กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขการส่งออกเดือนตุลาคมขยายตัวติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยตัวเลขการส่งออกขยายตัวติดลบ 4.4% คิดเป็นมูลค่ารวม 2.17 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 8.01 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ในภาพรวม 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) การส่งออกไทยยังขยายตัว 9.1% โดยมีมูลค่า 2.43 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 8.32 ล้านล้านบาท
ขณะที่การนำเข้าในเดือนตุลาคมมีมูลค่า 2.23 หมื่นล้านดอลลาร์ ขยายตัวติดลบ 2.1% และ 10 เดือน มีมูลค่า 2.58 แสนล้านดอลลาร์ ขยายตัว 18.3% ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนตุลาคมขาดดุล 596 ล้านดอลลาร์ และ 10 เดือน ขาดดุล 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
ทั้งนี้ หากจำแนกดูตามหมวดสินค้าจะพบว่าการส่งออกหมวดสินค้าเกษตรขยายตัวติดลบ 4.3% คิดเป็นมูลค่าราว 1.91 พันล้านดอลลาร์ หรือ 7 หมื่นล้านบาท สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ทุเรียนแช่แข็ง ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง กล้วยไม้ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ด้านสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัว 28.5% ผลไม้สดและผลไม้แห้ง หดตัว 34.9%
ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวติดลบ 2.3% คิดเป็นมูลค่าราว 1.68 พันล้านดอลลาร์ หรือ 6.21 หมื่นล้านบาท โดยมีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องดื่ม ไอศกรีม อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ด้านสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัว 11.3%
ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวติดลบ 3.5% คิดเป็นมูลค่า 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 6.40 แสนล้านบาท มีรายการสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เครื่องปรับอากาศ รถจักรยานยนต์ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ด้านสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 22.8% เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ หดตัว 27.4%
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าการส่งออกของไทยยังสามารถบรรลุกรอบเป้าหมายที่วางไว้ในช่วงต้นปีที่ 4-5% ได้
โดยมีปัจจัยหนุนจากต้นทุนด้านพลังงานที่เริ่มลดลง ค่าระวางเรือขนส่งสินค้าที่เข้าสู่สมดุล อุปทานชิปประมวลผลที่มีมากขึ้นเพียงพอต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยีเพื่อการส่งออก การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยที่ส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และเงินบาทที่ยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักของไทย
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการหดตัวของอุปสงค์ในคู่ค้าสำคัญ ความไม่แน่นอนที่เกิดจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงความไม่สงบในยูเครนที่ยังคงอยู่ เป็นปัจจัยเฝ้าระวังที่กระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป