หลังจากราชกิจจานุเบกษามีประกาศเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังจากนี้ 120 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการรับรองการสมรสระหว่างบุคคลโดยไม่จำกัดเฉพาะชายและหญิง โดยให้บุคคลสองคนสามารถแต่งงานกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการแก้ไขคำว่าชายและหญิงเป็น ‘บุคคล’ และเรียกคู่สามี-ภรรยาเป็น ‘คู่สมรส’
Google ประเทศไทย เผยว่า หากย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงวันนี้ การค้นหาคำว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ที่สภาผู้แทนราษฎรไทยมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และวันที่ 18 มิถุนายน ที่วุฒิสภามีมติรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่การค้นหาจะสูงขึ้น
หลังจากมีการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา เวลา 21.00 น. บน Google Trends แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีการค้นหาคำว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ ตั้งแต่เวลา 19.30-23.00 น. และอีกครั้งในช่วงเวลา 06.30 น. ของวันที่ 25 กันยายน แสดงว่าผู้คนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง
โดยจังหวัดที่ค้นหาคำว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ มากที่สุด 5 อันดับแรกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ได้แก่ จังหวัดพะเยา, กาญจนบุรี, นนทบุรี, จันทบุรี และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบการค้นหาบน Google Trends ย้อนหลังไป 1 ปีในการยื่นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วันที่ 9 สิงหาคม 2566 จนถึงวันที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 กันยายน 2567 จะเห็นความสนใจของคนไทยในการค้นหาคำว่าสมรสเท่าเทียม ดังนี้
- วันที่ 9 สิงหาคม 2566: เปิดประชุมรัฐสภาใหม่ พร้อมยื่นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม
- วันที่ 21 ธันวาคม 2566: ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม วาระที่ 1 เข้าสู่วาระที่ 2
- วันที่ 27 มีนาคม 2567: ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม วาระที่ 3
- วันที่ 18 มิถุนายน 2567: วุฒิสภามีมติรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
- วันที่ 24 กันยายน 2567: กฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นอกจากคำค้นหาจดทะเบียนสมรส ก็พบว่าสมรสเท่าเทียมล่าสุดอยู่ในการค้นหาที่เกี่ยวข้องที่มาแรงเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยจดทะเบียนสมรส 2567, ฤกษ์ดีจดทะเบียนสมรส 2567 และวันจดทะเบียนสมรส 2567