วันนี้ (2 เมษายน) อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ถึงผลการหารือกับผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย (Taipei Economic and Cultural Office in Thailand) และผู้แทนจากกรมสุขอนามัยและการกักกันพืชและสัตว์ของไต้หวัน (Bureau of Animal and Plant Health Inspection and Quarantine: BAPHIQ) ในการเจรจาเพื่อขยายตลาดการส่งออกไข่ไก่สดไปยังไต้หวัน การเจรจาประสบผลสำเร็จส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกไข่ไก่สดไปยังไต้หวันได้เป็นครั้งแรก
อนุชากล่าวอีกว่า รัฐบาลเดินหน้าทำงานเพื่อเจรจาหาช่องทางและโอกาสส่งออกสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากผลการเจรจาระหว่างกรมปศุสัตว์กับผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย (Taipei Economic and Cultural Office in Thailand) และผู้แทนจากกรมสุขอนามัยและการกักกันพืชและสัตว์ของไต้หวัน (Bureau of Animal and Plant Health Inspection and Quarantine: BAPHIQ) ที่ประสบผลสำเร็จ ไทยสามารถเปิดตลาดส่งออกไข่ไก่สดไปยังไต้หวันได้เป็นครั้งแรก
อนุชากล่าวด้วยว่า ไข่ไก่สดของไทยควบคุมคุณภาพการผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยอาหาร ตั้งแต่แหล่งที่มาของสัตว์จากฟาร์มมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) โรงฆ่าและโรงแปรรูปที่มีการปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดี (Good Hygiene Practices: GHPs) และระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Points: HACCP) ซึ่งสอดคล้องตามข้อกำหนดของกฎหมายในประเทศ ตามระเบียบของประเทศคู่ค้าและตามหลักสากล
นอกจากนี้ประเทศไทย รวมทั้งมีมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ไม่มีการแพร่ระบาดไข้หวัดนกในประเทศไทยมากกว่า 15 ปี ถือเป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและไข่ที่สามารถผลิตได้อย่างมีคุณภาพปลอดภัย และเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า ซึ่งผลสำเร็จจากการเจรจาเปิดตลาดนี้เป็นไปตามนโยบาย ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’ อย่างปลอดภัยและยั่งยืน
ในปี 2565 สามารถส่งออกไข่ไก่ได้ 282 ล้านฟอง มูลค่า 1,238 ล้านบาท และยอดการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเจรจาเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ ทั้งนี้คาดว่าจะมีการเปิดตลาดของไข่สดอีกหลายประเทศ จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถรักษาระดับการผลิตและการบริโภคให้ใกล้เคียงภาวะสมดุล