาพรวมยังคงยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ (Anchored Inflation Expectation) นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อต่ำในช่วงนี้ยังไม่ชัดว่าสร้างต้นทุนอะไรมากนัก ตรงกันข้ามกับภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงที่อาจบั่นทอนคาดการณ์เงินเฟ้อได้
ทั้งนี้ ในรายงานนโยบายการเงินฉบับล่าสุดในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ธปท. คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ปี 2568 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ โดยคาดว่าจะขยายตัว 1.1%YoY จากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกถูกกดดันจากอุปสงค์จีนที่ชะลอตัว
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ปี 2568 มีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้น 1.0% ตามเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเอื้อต่อการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ
เปิดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อปี 2568 ของกระทรวงพาณิชย์
ด้านกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2568 อยู่ที่ช่วง 0.3-1.3% (ค่ากลาง 0.8%) โดยมองว่ามีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นดังนี้
- เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น
- ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2567
ขณะที่ปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ประกอบด้วย
- ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซ LPG
- ฐานราคาผักและผลไม้สดปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก
- การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศจะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด