×

ไทยประกาศเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขั้นต่ำ 15% เริ่ม 1 ม.ค. 68 เข้าร่วม Global Minimum Tax หนุนระบบภาษีที่เป็นธรรมมากขึ้น

28.12.2024
  • LOADING...

ไทยประกาศเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขั้นต่ำ 15% เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2568 เฉพาะกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร ส่งผลให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วม Global Minimum Tax เพื่อช่วยสนับสนุน ‘การเก็บภาษีจากธุรกิจข้ามชาติที่เป็นธรรมมากขึ้น’

 

วานนี้ (27 ธันวาคม) ปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้แก่นิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises: MNEs) ขนาดใหญ่ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร (หรือราว 2.6 หมื่นล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 28 ธันวาคม) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เสนอร่างพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตรา 20% อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จึงจะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี ทำให้การจ่ายอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่า 15%

 

ดังนั้นเมื่อพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มมีผลบังคับใช้ บริษัทหลายแห่งจึงจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่ม (Top-Up Tax) เพื่อให้ถึงขั้นต่ำที่ 15%

 

ทำไมไทยต้องเข้าร่วม Global Minimum Tax?

 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจข้ามชาติต่างๆ พยายามจัดสรรกำไรและกระจายเงินลงทุนในต่างประเทศที่มีมาตรการดึงดูดการลงทุนต่างๆ รวมถึงสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้ประเทศต่างๆ แข่งขันกันลดภาษีให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน จนอัตราภาษีที่แท้จริงนั้นลดต่ำลงเรื่อยๆ

 

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จึงเสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศต่างๆ เก็บภาษีจากธุรกิจข้ามชาติให้เป็นธรรมมากขึ้น โดยไทยเป็นประเทศล่าสุดที่เข้าร่วม

 

แถลงการณ์ของกรมสรรพากรยังระบุว่า “การตราพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรักษาสิทธิในการจัดเก็บภาษี อันเป็นการรักษาประโยชน์แห่งชาติ เนื่องจากหากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม จะสูญเสียรายได้ภาษีส่วนเพิ่มที่ควรจัดเก็บได้ให้แก่ประเทศอื่นที่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจนกว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายดังกล่าว”

 

โดยประเทศที่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแล้วตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2567 มี 28 ประเทศ เช่น กรีซ, เกาหลีใต้, แคนาดา, ญี่ปุ่น, เดนมาร์ก, ตุรกี, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, ฝรั่งเศส, ฟินแลนด์, เยอรมัน, สเปน, สวีเดน, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, อิตาลี, ไอร์แลนด์ และเวียดนาม

 

นอกจากนี้ ประเทศที่คาดว่าจะบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2568 เช่น มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และฮ่องกง

 

บริษัทใดได้รับผลกระทบบ้าง?

 

พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มบังคับใช้เฉพาะกลุ่ม MNEs ขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่ากลุ่ม MNEs ของไทยที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือกลุ่ม MNEs ของต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทย ที่มีรายได้ตามงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statements) ของบริษัทแม่ลำดับสูงสุดไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร อย่างน้อย 2 ใน 4 รอบระยะเวลาบัญชี ก่อนหน้ารอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่ม โดยให้เสียภาษีขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ในอัตราที่กำหนด เพื่อจำกัดการแข่งขันทางภาษี

 

ทั้งนี้ กรมสรรพากรยกร่างพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มตามแนวทางมาตรฐานที่ OECD จัดทำขึ้น การปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่มของประเทศไทยจึงเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่มของนานาประเทศ อันเป็นการลดภาระการปฏิบัติตามกฎหมายให้แก่กลุ่ม MNEs ที่ลงทุนในประเทศไทย

 

ปิ่นสายกล่าวอีกว่า “การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจะเป็นประโยชน์แก่การส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยบนพื้นฐานของความยั่งยืนทางการคลัง หลังจากนี้กรมสรรพากรจะเสนอกฎหมายลำดับรอง กำหนดรายละเอียดต่างๆ ตามแนวทางมาตรฐานที่ OECD กำหนด สำหรับวิธีการยื่นแบบแสดงรายการภาษี, การชำระภาษี, การยื่น GloBE Information Return และการแจ้งข้อมูลนั้น กรมสรรพากรจะอำนวยความสะดวกให้ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่ม กรมสรรพากรจะจัดสัมมนาและจัดทำบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) สร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้เสียภาษีและผู้เกี่ยวข้อง เช่น ที่ปรึกษาภาษีและผู้สอบบัญชี จึงขอให้ติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์และสื่อสังคมของกรมสรรพากร”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X