×

มีแนวโน้มดีขึ้น! คลังปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ไทยปี 2567 เป็นโต 2.7% จาก 2.4% ชี้ยังไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต

26.07.2024
  • LOADING...
GDP

เผ่าภูมิเผย GDP ไทยมีโอกาสขยายตัว 3% ในปีนี้ หลังคลังปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ไทยปี 2567 เป็น 2.7% จาก 2.4% ซึ่งยังไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต สาเหตุจากท่องเที่ยว ส่งออก และการเบิกจ่ายภาครัฐ ‘ดีกว่าคาด’ ประเมิน GDPไตรมาส 2 มีโอกาสโตแรงทะลุ 2%

 

วันนี้ (26 กรกฎาคม) เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3% เนื่องจากรัฐบาลกำลังทำงานอย่างเต็มที่ และมาตรการต่างๆ ที่ออกไปแล้วบางส่วนยังไม่มีผลหรือลงไปสู่เศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) มูลค่า 1 แสนล้านบาท และมาตรการทางภาษีต่างๆ ที่จะเข้าไปดูแลและดึงดูดการลงทุนต่างๆ รวมทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายรัฐบาล

 

โดยในการแถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวที่ 2.7% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2-3.2%) ขยายตัวจากปี 2566 ที่ขยาย 1.9% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ

 

ทั้งนี้ ผลประมาณการดังกล่าวไม่ได้นับรวมผลจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่คาดว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 1.2-1.8% ตลอดทั้งโครงการ

 

เปิดสาเหตุปรับขึ้น GDP ปี 2567

 

โดยผลประมาณการ GDPล่าสุดนี้ได้ ‘ปรับเพิ่มขึ้น’ เมื่อเทียบกับผลประมาณการเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ 2.4% เนื่องจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

 

  1. การส่งออกสินค้ามีสัญญาณขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 3.2%
  2. จำนวนและรายได้ที่ได้รับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงกว่าที่คาดการณ์ สะท้อนผลตอบรับที่ดีจากมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวของภาครัฐ
  3. การเบิกจ่ายภาครัฐที่ดีกว่าที่คาดการณ์จากการเตรียมความพร้อมเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ และมีทิศทางเร่งขึ้นต่อเนื่องในช่วงท้ายของปีงบประมาณ 2567

 

คลังคาด GDP ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวทะลุ 2%

 

ขณะที่ พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดีขึ้น สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง (Real VAT) ขยายตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาส และนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น 26.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

โดยภายใต้ประมาณการปัจจุบัน สศค. ระบุว่า GDPในไตรมาส 2 น่าจะออกมาดีกว่าไตรมาสแรก และมีแนวโน้มขยายตัวมากกว่า 2% หลังจากไตรมาสที่ 1 ขยายตัวเพียง 1.5%

 

จับตา 5 ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง

 

อย่างไรก็ตาม พรชัยแนะว่ายังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด ได้แก่

 

  1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และความกังวลเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้เกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์หลังมีการซ้อมรบของกองทัพเรือจีนและรัสเซียในบริเวณดังกล่าว
  2. ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก และปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
  3. ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่
  4. การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์
  5. ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป

 

เปิดปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงที่เหลือของปี

 

  1. การใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายลงทุนที่ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายในทุกหน่วยงาน
  2. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศ โดยเฉพาะในช่วง High Season
  3. การเร่งรัดการลงทุนของโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ 8 ด้านภายใต้กรอบนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X