×

ไทยเตรียมนำเข้ายา ‘โมลนูพิราเวียร์’ รักษาโควิด คาดได้ใช้จริงธันวาคมนี้ หลังขึ้นทะเบียนกับ FDA สหรัฐฯ และ อย.ไทย

โดย THE STANDARD TEAM
06.10.2021
  • LOADING...
Molnupiravir

วันนี้ (6 ตุลาคม) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวความคืบหน้ายาต้านไวรัสโควิด ‘โมลนูพิราเวียร์’ ว่ายาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัส มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิดได้เกือบทุกสายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม เดลตา แกมมา หรือมิว 

 

ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยแบบ MOVe-IN Trial ในผู้ป่วยอาการหนัก พบว่าไม่ได้ผล แต่การศึกษาแบบ MOVe-OUT Trial ในผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลางที่ไม่ได้รับวัคซีน และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงอย่างน้อย 1 ปัจจัย ได้แก่ ภาวะอ้วน อายุมากกว่า 60 ปี เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง โดยให้ยาภายใน 5 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ พบว่าได้ผลดี

 

“จากการศึกษาผู้ป่วยในระยะที่ 3 จำนวน 775 ราย แบ่งเป็นกลุ่มได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ 385 ราย ขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 2 เวลา เช้าและเย็น เป็นเวลา 5 วัน และกลุ่มได้ยาหลอก 377 ราย พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงนอนโรงพยาบาลลงร้อยละ 50 และไม่มีผู้เสียชีวิต แต่การศึกษายังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็ก” นพ.สมศักดิ์กล่าว

       

นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า การนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยนั้น ต้องรอบริษัทผู้ผลิตขึ้นทะเบียนใช้ในกรณีฉุกเฉินกับ อย.สหรัฐฯ ก่อน แล้วจึงมาขึ้นทะเบียนกับ อย.ประเทศไทย คาดว่าจะนำเข้ามาได้จริงในช่วงธันวาคม 2564 – มกราคม 2565 โดยบริษัทคิดราคาตามลักษณะรายได้ของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ก็จะซื้อได้ในราคาถูกกว่าประเทศรายได้สูง 

 

สำหรับการนำมาใช้ ขณะนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมพิจารณาข้อมูลยาโมลนูพิราเวียร์ว่าจะนำมาใช้แทนยาฟาวิพิราเวียร์ หรือใช้ควบคู่ หรือใช้ร่วมกันเป็นสูตรค็อกเทล นอกจากนี้ ยังมีโครงการ MOVe-AHEAD หรือการศึกษายาโมลนูพิราเวียร์ในการป้องกันการติดเชื้อในผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโควิดแล้ว เป็นลักษณะของยา PEP ที่รับประทานเพื่อป้องกัน โดยจะศึกษาในประเทศไทยในโรงพยาบาล 5 แห่ง ซึ่งมีโรงพยาบาลราชวิถีร่วมด้วย อยู่ระหว่างขออนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คาดว่าจะทำการศึกษาได้ในเดือนธันวาคมนี้

 

ทั้งนี้ Merck และผู้ร่วมพัฒนาอย่าง Ridgeback Biotherapeutics กำลังอยู่ระหว่างยื่นเรื่องขออนุญาตใช้ยาต้านโควิดชนิดเม็ดนี้เป็นกรณีฉุกเฉินกับองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ถ้าได้รับการอนุมัติ โมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาต้านโควิดชนิดเม็ดตัวแรกที่ได้รับการรับรองจากทางการสหรัฐฯ และจากการเผยความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ราคาหุ้นของ Merck & Co ปรับตัวสูงขึ้นในชั่วข้ามคืน

 

โดย Merck ตั้งเป้าจะผลิตให้ได้ 10 ล้านคอร์สภายในปีนี้ ซึ่งทางการสหรัฐฯ เตรียมสั่งจองโมลนูพิราเวียร์แล้ว 1.7 ล้านคอร์ส หรือคิดเป็นเงินเกือบ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.04 หมื่นล้านบาท) และอาจสั่งจองเพิ่มอีก 3.5 ล้านคอร์สหากมีความจำเป็น เบื้องต้น Merck ได้ทำสัญญากับฐานการผลิตยาหลายแห่งในอินเดียเรียบร้อยแล้ว เพื่อกระจายยาต้านโควิดชนิดเม็ดอย่างโมลนูพิราเวียร์ให้ไปถึงประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางต่างๆ ที่อาจจะยังมีปัญหาด้านการเข้าถึงวัคซีนโควิด

 

อ่านเพิ่มเติม: 

 

ชมคลิป: 

  • โมลนูพิราเวียร์ ยาเปลี่ยนโลก พลิกวิกฤตสู่ความหวัง

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising