×

อัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือ 2.4% ใน มี.ค. ต่ำกว่าคาด อานิสงส์ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ‘ต่ำสุดในรอบ 4 ปี’

11.04.2025
  • LOADING...
อัตราเงินเฟ้อ

สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันพฤหัสบดีว่า อัตราเงินเฟ้อของราคาผู้บริโภคลดลงมากกว่าที่คาดไว้ในเดือนมีนาคม ขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมเปิดฉากเก็บภาษีกับประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ

 

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้ากับบริการโดยรวมในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดลง 0.1% เมื่อปรับตามฤดูกาลในเดือนมีนาคม ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนอยู่ที่ 2.4% ลดลงจาก 2.8% ในเดือนกุมภาพันธ์

 

หากไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งเรียกว่า ‘เงินเฟ้อพื้นฐาน’ (core CPI) อัตราเงินเฟ้อรายปีอยู่ที่ 2.8% โดยเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดของเงินเฟ้อพื้นฐานนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 วอลล์สตรีทคาดการณ์ไว้ว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.6% และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 3%

 

ราคาพลังงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่องช่วยให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงถึง 6.3% เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้ดัชนีพลังงานโดยรวมลดลง 2.4%

 

ขณะที่ราคาสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมีนาคม โดยเฉพาะราคาไข่ที่เพิ่มขึ้นอีก 5.9% และพุ่งสูงขึ้นถึง 60.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

 

นอกจากนี้ ราคาค่าที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ดื้อด้านที่สุดของเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือนมีนาคม และเพิ่มขึ้น 4% แบบรายปี ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021

 

ราคายานพาหนะมือสองลดลง 0.7% ขณะที่ราคารถใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ภาษีนำเข้าจะถูกบังคับใช้และคาดว่าจะกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างรุนแรง ค่าโดยสารเครื่องบินลดลง 5.3% ในเดือนมีนาคม ขณะที่เบี้ยประกันภัยรถยนต์ลดลง 0.8% และราคายาใบสั่งแพทย์ลดลง 2%

 

รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่เพียงหนึ่งวันหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ พลิกแผนภาษีของเขาอย่างน่าประหลาดใจ โดยประกาศเลื่อนการบังคับใช้ภาษีที่รุนแรงที่สุดบางรายการที่เคยตั้งไว้กับหลายสิบประเทศ โดยแทนที่จะเดินหน้าตามแผนเดิม เขายังคงไว้ซึ่งภาษีแบบครอบคลุม 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดที่ประกาศไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน พร้อมกำหนดช่วงเวลา 90 วันสำหรับการเจรจาเพื่อตัดสินใจว่าจะขึ้นภาษีมากกว่านี้หรือไม่

 

ประธานาธิบดี ทรัมป์ เรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เจ้าหน้าที่ Fed แสดงท่าทีลังเลที่จะดำเนินการ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนทางนโยบายอยู่มาก และการประเมินของตลาดบ่งชี้ว่า Fed น่าจะรอจนถึงเดือนมิถุนายนก่อนจะปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้ง

 

ลักษณะของมาตรการขึ้นภาษีทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเกิดแรงกดดันเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่แน่ชัดนัก หลังจาก Trump เปิดช่องเจรจาเรื่องภาษี หลังรายงาน CPI ตลาดยังไม่เปลี่ยนแปลงคาดการณ์เกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยมากนัก โดยนักลงทุนยังคาดการณ์ว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ย 3 ถึง 4 ครั้งภายในสิ้นปีนี้

 

ราคาทองคำพุ่งขึ้นเกือบ 3% โดยแตะระดับสูงสุดตลอดกาล (All-time high) ในวันพฤหัสบดี เนื่องจากการอ่อนค่าของดอลลาร์และสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งทำให้นักลงทุนหันไปหาทองคำที่เป็นสินทรัพย์ที่หลบภัย (safe-haven)

 

Nikos Tzabouras นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสจาก tradu.com กล่าวว่า ทองคำฟื้นตัวจากความน่าสนใจในฐานะสินทรัพย์ที่หลบภัยและมีแนวโน้มที่จะทำสถิติสูงสุดใหม่ อย่างไรก็ตาม โอกาสในการทำข้อตกลงกับคู่ค้าถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อศักยภาพขาขึ้นของทองคำ เนื่องจากอาจสร้างแรงกดดันต่อโลหะชนิดนี้อีกครั้ง นอกจากนี้ อาจมีอุปสรรคจากการลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งอาจทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้

 

ภาพ: Joe Raedle / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising