×

งานวิจัยพบไทยมีตัวเลขฆ่าตัวตายจากวิกฤตโควิด-19 ใกล้เคียงเสียชีวิตจากการติดเชื้อ สะท้อนการจัดการล้มเหลว

โดย THE STANDARD TEAM
24.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า นับตั้งแต่วันที่ 1-21 เมษายน 2563 มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 คน อีก 10 คนยังไม่เสียชีวิต 
  • หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน (1-21 เมษายน 2563) พบว่าจำนวนของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในจำนวนที่เท่ากันคือ 38 ราย
  • การฆ่าตัวตายเป็นโศกนาฏกรรมที่สามารถป้องกันได้ หากรัฐบาลมีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นจึงเป็นข้อบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการจัดการของรัฐอย่างรุนแรง จนกระทั่งมีคนกลุ่มหนึ่งต้องตัดสินใจฆ่าตนเองเพื่อให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่

วันนี้ (24 เมษายน) โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้แถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ ‘ฆ่าตัวตาย’ จากโควิด-19 โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสังคมไทย รัฐบาลได้เลือกใช้มาตรการอย่างเข้มงวดและรุนแรงในการควบคุมโรค เช่น นโยบายการปิดห้างสรรพสินค้า, การรณรงค์ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’, การปิดเมือง หรือล็อกดาวน์ ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายของประชาชนได้อย่างเสรี, การปิดสถานบันเทิง, การปิดตลาดนัด ไม่อนุญาตให้นั่งในร้านอาหาร ฯลฯ ในด้านหนึ่งดูราวกับว่าสังคมไทยจะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุของโควิด-19 มีจำนวนที่น้อยลงเป็นอย่างมากในช่วงเดือนเมษายน 2563 แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่ายินดีสำหรับพวกเราทุกคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมแห่งนี้

 

อย่างไรก็ตาม ก็ปรากฏข่าวการฆ่าตัวตายของประชาชนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน และมีข้อมูลที่แสดงอย่างชัดเจนว่าเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากมาตรการต่างๆ ของรัฐที่ได้ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ 22 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากมาตรการของรัฐมุ่งเน้นการจัดการด้านสาธารณสุข แต่ละเลยการจัดเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที โครงการวิจัยฯ มีสมมติฐานว่าผลกระทบต่อประชาชนจะเกิดติดตามมาอย่างชัดเจนและรุนแรงขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ จึงได้ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มาจนถึงวันที่ 21 เมษายน 2563 เป็นต้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากมาตรการของรัฐในการรับมือกับโควิด-19 ด้วยการรวบรวมข้อมูลของสื่อมวลชนที่มีการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายและมีข้อมูลรายละเอียดที่ยืนยันหรือแสดงให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายนั้นมีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับนโยบายหรือมาตรการของรัฐ เช่น เว็บไซต์มติชน, ไทยรัฐ, ผู้จัดการ, อัมรินทร์, ช่อง one31 ฯลฯ

 

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า นับตั้งแต่วันที่ 1-21 เมษายน 2563 มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 คน อีก 10 คนยังไม่เสียชีวิต 

 

หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน (1- 21 เมษายน 2563) พบว่าจำนวนของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในจำนวนที่เท่ากันคือ 38 ราย ดังกราฟเปรียบเทียบ

 

 

จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายมีจำนวนไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับให้ความสำคัญเฉพาะการเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยตรง ดังที่มีการแถลงข่าวรายวัน การประกาศใช้มาตรการอย่างเข้มงวด การทุ่มเททรัพยากรอย่างมหาศาล แต่แทบไม่ให้ความสำคัญต่อผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐ การฆ่าตัวตายเป็นโศกนาฏกรรมที่สามารถป้องกันได้ หากรัฐบาลมีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นจึงเป็นข้อบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการจัดการของรัฐอย่างรุนแรง จนกระทั่งมีคนกลุ่มหนึ่งต้องตัดสินใจฆ่าตนเองเพื่อให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่ หลายกรณีปรากฏอย่างชัดเจนว่าความล่าช้าและความไร้ประสิทธิภาพในกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาทคือสาเหตุแห่งการฆ่าตัวตาย

 

นอกจากนี้หากพิจารณาในรายละเอียดของผู้ที่ทำการฆ่าตัวตายจะพบว่า

  • เป็นเพศชาย จำนวน 27 ราย เพศหญิง จำนวน 11 ราย
  • เป็นลูกจ้างหรือผู้ประกอบการอิสระ 35 ราย เช่น พ่อค้าแม่ค้า, คนขับรถ, เด็กเสิร์ฟ, ช่างเชื่อม ฯลฯ เป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจรายย่อย จำนวน 3 ราย
  • อายุเฉลี่ย 40 ปี

 

ข้อเท็จจริงข้างต้นสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายและมาตรการของรัฐคือกลุ่มลูกจ้างและแรงงานอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนจนเมืองซึ่งต้องตกงาน แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาจากทางภาครัฐอย่างทันท่วงที และผู้ประกอบการรายย่อยเป็นอีกส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ส่วนใหญ่ของผู้ที่ฆ่าตัวตายเป็นผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและมีบทบาทสำคัญในการเป็นเสาหลักหรือรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายของครอบครัว ดังนั้นเมื่อต้องเผชิญกับการตกงานหรือไม่มีงานทำอย่างเฉียบพลันก็นำมาซึ่งแรงกดดันอันมหาศาลทั้งต่อตนเองและครอบครัว

 

จากข้อมูลที่ได้รวบรวมและนำเสนอเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายจากโควิด-19 คณะนักวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าดังนี้

 

ประการแรก รัฐบาลควรตระหนักให้มากกว่านี้ว่าการฆ่าตัวตายของประชาชนเป็นผลจากมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด แต่กลับไม่มีมาตรการในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงทีและครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนทุกกลุ่ม เราหวังว่ารัฐบาลจะมีมโนธรรมสำนึกและพยายามป้องกันไม่ให้เกิดเหตุฆ่าตัวตายขึ้นอีก อย่างน้อยต้องมีการจัดเตรียมสายด่วนให้ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสได้แจ้งปัญหา และมีเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ก่อนที่ประชาชนจะตัดสินใจฆ่าตัวตายไปมากกว่านี้ ข่าวประชาชนฆ่าตัวตายจากพิษโควิด-19 ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกนับแต่นี้เป็นต้นไป

 

ประการที่สอง รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนการให้เงินเยียวยาในโครงการเราไม่ทิ้งกันให้กว้างขวางและรวดเร็วบนฐานคิด ‘ช่วยเหลือให้ถ้วนหน้า’ ไม่ใช่ ‘สงเคราะห์เพียงบางคน’ การเรียกร้องให้ประชาชน ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ เพียงด้านเดียว แต่การช่วยเหลือไม่ทันท่วงทีจะทำให้มีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังและข้างทางเป็นจำนวนมหาศาล มาตรการเยียวยาจึงต้องชัดเจนและฉับไวมากขึ้น รวมทั้งการกระจายปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างเป็นระบบ มิใช่รอให้เป็นการแจกจ่ายในหมู่ประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว

 

ประการที่สาม ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงในระดับสูงจำเป็นต้องมีการ ‘เปิดพื้นที่แบบมีการจัดการ’ เช่น ตลาด ร้านค้ารายย่อย เพื่อให้ประชาชนพอมีพื้นที่ทำมาหากินเลี้ยงชีวิตของตนเองและครอบครัวได้ ช่วงเวลาที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าหากมีการจัดการที่มีระบบ และด้วยความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ทั้งประชาชน องค์กรเอกชน และหน่วยงานรัฐ ก็จะสามารถมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยได้ไปพร้อมกัน

 

ประการที่สี่ รัฐบาลต้องยกเลิกการใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความยุ่งยากในการแจกจ่ายอาหารของประชาชน, การข่มขู่ว่าจะมีการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อผู้ประสงค์จะแจกอาหาร, การจับกุมคนไร้บ้านด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, การจับกุมและลงโทษบุคคลด้วยมาตรฐานที่แตกต่างกันในการกระทำเดียวกัน ฯลฯ

 

แน่นอนว่าการรับมือกับโควิด-19 เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ในขณะเดียวกัน การใช้มาตรการเพื่อรับมือกับปัญหานี้ก็ควรต้องเป็นไปเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถก้าวพ้นจากปัญหาไปได้ รัฐบาลไม่ควรใช้นโยบาย กฎหมาย หรือมาตรการอย่างเข้มข้น จนสร้างภาระและความเดือดร้อนให้กับประชาชนในระดับที่ไม่สามารถประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

 

การดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นแต่การควบคุมโรคโดยปราศจากความรู้และความเข้าใจถึงชีวิตของประชาชนคนธรรมดาอาจทำให้เราได้สังคมที่หลุดพ้นไปจากโควิด-19 หากแต่จะดาษดื่นไปด้วยซากศพของประชาชนในระหว่างทาง กรณีเช่นนี้ย่อมไม่อาจนับว่าสังคมไทยประสบความสำเร็จในการเผชิญหน้ากับการรับมือกับโรคร้ายครั้งนี้แต่อย่างใด

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising