สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของประเทศไทย ปี 2022 ขยายตัว 2.6% จากปีก่อน นับเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในหมู่ 6 เศรษฐกิจอาเซียน เหตุการส่งออกสินค้าและการอุปโภคภาครัฐปรับตัวลดลง แม้อุปโภค-บริโภคและการลงทุนของเอกชนยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี การลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้น
สำหรับประเทศที่ขยายตัวมากที่สุดในปีที่ผ่านมาคือ มาเลเซีย ขยายตัว 8.7% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งและการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังจีนเปิดประเทศ ได้ช่วยชดเชยความต้องการสินค้าจากมาเลเซียที่ชะลอตัวลงได้ ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รองลงมาคือ เวียดนามที่ 8.0% และฟิลิปปินส์ที่ 7.6%
ส่วนอินโดนีเซียรั้งอันดับ 4 โดยมีแรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิดของรัฐบาล ที่ทำให้การบริโภคของภาคครัวเรือนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้อินโดนีเซียซึ่งเป็นซัพพลายเออร์น้ำมันปาล์ม แร่นิกเกิล และถ่านหินเชื้อเพลิงให้ความร้อนหลักของโลก ยังได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่ทำให้การส่งออกภาคบริการฟื้นตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย