×

‘อยู่กับน้ำ’ คนไทยควรจัดการอย่างไร? แล้วใครคือบิดาแห่งการจัดการพื้นที่น้ำท่วม

03.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • อุทกภัย หรือภัยที่เกิดจากน้ำท่วม เป็นภัยธรรมชาติที่คนไทยทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยในเกือบทุกๆ ปี ภัยธรรมชาติชนิดนี้มักหวนกลับมาสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือน ทรัพย์สิน รวมถึงพื้นที่การเกษตร
  • กิลเบิร์ต เอฟ. ไวต์ นักภูมิศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา ‘บิดาแห่งการจัดการพื้นที่น้ำท่วม’ กล่าวไว้ว่า น้ำท่วมคือการกระทำของพระเจ้า (ธรรมชาติ) แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมเป็นการกระทำของมนุษย์เอง หากเราไม่ทำอะไรเลย ความเสี่ยงต่อความเสียหายอันเป็นผลมาจากน้ำท่วมจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเมืองริมน้ำต่างๆ เติบโตโดยขาดการควบคุมและไร้ทิศทาง บวกกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลให้เกิดพายุบ่อยขึ้นและน้ำทะเลที่สูงขึ้น

     ในฐานะนักภูมิศาสตร์ที่มีความสนใจในการศึกษาการปรับตัวของสังคมต่อภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม มีคนมากมายชอบถามผมว่า ‘ปีนี้น้ำจะท่วมอีกไหม?’ ซึ่งในทุกๆ ครั้งผมจะตอบว่าการเกิดน้ำท่วมเป็นเรื่องปกติ ตัวอย่างประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ก็ยังคงประสบกับความเสียหายจากน้ำท่วมเช่นกัน

     พวกเราเองต่างหากได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแล้วหรือยัง ผลกระทบอันเกิดจากน้ำท่วมนั้นจะรุนแรงมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับระดับ ‘การเตรียมตัวและเตรียมการ’ รับสถานการณ์

 

 

     อุทกภัย หรือภัยที่เกิดจากน้ำท่วม เป็นภัยธรรมชาติที่คนไทยทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยในเกือบทุกๆ ปีภัยธรรมชาติชนิดนี้มักหวนกลับมาสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือน ทรัพย์สิน รวมถึงพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้เศรษฐกิจฝืดเคือง นำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้การดำเนินชีวิตและการสัญจรไปมาเป็นไปอย่างยากลำบาก ตัวผมเองยังเคยตั้งคำถามว่าทำไมประเทศไทยถึงไม่สามารถจัดการกับปัญหาน้ำท่วมได้ ทั้งๆ ที่เราก็มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อีกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็มีการลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อการจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกคูคลอง การสร้างสิ่งก่อสร้างมากมายเพื่อจัดการกับการไหลของน้ำ ตลอดจนการเดินทางไปศึกษาดูงานการจัดการน้ำของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำแห่งการจัดการน้ำ

     แต่ทว่าปัญหาน้ำท่วมของประเทศไทยกลับไม่บรรเทาลงเลย และมีแต่จะเลวร้ายขึ้นทุกวัน

     เมื่อเกิดน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่อยู่อาศัย หลายๆ คนมักโทษว่าเกิดจากการวางแผนจัดการน้ำที่ผิดพลาดของภาครัฐ ความขัดแย้งทางด้านการเมือง การตัดไม้ทำลายป่า ความมักง่ายของคนในเมืองที่ทิ้งเศษขยะ เศษอาหาร สิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงบนพื้นถนน หรือทางระบายน้ำ ทำให้อุดตันท่อหรืออุโมงค์ระบายน้ำ การผันน้ำเพื่อไม่ให้เข้ามาท่วมพื้นที่เศรษฐกิจอย่างพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (ทั้งที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแท้จริงแล้วคืออะไร)

     จริงอยู่ที่ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานั้นเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายจากน้ำท่วม แต่ทว่าเหล่านี้เป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับปรากฏการณ์น้ำท่วมซึ่งมีมาตั้งแต่ในอดีต

 

กิลเบิร์ต เอฟ. ไวต์

 

     กิลเบิร์ต เอฟ. ไวต์ (Gilbert F. White) นักภูมิศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา ‘บิดาแห่งการจัดการพื้นที่น้ำท่วม’ กล่าวไว้ว่า น้ำท่วมคือการกระทำของพระเจ้า (ธรรมชาติ) แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมเป็นการกระทำของมนุษย์เอง (Floods are acts of God, but flood losses are largely acts of man.)

     สิ่งที่ไวต์หมายถึงก็คือ น้ำท่วมเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ราบลุ่ม (อาทิ พื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคกลางของประเทศไทย) พื้นที่ริมแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ หนอง ทะเล และทางไหลของน้ำที่ต้องไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ โดยน้ำท่วมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เกือบทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่กำลังพัฒนา และหากปรากฏการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่และไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่คนในสังคม ปรากฏการณ์น้ำท่วมนี้ก็จะไม่ถือว่าเป็นอุทกภัย

     ไวต์ได้เขียนในงานวิจัยระดับปริญญาเอกเรื่อง ‘การปรับตัวของมนุษย์ต่อน้ำท่วม’ (Human Adjustment to Floods) ของเขาที่มหาวิทยาลัยชิคาโกว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นด้วยสิ่งก่อสร้างทางวิศวกรรม เช่น เขื่อน กำแพงกั้นน้ำ หรือการขุดคลอง แม้จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้บ้าง แต่กลับส่งผลเสียต่อการจัดการกับพื้นที่น้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้คนเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในที่ดินที่เสี่ยงน้ำท่วมมากขึ้น นั่นเป็นเพราะสิ่งก่อสร้างเพื่อป้องกันหรือบรรเทาน้ำท่วมทุกชนิดล้วนมีข้อจำกัด การย้ายเข้ามายังพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติโดยมิได้เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น เช่น การพังของสิ่งสร้างต่างๆ เมื่อภัยพิบัติร้ายแรงกว่าข้อจำกัดของสิ่งก่อสร้างนั้นๆ การกระทำเช่นนี้เท่ากับทำให้สังคมมีความเปราะบาง ส่งผลให้สังคมไม่สามารถรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบหรือความเสียหายอันเป็นผลจากการเกิดภัยพิบัติได้

 

ดานิช มุสตาฟา

 

     ดานิช มุสตาฟา (Daanish Mustafa) นักภูมิศาสตร์ชาวปากีสถาน และอาจารย์ประจำ King’s College London ประเทศอังกฤษ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับน้ำท่วม และได้กล่าวในหนังสือ Water resource: Management in a vulnerable world ว่า สิ่งก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วม อาทิ กำแพงกั้นน้ำ ก่อให้เกิดความแตกแยกภายในสังคมสองฝั่งกำแพงกั้นน้ำ เนื่องจากความไม่พอใจของประชาชนที่กลุ่มหนึ่งต้องประสบภัยน้ำท่วม ในขณะกลุ่มอีกฝั่งของกำแพงได้รับการป้องกัน ปัญหาเหล่านี้อาจนำมาซึ่งความไม่เชื่อใจกันของคนในสังคม ตลอดจนส่งผลให้เกิดความขัดแย้งได้ในที่สุด

     สังคมไทยเองก็พบปัญหาคล้ายๆ กับการศึกษาของทั้งไวต์และมุสตาฟา ในปัจจุบันที่ดินที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมหลายๆ พื้นที่ของประเทศกลับเต็มไปด้วยถนนและตึกรามบ้านช่อง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการใช้ที่ดินอย่างไร้ระเบียบและผังเมืองบังคับใช้ไม่ได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นก็คือการที่ผู้อยู่อาศัยหลายๆ คนในพื้นที่เหล่านี้ไว้วางใจเจ้าหน้าที่วิศวกรมากเกินไป ไม่ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ของตนเอง ไม่เข้าใจนิเวศวิทยาทางน้ำว่าพื้นที่ที่ตนเองอยู่เป็นทางน้ำหรือเสี่ยงต่อน้ำท่วมหรือไม่ อย่างไร และไม่คิดที่จะทำความเข้าใจกับข้อจำกัดของสิ่งก่อสร้างต่างๆ แม้ว่าจะเคยประสบกับมหาอุทกภัยในปี 2540 และ 2554 มาแล้วก็ตาม

 

 

     นอกจากนี้หลายๆ คนก็ไม่คิดที่จะปรับตัวเพื่อลดความเปราะบางและความเสี่ยงของตนเองลง ทั้งยังคงมองว่าการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเป็นหน้าที่ของภาครัฐเพียงเท่านั้น สำหรับคนที่เรียนรู้และต้องการปรับตัวเพื่ออยู่กับน้ำให้ได้ต่างก็คิดหาวิธีรับมือที่ต่างกันไป เช่น การยกบ้านให้สูงขึ้น ยกระดับปลั๊กไฟให้สูงขึ้น เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ทนต่อน้ำท่วม เช่น ฝรั่ง พิกุล พุทรา มะกรูด มะพร้าว มะขาม มะขามเทศ มะตูม และละมุด รวมทั้งการซื้อเรือมาเก็บไว้ที่บ้าน ซึ่งวิธีการเหล่านั้นกลับไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ หรือขาดการสนับสนุนที่จำเป็น

     หากกล่าวไปแล้ว วิศวกรและหน่วยงานภาครัฐเองก็มีส่วนในการสร้างความเข้าใจผิดในสังคมด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศนั้นเน้นการพัฒนาโครงสร้างมากไป โดยไม่มองด้านอื่นๆ เลย ดังนั้นก่อนที่เราจะเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมนั้น พวกเราทุกคนต้องทำความเข้าใจและยอมรับให้ได้ก่อนว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทุกครั้งไม่ได้มีเฉพาะมิติด้านธรรมชาติหรือวิศวกรรมเท่านั้น แต่ยังมีมิติอื่นที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน เฉกเช่นเดียวกับกรณีศึกษาของไวต์และมุสตาฟา ที่ไม่ว่าจะเป็นมิติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ หรือวัฒนธรรม ล้วนอาจถูกมองข้ามหรือถูกจัดลำดับความสำคัญรองลงมา

 

 

     ในอดีต ชีวิตประจำวันของผู้คนในแถบเอเชียอาคเนย์ซึ่งรวมถึงคนไทยมีความเกี่ยวพันอยู่กับแม่น้ำและการเกิดน้ำท่วม จะปลูกบ้านก็ต้องเลือกปลูกในทำเลที่ใกล้แม่น้ำ หรือริมฝั่งแม่น้ำ วัดวาอารามส่วนมากก็ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ในส่วนน้ำท่วมนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบทางลบแล้วยังส่งผลกระทบทางบวกด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากน้ำท่วมมีส่วนช่วยในเรื่องการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าว อีกทั้งยังช่วยในการบำรุงดิน เพิ่มจำนวนน้ำใต้ดิน และส่งเสริมให้เกิดการขยายพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ รวมถึงช่วยในการชำระล้างของเสียและสิ่งโสโครกในชุมชนด้วย

     ภายหลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ ได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับแม่น้ำจึงเริ่มลดน้อยลง อีกทั้งประเทศไทยยังต้องการผลักดันให้ตนเองเป็นประเทศที่มีอารยะในสายตาของประเทศตะวันตกเพื่อจะได้ไม่ถูกล่าอาณานิคม ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เราเคยใช้เรือในการสัญจร ได้เปลี่ยนเป็นใช้รถและรถไฟ คลองและแม่น้ำสายเล็กที่เคยมีส่วนช่วยในการลำเลียงน้ำลงสู่อ่าวไทยกลับถูกถมกลบเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการสร้างถนนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ

 

 

     ไม่ใช่เพียงสังคมเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลง สังคมชนบทเองก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ น้ำท่วมเช่นกัน ที่เห็นได้ชัดก็คือการพัฒนาระบบชลประทาน ที่แม้ว่าจะดีต่อการขยายผลผลิตทางการเกษตร แต่กลับทำให้ชาวไร่ชาวนาเลิกมองเห็นถึงความสำคัญของน้ำท่วมต่อระบบนิเวศ อีกทั้งยังมองว่าน้ำท่วมเป็นการทำให้เสียโอกาสในการเพิ่มรายได้

     นอกจากการป้องกันน้ำท่วมที่เป็นปัญหาแล้ว การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยก็ยังมีปัญหาเช่นกัน หน่วยงานท้องถิ่นบางท้องถิ่นยังคงทำงานด้วยการใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เครือข่ายส่วนตัว ติดต่อขอความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ของตน พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดการแบ่งแยกกลุ่มคนภายในสังคม เป็นชุมชนของฉัน ชุมชนของเธอ จนกลายเป็นปัญหาขัดแย้งในที่สุด นอกจากนี้ปัญหาการเมืองท้องถิ่นก็อาจรุนแรงขึ้น ในขณะที่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบของส่วนกลางเข้าไปไม่ถึง ทั้งนี้ระบบความเชื่อเรื่อง ‘อำนาจ’ บวกกับ ‘คอร์รัปชัน’ ก็ยังคงทำให้ประชาชนหลายๆ คนต้องทนกับสภาพความเปราะบางที่สูงต่อไป

 

 

     หากเราไม่ทำอะไรเลย ความเสี่ยงต่อความเสียหายอันเป็นผลมาจากน้ำท่วมจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเมืองริมน้ำต่างๆ เติบโตโดยขาดการควบคุมและไร้ทิศทาง บวกกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลให้เกิดพายุบ่อยขึ้นและน้ำทะเลที่สูงขึ้น พวกเราต้องเตรียมความพร้อมโดยการพัฒนาความรู้และระบบการศึกษาที่จะทำให้คนตระหนักในความจริงของระบบนิเวศของตน อีกทั้งสังคมไทยควรจะมีการสร้างกลไกบางอย่างที่จะทำให้เกิดความร่วมมือและความสามารถในการรับรู้การเตือนภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามความจริง กล่าวคือรัฐหรือผู้เชี่ยวชาญจะต้องให้ความรู้ที่เป็นจริง แทรกเข้าไปในระบบคิดของคนในสังคมเพื่อสนับสนุนการเตรียมความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับแต่ละชุมชน และดำเนินการโดยคนในชุมชนเอง
     พวกเราต้องไม่ลืมว่าโครงการที่มีความสำเร็จในพื้นที่หนึ่งอาจจะใช้ไม่ได้เลยกับอีกพื้นที่หนึ่ง ดังนั้นการศึกษาวิจัยสนับสนุนแบบเชิงประจักษ์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

 

 

     ท้ายที่สุด พวกเราควรมีการทบทวนบทเรียนจากภูมิปัญญาของคนไทยในอดีต เพื่อเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขในช่วงที่มีน้ำท่วม ทั้งนี้ผมไม่ได้ต้องการให้สังคมไทยกลับไปเป็นเหมือนเมื่อหลายร้อยปีก่อน

     ผมมองว่าการที่สังคมไทยได้ละทิ้งรากเหง้าทางวัฒนธรรมทำให้พวกเราต้องเผชิญกับความเสียหายจากน้ำท่วมที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ ในอดีตเรามีเหตุผลจำเป็นที่จะต้องพัฒนาประเทศให้เหมือน ‘เขา’ แต่ความจำเป็นนี้ได้หายไปแล้ว ณ ตอนนี้ยังไม่สายที่พวกเราจะฟื้นฟูบรรดาองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม โดยการกลับไปศึกษาภูมิปัญญาพื้นถิ่นแล้วนำมาผสมผสานกับความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการลดการพัฒนาที่ไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ เช่น การสร้างสิ่งกีดขวางทางไหลของน้ำ การสร้างกฎหมายที่สามารถลดความเปราะบางของสังคมโดยคำนึงถึงระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน เช่น กฎหมายที่ไม่ส่งเสริมการบุกรุกทำลายป่าไม้ แผนการพัฒนาที่สอดคล้องกับระบบธรรมชาติ และการวางแผนแบบบูรณาการทั้งลุ่มน้ำในทุกๆ ด้าน โดยการเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการตั้งแต่ต้น

     สุดท้ายนี้พวกเราทุกคนควรเลิกตั้งคำถามว่า ‘ปีนี้น้ำจะท่วมหรือไม่’ และเปลี่ยนเป็น ‘ปีนี้พวกเราเตรียมพร้อมกันหรือยังที่จะรับมือกับน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น’

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X