วันนี้ (29 ตุลาคม) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมด้วย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF) และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าว จัดการแข่งขันแบดมินตันระดับสูงสุดของโลก 3 รายการของ BWF World Tour ขณะที่ พอล อีริก โฮเยอร์ ประธาน BWF และ โธมัส ลุนด์ เลขาธิการ BWF ได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาร่วมงานแถลงข่าวนี้ด้วย ณ ห้องประชุม ชั้น 25 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย
โดยงานแถลงครั้งนี้ได้มีพิธีลงนามการจัดการแข่งขัน HSBC BWF World Tour ระหว่างสหพันธ์แบดมินตันโลกกับสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ โดยมีอนุทินและพิพัฒน์ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามด้วย
ทั้งนี้ การแข่งขันแบดมินตัน BWF 3 รายการในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นระดับสูงสุดของวงการแบดมินตันโลก ที่ทางสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ได้รับสิทธิ์จัดแข่งขัน ประกอบไปด้วย
- YONEX Thailand Open (Super 1000) ระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม 2564
เงินรางวัลรวม 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- TOYOTA Thailand Open (Super 1000) ระหว่างวันที่ 19-24 มกราคม 2564
เงินรางวัลรวม 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- HSBC BWF World Tour Finals ระหว่างวันที่ 27- 31มกราคม 2564
เงินรางวัลรวม 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยอนุทินได้กล่าวถึงการเตรียมพร้อม และเป้าหมายของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันทั้ง 3 รายการ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของแบดมินตันที่จัดขึ้นในประเทศเดียวถึง 3 รายการติดต่อกันว่า
“ด้วยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข ทางสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ, การกีฬาแห่งประเทศไทย, กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใจัดการป้องกันควบคุมโรคในสถานที่จัดการแข่งขัน และสถานที่พักของนักกีฬา อย่างเข้มข้น และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับคนไทย นักกีฬาและสตาฟฟ์โค้ชของแต่ละประเทศ ทำให้สหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF) ให้การยอมรับในมาตรการป้องกันโรคของไทยด้วยนั้น และจากที่ประชุม ศบค. ให้ความเห็นชอบในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาแบดมินตันโลกครั้งนี้ เพื่อให้เป็นตัวอย่างของการจัดการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติในประเทศไทย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความสมดุลทางด้านเศรษฐกิจกับมาตรการป้องกันโรค และสนับสนุนส่งเสริมการนำรายได้เข้าประเทศในรูปแบบใหม่ด้วย”
อย่างไรก็ตาม อนุทินเชื่อว่าสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันจะไม่ส่งผลกระทบกับการเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งกีฬาแบดมินตันในครั้งนี้
“การที่ไทยเป็นเจ้าภาพรายการใหญ่แบบนี้ ถือเป็นเรื่องดีกับคนไทยทั้งประเทศ เชื่อว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งกระทบต่อการแข่งขัน” อนุทินกล่าว
ด้านพิพัฒน์ได้กล่าวว่า การแข่งขันแบดมินตันในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว และยังเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาชั้นนำ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มุ่งพัฒนาและบูรณาการด้านการท่องเที่ยวและกีฬา นอกจากนี้ การจัดการแข่งขันแบดมินตันระดับโลกทั้ง 3 รายการดังกล่าว ยังสามารถเป็นบรรทัดฐานให้กับการจัดการแข่งขันกีฬาอื่นๆ ในประเทศไทยอีกด้วย
ส่วน ดร.ก้องศักด กล่าวว่า การกีฬาแห่งประเทศไทยพร้อมให้ความร่วมมือ และสนับสนุนการจัดการแข่งขันทั้ง 3 รายการดังกล่าวอย่างเต็มที่ ในด้านงบประมาณจัดการแข่งขันจะใช้จากงบกลาง และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจและแผนยุทธศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2564-2570) ในการส่งเสริม สนับสนุนการจัดกิจกรรมและการแข่งขันกีฬา เพื่อสร้างโอกาสและประสบการณ์ให้กับนักกีฬา บุคลากรกีฬา รวมทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ นอกจากนี้ การจัดการแข่งขันแบดมินตันระดับโลกทั้ง 3 รายการ ยังนับเป็นโอกาสดีที่บุคคลสำคัญด้านการกีฬาและการสาธารณสุข ได้มาร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรการกักตัวสำหรับนักกีฬาต่างชาติที่เดินทางมาร่วมการแข่งขัน และนี่จะเป็นแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับการจัดการแข่งขันกีฬาแบบ ‘New Normal’ และจะเป็นการ ‘รีสตาร์ท’ วงการกีฬาไทย เพื่อให้ทุกชนิดกีฬาสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมได้อีกครั้ง
ส่วนคุณหญิงปัทมากล่าวว่า ขอขอบพระคุณรัฐบาลไทยที่ทำให้ความฝันของคนทั้งโลกเป็นจริง ด้วยการจัดการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์โลก 3 รายการแข่งขันอันยิ่งใหญ่ กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ศึกแบดมินตันแห่งศตวรรษ แมตช์หยุดโลก จะถูกจัดขึ้นครั้งแรกในรอบ 110 ปี ตั้งแต่กำเนิดกีฬาแบดมินตัน ช่วงวันที่ 12-31 มกราคมที่จะถึงนี้ สปอตไลต์จะฉายส่องมายังประเทศไทย สะกดแฟนกีฬาทั่วโลกหลายพันล้านครัวเรือน ที่เฝ้าติดตามชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์โลกทั้ง 3 รายการ
“ขอขอบพระคุณกระทรวงสาธารณสุข สำหรับมาตรการที่เข้มงวดสูงสุด ในการควบคุมการแพร่ระบาด และดูแลสุขภาพของนักกีฬาและผู้ติดตาม รวมถึงทีมงานชาวไทย และทุกภาคส่วนใน Bubble Quarantine ให้ปราศจากความเสี่ยง และสร้างความมั่นใจให้กับนักกีฬาอันดับมือ 1-40 ของโลก
“เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่จะปรากฏในเรซูเมของประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่นแก่องค์กรกีฬาระดับโลกในการพิจารณาประเทศไทย สำหรับการสมัครแข่งขันเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาระดับโลก และรายการแข่งขันกีฬาอื่นๆ ในระดับชิงแชมป์โลก เพราะการแข่งขันในเดือนมกราคมที่จะมาถึงนี้ ได้บอกถึงทักษะและความสามารถโดดเด่นที่สุดที่ไม่มีประเทศใดทำได้ ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของโลกในการจัดการแข่งขันกีฬา สมดังปณิธานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” คุณหญิงปัทมากล่าว
สำหรับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดระหว่างการจัดการแข่งขัน ซึ่งจะมีนักกีฬาชั้นนำเดินทางมาจากทั่วโลกนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า รูปแบบการจัดการแข่งขันกีฬา ภายใต้หลักการ ‘ผลตรวจที่ไม่พบเชื้อ จากการตรวจหาเชื้อบ่อยๆ ก่อนทำกิจกรรมร่วมกัน จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้’ ประกอบด้วย ให้มีการจัดการฝึกซ้อมเป็นรายประเทศได้ เมื่อนักกีฬาและสตาฟฟ์โค้ชของประเทศนั้นมีผลตรวจเป็นลบ หลังจากเดินทางเข้าพักในโรงแรมอย่างน้อย 1 วัน ตามกำหนดการจองตามกรอบเวลาที่กำหนด ทำให้การผ่อนคลายให้นักกีฬาและสตาฟฟ์โค้ชจากประเทศเดียวกันสามารถฝึกซ้อมร่วมกันได้ หลังจากการฝึกซ้อมครบ 7 วัน สามารถทำการแข่งขันได้ ซึ่งต้องมีผลตรวจเป็นลบแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง จากการตรวจหาโควิด-19 และได้กำหนดมาตรการร่วมกับโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ
สำหรับมาตรการการป้องกันเบื้องต้นจากการที่สื่อมวลชนได้ทำการสอบถาม คุณหญิงปัทมากล่าวเพิ่มเติมว่า ในเวลานี้สถานที่จัดการแข่งขันยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนมาตรการสำหรับนักกีฬาและทีมงานที่จะเดินทางมาจากทั่วโลก เบื้องต้นจะต้องเข้าสู่การกักตัวเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน ในพื้นที่ของการแข่งขันคล้ายกับรูปแบบของลีกบาสเกตบอล NBA Bubble ที่นักกีฬาและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องอยู่ในพื้นที่ของการแข่งขันตลอดทัวร์นาเมนต์
โดยนักกีฬาหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกคนจะต้องเดินทางเข้าร่วมภายในพื้นที่การแข่งขันก่อนวันที่ 4 มกราคม และจะได้รับการตรวจเชื้อตั้งแต่วันที่เดินทางถึงเมืองไทย และจะเข้าทำการกักตัว
ต่อด้วยการตรวจครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 นับจากวันที่เดินทางถึงประเทศไทย ก่อนลงทำการแข่งขันรายการแรก YONEX Thailand Open (Super 1000) ระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม ซึ่งจะเป็นการแข่งขันแบบปิด ยังไม่ให้แฟนกีฬาและสื่อมวลชนเข้าชมการแข่งขัน
ต่อมาจะทำการตรวจเชื้อเป็นครั้งที่ 3 ก่อนที่ทุกฝ่ายเริ่มเปิดทำการแข่งขันรายการที่ 2 คือ TOYOTA Thailand Open (Super 1000) ระหว่างวันที่ 19-24 มกราคม โดยในรายการที่ 2 นี้จะทำการเปิดให้แฟนกีฬาเข้าชมการแข่งขันได้ตามจำนวนที่สถานที่สามารถจัดได้อย่างปลอดภัย รวมถึงสื่อมวลชนสามารถเข้าทำข่าวประชาสัมพันธ์การแข่งขันได้ แต่ทุกคนยังต้องอยู่ภายใต้มาตรการการป้องกัน เช่น แฟนกีฬาและ สื่อมวลชนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาในพื้นที่ของการแข่งขัน โดยในขณะนี้ยังคงมีการปรึกษากันว่าควรทำการตรวจเชื้อมากกว่า 3 ครั้งตามที่กำหนดเบื้องต้นหรือไม่ นอกจากนี้หากมีการค้นพบผู้ติดเชื้อ นักกีฬาคนดังกล่าวจะถูกแยกออกไปทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตามขั้นตอน
สำหรับการจัดการแข่งขันครั้งนี้ ด้านตัวแทนจาก BWF ทั้ง พอล อีริก โฮเยอร์ ประธาน BWF และ โธมัส ลุนด์ เลขาธิการ BWF ได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้แสดงความเชื่อมั่นว่าเจ้าภาพจัดการแข่งขันจะสามารถสร้างมาตรฐานการจัดการแข่งขันแบดมินตันที่ปลอดภัย ในช่วงที่วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่จบลง เพื่อเป็นต้นแบบของการจัดการแข่งขันกีฬาแบดมินตันในระดับสากลได้อีกครั้ง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์