×

ไทยและอินโดฯ ต้องระวัง ‘ไอวอรีโคสต์’ ผงาดขึ้นแท่นผู้ผลิตยางพาราอันดับ 3 ของโลก แซงหน้าเวียดนาม หลังผลผลิตพุ่งเกือบ 2 เท่าตัวใน 4 ปี

30.10.2024
  • LOADING...

ไอวอรีโคสต์ ประเทศในแอฟริกาตะวันตก กำลังก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตยางพารารายสำคัญด้วยผลผลิต 1.55 ล้านตันในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี 2019 แซงหน้าเวียดนามขึ้นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกรองจากไทยและอินโดนีเซีย

 

ปัจจัยหนุนการเติบโตมาจากการที่เกษตรกรหันมาปลูกยางพารา เนื่องจากมองว่ายางพาราให้รายได้ที่มั่นคงกว่าโกโก้ และกฎระเบียบ EUDR ของ EU ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปลายปี 2025 กำหนดให้สินค้าที่นำเข้า EU ต้องมีหลักฐานว่าไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า

 

สวนยางพาราในไอวอรีโคสต์ได้รับความช่วยเหลือในการปรับใช้มาตรฐานใหม่ เพื่อให้ผู้ผลิตล้อยางในยุโรปและลูกค้ารายอื่นๆ สามารถจัดหายางพาราที่สอดคล้องกับ EUDR ได้

 

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตาม EUDR เป็นเรื่องที่ท้าทาย มีความกังวลว่าผู้ซื้อจะหันไปหาเกษตรกรรายใหญ่ที่มีห่วงโซ่อุปทานที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ง่ายกว่า ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรรายย่อยต้องออกจากอุตสาหกรรม

 

ในทางกลับกัน เกษตรกรที่สามารถปฏิบัติตาม EUDR ได้ก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน “การบังคับใช้ EUDR กำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแหล่งที่มาของยางพาราธรรมชาติของเรา” ตัวแทนจากผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่กล่าว

 

ปัจจุบันอินโดนีเซียและไทยผลิตยางธรรมชาติประมาณครึ่งหนึ่งของโลก แต่อินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกมีผลผลิตลดลง 20% จากปี 2019 เหลือ 2.65 ล้านตันในปีที่แล้ว เนื่องจากจำนวนเกษตรกรที่ปลูกยางพาราลดลง

 

ชินอิจิ คาโต ประธานบริษัทค้ายางในโตเกียว กล่าวว่า “เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนเกษตรกรอย่างจริงจัง ทำให้มีการเปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมันและพืชอื่นๆ ในช่วงที่ราคายางตกต่ำเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว อีกทั้งยังมีความล่าช้าในการเปลี่ยนต้นยางเก่าเป็นต้นใหม่”

 

ในประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มข้อมูลที่ติดตามตำแหน่งของสวนยาง และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปยางพารา เพื่อให้สอดคล้องกับ EUDR

 

นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับอุปทานยางพารา เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาฝนตกหนักและน้ำท่วมตั้งแต่ฤดูร้อน ขณะที่ไต้ฝุ่นยางิก็สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อพื้นที่ปลูกยางพาราในเกาะไหหลำของจีนและทางตอนเหนือของเวียดนาม

 

โดยความกังวลเกี่ยวกับอุปทานและภาวะสินค้าคงคลังลดลงส่งผลให้ราคายางพาราในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยราคายางพาราในตลาดล่วงหน้าที่ซื้อขายกันมากที่สุดใน Osaka Exchange แตะระดับ 419.70 เยน (ประมาณ 92 บาท) ต่อกิโลกรัม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ซึ่งสูงกว่า 60% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2023 และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising