×

น้ำยังท่วม 16 จังหวัด กระทบ 2.5 แสนคน ตาย 6 ขอนแก่น-นครสวรรค์วิกฤตสุด เขื่อนอุบลรัตน์อั้นไม่อยู่

20.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • 16 จังหวัดยังคงเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม รวมพื้นที่ทั้งหมด 57 อำเภอ 366 ตำบล ได้รับผลกระทบ 249,844 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย
  • ขอนแก่นถือเป็นอีกจังหวัดที่กำลังเผชิญกับอุทกภัยในระดับวิกฤต โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังกระแสน้ำจากแม่น้ำพองได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำพองอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชีวิตประจำวันของประชาชนเต็มไปด้วยความยากลำบาก
  • เช่นเดียวกับจังหวัดนครสวรรค์ ที่มีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 อำเภอ 45 ตำบล ซึ่งมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนรวมกว่า 38,470 คน

     สถานการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศยังคงไม่สามารถคลี่คลายโดยง่าย ประชาชนนับแสนต้องเผชิญหน้ากับอุทกภัยในระดับวิกฤต ท่ามกลางปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง นี่คือภาพรวมของน้ำท่วม 2560 ที่ต้องจับตามอง

 

 

เสียชีวิตสังเวยน้ำท่วมแล้ว 6 ราย เดือดร้อนเกือบ 2.5 แสนคน จับตาระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา

     สถานการณ์น้ำล่าสุดจากรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุว่า หลายจังหวัดยังเผชิญกับน้ำท่วม โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสาน 16 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร, ตาก, พิจิตร, นครสวรรค์, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุทธยา, เพชรบูรณ์, ลพบุรี, หนองบัวลำภู, ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี รวมพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด 57 อำเภอ 366 ตำบล ได้รับผลกระทบ 249,844 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย

     ส่วนสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศตามข้อมูลของกรมชลประทานระบุว่า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างรวมกัน 58,327 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 82% ของความจุอ่างรวมกันทั้งหมด และสามารถรองรับน้ำได้อีก 13,031 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 19,918 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 80% ของความจุรวมกัน

 

 

     โดยพื้นที่ที่กรมชลประทานกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดคือ แม่น้ำปิง บริเวณจังหวัดกำแพงเพชร หลังจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดตาก และอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำปิง ก่อนจะไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 20 เซนติเมตร และไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเขื่อนในหลายพื้นที่

     ซึ่งกรมชลประทานได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกโครงการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ นำถุงยังชีพและน้ำดื่มเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในพื้นที่แล้ว

 

 

ขอนแก่นวิกฤต น้ำพองทะลักท่วมนาข้าว 20,000 ไร่ เขื่อนอุบลรัตน์อั้นไม่อยู่ ชาวบ้านทิ้งบ้านอพยพนอนริมถนน

     ขอนแก่นถือเป็นอีกจังหวัดที่กำลังเผชิญกับอุทกภัยในระดับวิกฤต โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังกระแสน้ำจากแม่น้ำพองได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำพองอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชีวิตประจำวันของประชาชนเต็มไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะที่หมู่บ้านห้วยชัน หมู่ 4 ตำบลศิลา อำเภอเมือง ที่มีระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 80-130 เซนติเมตร ทำให้การเดินทางสัญจรต้องใช้เรือเท่านั้น รถยนต์ทุกชนิดไม่สามารถวิ่งเข้า-ออกได้

     ตลอดทั้งคืนผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า หลายครอบครัวต้องต่อขาเตียงนอนให้สูงพ้นน้ำเพื่อใช้เป็นที่หลับนอน บางครอบครัวต้องทิ้งบ้านชั่วคราวแล้วอพยพไปนอนบ้านญาติ รวมทั้งริมถนนที่เทศบาลเมืองศิลาได้นำเต็นท์มาตั้งไว้สำหรับเป็นจุดอพยพชั่วคราว

 

 

     ด้านนายทรงวุฒิ กิจวรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่นมีมติการประชุมให้เขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มปริมาณในการระบายน้ำขึ้นไปอีก จากเดิมวันละ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 54 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์จำนวนมาก ทำให้เขื่อนไม่สามารถรองรับน้ำได้อีกต่อไป

     “สาเหตุที่ต้องเร่งระบายน้ำออกจากตัวเขื่อน เนื่องจากพบว่ายังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่องวันละกว่า 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งภายในเวลา 3 ชั่วโมง ระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์จะสูงขึ้นกว่า 1 เซนติเมตร”

     นอกจากนี้ยังได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกรรมการหมู่บ้านให้เร่งแจ้งเตือนประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับริมฝั่งแม่น้ำพองในทุกพื้นที่ ให้เคลื่อนย้ายสิ่งของออกนอกบริเวณตั้งแต่เวลา 12.00 น. ที่ผ่านมา

     สำหรับพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่นที่ยังมีปัญหาน้ำท่วมประกอบด้วย ตำบลท่ากระเสริม อำเภอน้ำพอง, ตำบลศิลา ตำบลบึงเนียม ตำบลพระลับ ตำบลหนองตูม อำเภอเมืองขอนแก่น โดยทุกพื้นที่ยังคงอยู่ในสถานการณ์วิกฤต เนื่องจากเขื่อนอุบลรัตน์ไม่สามารถหยุดการระบายน้ำได้

 

 

นครสวรรค์อ่วม น้ำท่วมสูงกว่า 3 เมตร

     เช่นเดียวกับจังหวัดนครสวรรค์ที่มีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 อำเภอ 45 ตำบล ได้แก่ อำเภอเมือง, ตาคลี, โกรกพระ, ชุมแสง และท่าตะโก ซึ่งมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนรวมกว่า 38,470 คน

     โดยผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลบึงเสนาท อำเภอเมือง ที่ชาวบ้านต้องต่อนั่งร้านไว้ภายในบ้าน พร้อมเก็บของมีค่าไปไว้ใต้หลังคาบ้าน หลังระดับน้ำในพื้นที่ยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง

 

 

     ล่าสุดระดับน้ำในหมู่บ้านมีความสูงกว่า 3 เมตร บ้านบางหลังระดับน้ำสูงจนเกือบถึงหลังคาชั้น 2 ของบ้าน และไม่สามารถอยู่อาศัยภายในบ้านได้ และชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงไม่ไว้วางใจกับสถานการณ์น้ำ

     ล่าสุดกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครสวรรค์ ได้แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง น้ำไหลหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำเนื่องจากอาจมีฝนตกและน้ำเหนือจากจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ไหลมาสมทบอีกปริมาณมาก

 

 

กรมอุตุฯ ประกาศเตือนอากาศแปรปรวน 21-26 ต.ค. นี้ กระทบพื้นที่ตอนเหนือ

     ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 6 วันที่ 20 ตุลาคม 2560 ระบุว่า ในช่วงวันที่ 21-26 ตุลาคม 2560 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนชื้น ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวน ในช่วง 1-3 วันแรกจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง และฝนตกหนักบางพื้นที่ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-5 องศา โดยแบ่งเป็น

  • ช่วงวันที่ 21-22 ตุลาคม 2560 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดหนองคาย, บึงกาฬ, อุดรธานี, หนองบัวลำภู, เลย, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, นครราชสีมา, บุรีรัมย์ และสุรินทร์
  • ช่วงวันที่ 22-23 ตุลาคม 2560 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่

           –  ภาคเหนือ บริเวณจังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, ลำปาง, พะเยา, น่าน, แพร่, อุตรดิตถ์, เพชรบูรณ์, พิษณุโลก, พิจิตร, สุโขทัย และกำแพงเพชร

           –  ภาคกลาง บริเวณจังหวัดนครสวรรค์, ลพบุรี, สระบุรี, พระนครศรีอยุธยา, สิงห์บุรี, อ่างทอง, ชัยนาท, อุทัยธานี, สุพรรณบุรี, นครปฐม และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

           –  ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดนครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา และชลบุรี

  • ช่วงวันที่ 24-26 ตุลาคม 2560 ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อยลง ส่วนภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น

     จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากสภาพอากาศแปรปรวน และติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดในระยะนี้

 

Photo: ขอนแก่น : จักรพันธ์ นาทันริ, นครสวรรค์ : ประเสริฐ สุขศิริ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X