×

ส่องปัญหา ‘ข้อมูลเปิด’ กับการเลือกตั้ง: ไม่ใช่แค่ ‘เลขไทย’ โจทย์หิน ทำอย่างไรให้ข้อมูลใช้ ‘ง่าย’ กว่านี้?

15.06.2022
  • LOADING...
การเลือกตั้ง

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • THE STANDARD ชวนสื่อมวลชนและคนทำงานด้านข้อมูลรวม 3 คน มาพูดคุยให้ลึกซึ้งเกี่ยวกับปัญหาข้อมูลเปิดในช่วงการเลือกตั้งสนาม กทม. ที่ผ่านมา
  • ปฏิพัทธ์ สุสำเภา กรรมการผู้จัดการของ Opendream บริษัทที่ผลิตเครื่องมือจับตาการเลือกตั้งภาคประชาชนในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และผู้ก่อตั้งแคมเปญเลิกใช้เลขไทยในเอกสารราชการ ระบุว่า แม้หลังเลือกตั้งข้อมูลผลคะแนนจากทางราชการจะถูกปล่อยออกมาอย่างรวดเร็ว แต่ก็พบปัญหาไฟล์ที่ส่งมาเป็นไฟล์แบบ PDF หรือการใช้เลขไทยในตารางที่ควรถูกนำไปใช้ในการคำนวณ ซึ่งเป็นการคิดบนพื้นฐานเพื่อเอาไว้ ‘อ่าน’ (Human-readable) แต่ไม่ได้คิดถึงการนำไปใช้ในเชิงการคำนวณ (Machine-readable) 
  • ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Punch Up และ WeVis ระบุว่าปัญหาข้อมูลเปิดในช่วงการเลือกตั้งคือการเปิดข้อมูลแบบ ‘ไม่รู้ว่าอะไรจะเปิดบ้าง’, ปัญหารูปแบบและคุณภาพของข้อมูล ตลอดจนปัญหาว่ามี ‘ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด’ แต่ผู้พบไม่ทราบว่าสิ่งที่พบสำคัญเพียงใดและจะต้องแจ้งใคร เธอยังหวังจะเห็นการเปิดข้อมูลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง และข้อมูลอื่นที่เป็นบริบทแวดล้อม
  • อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ในฐานะผู้อำนวยการโครงการระบบรายงานผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. โดยสื่อ 32 สำนัก ระบุว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา แม้จะได้ข้อมูลด้านสถานที่เลือกตั้งหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาจริง แต่ก็ช้าและกระชั้นชิดมาก ส่งผลกระทบต่อการจัดทีมอาสาสมัครลงพื้นที่เพื่อรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ นอกจากนี้ การรายงานผลจาก กทม. ที่แสดงผ่านจอมอนิเตอร์หลังปิดหีบก็ไม่ได้เปิดระบบให้สื่อเข้าไปเชื่อมต่อโดยตรง
  • แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่าเห็นด้วยโดยหลักการกับข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ได้ทันที แต่ต้องหารือกับทีมงานของตนก่อนว่ามีข้อจำกัดอย่างไรหรือไม่ถ้าจะดำเนินการดังกล่าว และได้สั่งการให้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะมีการสแกนแบบรายงานผลการนับคะแนนรายหน่วยเลือกตั้งลงในคอมพิวเตอร์ให้พรรคการเมืองสามารถตรวจสอบได้ ส่วนคำถามถึงแผนในการขยายให้การเลือกตั้งท้องถิ่นมีการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ แสวงระบุว่าจริงๆ แล้วสามารถทำได้ แต่ถ้าจะทำ กกต. จะต้องพร้อมและไม่ผิดพลาด มิฉะนั้นก็อาจถูกมองได้ว่าเป็นความไม่ตรงไปตรงมา

ก่อนหน้านี้หลังการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) มีกระแสที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนอภิปรายและถกเถียงเกี่ยวกับประเด็น ‘การใช้เลขไทย’ อย่างกว้างขวาง ซึ่งที่มาของเรื่องนี้เกิดจากแคมเปญรณรงค์บนเว็บไซต์ Change.org โดย ปฏิพัทธ์ สุสำเภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด ที่ผลิตเครื่องมือจับตาการเลือกตั้งภาคประชาชนในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา และเขาพบว่าในเอกสารรายงานผลการเลือกตั้งของ กทม. นั้น นอกจากจะอยู่ในรูปแบบไฟล์ PDF ซึ่งยากต่อการนำไปใช้ต่อแล้ว ยังใช้เลขไทยซึ่งไม่เหมาะแก่การนำไปประมวลผลในทางดิจิทัล

 

แต่ถ้าจะมองให้ไกลกว่าเรื่องเลขไทย จะพบว่าการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับแนวคิด ‘ข้อมูลเปิด’ (Open Data) ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการพูดถึงและรณรงค์ให้เกิดขึ้นในภาคส่วนต่างๆ (โดยเฉพาะภาครัฐ) มาเป็นเวลานาน

 

ตามเว็บไซต์ข้อมูลเปิดภาครัฐของไทย (data.go.th) ระบุว่า ข้อมูลเปิดให้ประโยชน์ในเรื่องการให้ประชาชนและภาคประชาสังคมเข้าถึงข้อมูลและสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ, ช่วยผลักดันการสร้างนวัตกรรมและบริการใหม่ๆ เผยแพร่สู่สังคมและเชิงพาณิชย์ และทำให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของภาครัฐที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งนำความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายและการตัดสินใจของภาครัฐ

 

พูดง่ายๆ คือ ‘ข้อมูลเปิด’ มีส่วนส่งผลกระทบต่อชีวิตและอนาคตของพวกเราทุกคน

 

และปัญหา ‘ข้อมูลเปิด’ เกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงประเด็นเลขไทยเท่านั้น ยังมีปัญหาอีกหลายแง่มุมที่สื่อมวลชน คนทำงานด้านข้อมูลในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาต่างพบเจอ 

 

THE STANDARD ชวนสื่อมวลชนและคนทำงานด้านข้อมูลรวม 3 คน (ซึ่งหนึ่งในนั้นคือปฏิพัทธ์ ผู้ตั้งแคมเปญเรื่องเลขไทย) มาพูดคุยให้ลึกซึ้งเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้

 

ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ก่อตั้งแคมเปญเลิกใช้เลขไทยในเอกสารราชการ:

เลขไทยยังมีที่ทางให้ใช้งาน แต่ไม่ควรอยู่ในตารางหรือสิ่งที่นำไปคำนวณ

 

เริ่มต้นจากปฏิพัทธ์ ผู้ซึ่งบอกความเชื่อกับเราว่า การทำข้อมูลจะช่วยแก้ปัญหา นอกจากเครื่องมือจับตาการเลือกตั้งภาคประชาชนที่ทีมของเขาพัฒนาขึ้นแล้ว เขาระบุว่าได้ผลักดันเรื่องข้อมูลเปิดมาตั้งแต่ราวปี 2553-2554 และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งก็พยายามที่จะช่วยผลักดันให้เกิดเรื่องการนับคะแนนในรูปแบบที่เป็นข้อมูลเปิด

 

และสำหรับประเด็นการเลือกตั้งสนาม กทม. ครั้งนี้ เขามองว่าช่วงก่อนเลือกตั้งไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องข้อมูลเปิด เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และปลัด กทม. ให้ความร่วมมือหรือตอบสนองต่อการร้องขอของภาคประชาชนได้ดี เช่น ส่งรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดหรือข้อมูลหน่วยเลือกตั้งให้ในรูปแบบไฟล์ Excel รวมถึงให้เปิดเผยต่อสาธารณะได้ด้วย

 

“ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ในระยะก่อนการเลือกตั้งที่ได้ข้อมูลหลายๆ อย่างพร้อมใช้งาน เป็น Human-readable (มนุษย์อ่านได้) เป็น Machine-readable (คอมพิวเตอร์อ่านและประมวลผลได้) มาพร้อมๆ กัน” เขาระบุ

 

ปฏิพัทธ์ สุสำเภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด / ผู้ก่อตั้งแคมเปญเลิกใช้เลขไทยในเอกสารราชการ (แฟ้มภาพ: ปฏิพัทธ์ สุสำเภา)

 

ส่วนระหว่างการเลือกตั้ง ปัญหาที่เขาพบส่วนใหญ่เป็นเรื่องกระบวนการ เช่น การจับตาการเลือกตั้งที่มีการขอให้อาสาสมัครถ่ายภาพแบบฟอร์มต่างๆ ปรากฏว่าแบบฟอร์มเหล่านี้ล้วนเป็นกระดาษที่ไม่ได้ถูกทำให้เป็นข้อมูลเปิด หรือกรรมการประจำหน่วยไม่เข้าใจเจตนาการถ่ายภาพดังกล่าว

 

จนมาถึงช่วงหลังเลือกตั้ง เขาบอกว่าจุดที่ทำได้ดีคือเรื่องผลการนับคะแนน (จากทางราชการ) ที่ถูกปล่อยออกมาเร็วมากภายใน 24 ชั่วโมงหลังเลือกตั้ง แต่ในความ ‘ดี’ นั้นก็มีจุดที่ ‘ไม่ดี’ อยู่ เพราะสิ่งที่ถูกปล่อยออกมาอย่างรวดเร็วนั้น “แทบจะเอาไปใช้งานไม่ได้” เช่น ไฟล์ที่ส่งมาเป็นไฟล์แบบ PDF หรือการใช้เลขไทยในตารางที่ควรถูกนำไปใช้ในการคำนวณ ซึ่งเป็นการคิดบนพื้นฐานเพื่อเอาไว้ ‘อ่าน’ (Human-readable) แต่ไม่ได้คิดถึงการนำไปใช้ในเชิงการคำนวณ (Machine-readable) เขาบอกว่าด้วยเหตุนี้จึงต้องไปตั้งแคมเปญรณรงค์เรื่องเลขไทยในเอกสารราชการดังกล่าว

 

ตัวอย่างเอกสารผลคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่สื่อมวลชนได้รับ

 

เมื่อถามว่าจากหลายๆ ปัญหาที่เกิด ทำไมถึงเจาะจงตั้งเฉพาะแคมเปญเรื่องการใช้เลขไทยในเอกสารราชการ ปฏิพัทธ์บอกว่าตอนแรกสงสัยแค่เรื่องเลขไทย และคิดว่าหากแก้เฉพาะเรื่องเลขไทยได้ อย่างน้อยยังสามารถเขียนโปรแกรมไปแกะตัวเลขออกมาได้ นอกจากนี้ หลังจากที่เหนื่อยกับการพิมพ์คะแนนในคืนวันเลือกตั้ง เขาก็พบว่าการใช้เลขไทยในเอกสารราชการนั้นดูไม่สมเหตุสมผล เพราะเป็นการทำเนื่องจาก ‘คณะรัฐมนตรีขอความร่วมมือ’ ซึ่งมองว่าเป็นการติดกระดุมผิดเม็ด และหากต่อไปเรียกร้องข้อมูลเปิด ข้อมูลเปิดก็จะมาในรูปแบบที่ผิดอีก จึงเน้นเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องเล็กมากพอที่จะแก้ได้โดยไม่ต้องไปแก้กฎหมาย และคนทั่วไปน่าจะเข้าใจปัญหาได้ง่าย

 

เมื่อถามว่าจะอธิบายปัญหาเรื่องนี้ให้กับคนทั่วไปที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องข้อมูลเปิดให้เข้าใจได้อย่างไร ปฏิพัทธ์ยกตัวอย่างปัญหาความคงเส้นคงวาของเอกสารและการที่เลขไทยไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ควรอยู่ เช่น URL เว็บไซต์ หรือรหัสผ่านห้อง Zoom ซึ่งหากใช้เลขไทยจะไม่สามารถเข้าใช้งานได้ นอกจากนี้ ต้นทุนของข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานจะสูงขึ้น เนื่องจากต้องพิจารณาว่าจุดไหนจะใช้เลขไทยหรือเลขอารบิก รวมถึงเทคโนโลยีการพิมพ์ของไทยที่ไม่เอื้อ อย่างมาตรฐาน มอก. ที่ควบคุมด้านแป้นพิมพ์ ก็ทำให้การพิมพ์เลขไทยต้องกด Shift ก่อน ซึ่งการใช้เลขอารบิกจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ส่วนในเชิงเทคนิคก็เป็นการที่เลขไทยไม่สามารถนำไปคำนวณได้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพราะเลขไทยมีศักดิ์เป็น ‘อักขระ’ ไม่ใช่ ‘ตัวเลข’ ซึ่งถึงแม้จะเขียนโปรแกรมแปลงได้ แต่ปฏิพัทธ์ตั้งคำถามว่าทำไมจะต้องเป็นภาระของผู้ใช้งานที่ต้องแปลง และแม้จะเป็นโปรแกรมอย่าง Excel ที่มีความสามารถรับเลขไทยได้ แต่ Excel ก็ไม่ใช่โปรแกรมเดียวที่คนใช้

 

นอกจากนี้ เขาบอกว่าด้วยปัญหาการใช้เลขไทยแบบที่เขาเรียกว่า ‘ใช้แบบไม่บันยะบันยัง’ ซึ่งทำให้ต้นทุนการใช้เลขไทยสูงกว่าปกติ ก็ทำให้เกิดฟอนต์ที่เรียกว่า TH Sarabun IT๙ ที่เมื่อพิมพ์เลขอารบิก 1 ผู้ใช้ก็จะเห็นว่าได้เลขไทย ๑ ปรากฏขึ้นมาแทน ทั้งที่สิ่งที่เก็บอยู่เบื้องหลังก็ยังเป็นเลขอารบิก ซึ่งทำให้การคัดลอกข้อความที่เมื่อไปวางปลายทางอาจจะได้เลขอารบิก ซึ่งอาจจะผิดไปจากเจตนาของผู้คัดลอกดังกล่าว เขายกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีการแยกตำแหน่งที่ใช้เลขคำนวณที่เป็นเลขอารบิก และเลขคันจิที่เป็นเลขดั้งเดิม

 

“ข้อมูลที่ผลิตมาจากราชการ ถ้าราชการยึดโยงกับประชาชนหรือองค์กรภายนอกที่ต้องเอาข้อมูลไปใช้ เขาก็ควรใส่ใจเรื่องนี้ว่าคนจะเอาไปใช้ภายนอก ไม่ควรจะทำให้เขาลำบากมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ก็แปลงมาเป็นสิ่งที่เขาใช้ได้เลย เพียงแต่ว่าถ้าหน่วยงานนั้นยังยืนยันจะใช้เลขไทยไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม มันก็อาจจะสะท้อนภาพหนึ่งว่าเขาไม่ได้มองประชาชนเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งก็โอเค จะมองอย่างนั้นก็ได้ เพียงแต่ว่าถ้าคุณจะใช้ภายใน คุยกันเองภายใน ผมก็ว่าประชาชนไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ามันมาแตะประชาชนแล้วทำให้ประชาชนมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก ผมว่าอันนี้ก็ควรที่จะต้องตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานนั้นกับประชาชนว่ามันยึดโยงกันจริงหรือเปล่า”

 

(ภาพ: Shutterstock)

 

ปฏิพัทธ์ยืนยันว่า เลขไทยยังมีฟังก์ชันในการใช้งานได้อยู่ เช่น ในโรงเรียน, ในบทความ, วรรณกรรม, ข้อความร้อยแก้วของราชการ, หัวกระดาษ หรือวันที่ แต่เขาเห็นว่าไม่ควรถูกนำมาใช้ในส่วนที่เป็นตารางหรือต้องถูกนำไปคำนวณ และแม้เขาจะเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ต้องการอนุรักษ์เลขไทยที่อาจจะรู้สึกว่าที่ที่ใช้เลขไทยหายไป แต่ก็ตั้งคำถามว่าการอนุรักษ์จะขัดกับการพัฒนา ก็อาจต้องตั้งคำถามว่าจะเลือกแบบใด

 

“เลขไทยไม่ได้ตายง่ายแบบนั้น ฃ ขวด เลิกใช้มาหลายสิบปีมันยังอยู่บนคีย์บอร์ด คือมันมีที่ของมันน่ะครับ” เขาระบุ “เลขไทยมีฟังก์ชัน จะมีก็ดี แต่การกลัวว่ามันจะหายไปโดยไปบังคับให้มันอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ ผมว่าอันนี้อันตราย และจะเป็นการบั่นอายุของเลขไทยไปเอง”

 

เขาระบุว่าไม่ผิดคาดที่ได้เห็นท่าทีของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความเห็นในเรื่องนี้ และ “เป็นการคอนเฟิร์มจุดยืนของรัฐว่าเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ยึดโยงอะไรกับประชาชนหรอก” พร้อมบอกว่าท่าทีดังกล่าวเป็นกำลังใจให้เขาเองผลักดันเรื่องนี้ต่อไป และนอกจากเรื่องเลขไทยแล้ว เขาอยากจะผลักดันให้ข้อมูลเปิดเป็นแบบที่ Machine-readable ได้ ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้ได้ดีมาก แต่บางหน่วยงานก็ยังไปไม่ถึงจุดนี้

 

สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป เขาและทีมมุ่งตั้งเป้าให้เกิด Open Election Data ซึ่งมีชุดข้อมูลที่จำเป็นอย่างข้อมูลผู้สมัคร หน่วยเลือกตั้งทั้งประเทศ และการใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบแยกรายละเอียด ซึ่งเขารู้ว่าคงไม่ง่ายอยู่แล้ว ถ้าจะกังวลก็คือกังวลว่าจะไม่มีคนมาช่วยทำ แต่เชื่อว่าข้าราชการส่วนหนึ่งเข้าใจและยินดีสนับสนุน แม้จะยอมรับว่าหากท่าทีของ ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ ในบ้านเมืองเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญก็คงจะน่ากังวลอยู่บ้างก็ตาม

 

ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Punch Up และ WeVis:

ข้อมูลควรละเอียดที่สุด รวดเร็วที่สุด และเปิดเผยแบบ Machine-readable

 

อีกคนหนึ่งที่เราได้พูดคุยด้วยคือ ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Punch Up และ WeVis ซึ่งเป็นองค์กรแบบ Civic Tech ที่นิยามตนเองว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อว่าการใช้ข้อมูลเปิดกับเทคโนโลยี จะทำให้คนเข้าถึงสิทธิบางอย่างได้ง่ายขึ้นและมีส่วนร่วมกับเรื่องนั้นๆ ได้มากขึ้น ซึ่ง WeVis ก็เป็นผู้ร่วมพัฒนาเว็บไซต์รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. อย่างไม่เป็นทางการกับ THE STANDARD ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา

 

ธนิสราเล่าถึงปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลเปิดในการเลือกตั้งสนาม กทม. ที่ผ่านมา ประการแรกคือการเปิดข้อมูลแบบ ‘ไม่รู้ว่าอะไรจะเปิดบ้าง’ แม้ว่าเธอจะบอกว่าเธอมีสิทธิพิเศษในฐานะที่ทำงานเป็นอนุกรรมาธิการ (อนุกรรมาธิการติดตามการดำเนินงานและพัฒนาประสิทธิภาพการเลือกตั้งโดยเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร) ทำให้สามารถถาม กกต.กทม. ว่ามีข้อมูลอะไรและจะเปิดเผยอะไร แต่เธอคิดว่าควรจะมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นเป็นปกติในทุกการเลือกตั้งว่า จะมีข้อมูลใดบ้างที่จะเปิดเผยให้แก่ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าถึงได้ก่อนการเลือกตั้งตามระยะเวลาที่กำหนด

 

ประการต่อมาคือเรื่องรูปแบบ (Format) ของข้อมูล อาทิ ปัญหาการส่งไฟล์เป็นแบบ PDF (แต่ก็มีบางไฟล์ที่เธอบอกว่าเป็นไฟล์ Excel ที่นำไปใช้งานได้เช่นกัน) ซึ่งเรื่องนี้ยังรวมไปถึงคุณภาพของข้อมูลด้วย เช่น กรณีที่ไม่มีการระบุสังกัดของผู้สมัคร ส.ก. ในข้อมูลชุดแรกที่ได้มา จนต้องรอกระทั่งมีการส่งข้อมูลมาให้เพิ่มในเวลาต่อมา หรือกรณีผลการเลือกตั้ง (จาก กทม.) ที่ยังไม่รู้คะแนนรายเขตในช่วงแรก (หรือไม่ทราบว่าในที่สุดจะมีคะแนนระดับเขตให้มาหรือไม่)

 

“เราคิดว่าข้อมูลมันควรที่จะละเอียดที่สุด รวดเร็วที่สุด แล้วควรจะเปิดแบบ Machine-readable” เธอระบุ

 

ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Punch Up และ WeVis (แฟ้มภาพ: ธนิสรา เรืองเดช) 

 

อีกปัญหาที่เธอพบก็คือ เมื่อมีการพบปัญหา ‘ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด’ แต่ผู้พบไม่ทราบว่าสิ่งที่พบสำคัญเพียงใดและจะต้องแจ้งใคร เช่น กรณีข้อมูลผู้สมัคร ส.ก. บางราย ที่ข้อมูลทางการจากใบสมัครระบุสังกัดเป็นสังกัดหนึ่ง แต่ตัวผู้สมัครเองระบุว่าตนเป็นอีกสังกัดหนึ่ง กรณีดังกล่าวนี้ THE STANDARD เคยสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ว่า นอกจากข้อสังเกตว่าข้อมูลอาจจะผิด ก็อาจจะเกิดจากการย้ายสังกัดหรือเข้าสังกัดหลังลงสมัครก็เป็นไปได้เช่นกัน

 

ธนิสรากล่าวถึงประเด็นเลขไทยในเอกสารราชการว่า เธอมองว่าเรื่องนี้กำลังถูกตีความให้เข้าใจผิดว่าเป็นการยกเลิกเลขไทยในทุกบริบท

 

“คือเข้าใจว่าคนที่ทำงานอย่างพี่เก่ง (ปฏิพัทธ์) เขาโฟกัสไปที่เลขไทยในเอกสารราชการหรือเอกสารสำคัญที่อาจจะต้องตรวจสอบต่อหรือเอาข้อมูลมาใช้ต่อ แต่คนกำลังตีความว่าเลขไทยในทุกบริบท ซึ่งไม่ใช่ เราคิดว่าเราไม่ได้เกลียด ไม่ได้แบบ เฮ้ย ยกเลิกเลขไทยเถอะ อะไรขนาดนั้น

 

“คือคุณจะใช้ในบริบทเชิงงานวัฒนธรรมอะไรก็ได้ แต่ว่าเราเห็นด้วยว่างานเอกสารทางการ เอกสารราชการ ถ้าไม่จำเป็นเราคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้เลขไทยหรอก ด้วยเหตุผลสองข้อหลักๆ” เธอระบุว่าเหตุผลสองข้อดังกล่าว เหตุผลแรกคือการแปลงเลขไทยเข้าสู่โปรแกรมไม่ได้ในบางกรณี และความไม่ถนัดและสับสนในการใช้งานเลขไทยผ่านเอกสาร เมื่อเลขไทยไม่ได้ถูกใช้เป็นประจำ

 

ส่วนการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ว่าด้วยข้อมูลเปิดที่เธออยากพูดถึงก็ได้แก่ การแก้ไขพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เนื่องจากในปัจจุบันเธอระบุว่าข้อมูลยังไม่ถูกเปิดเป็นปกติ ซึ่งขณะนี้มีร่างของคณะรัฐมนตรี ที่ฝ่ายค้านและกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองฯ ไม่ได้เห็นด้วยกับร่างนี้ เพราะยังไม่มีหลักการ ‘เปิดเผยเป็นหลัก’ และ ‘Machine-readable’ จึงมีการร่างอีกฉบับหนึ่งของ กมธ. ขึ้นมา และมีการนำสถาบันวิจัยและภาคประชาชนเข้าไปให้ความคิดเห็น ซึ่งร่างของฝั่ง กมธ. ถูกเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรแล้วแต่ยังไม่ถูกพิจารณา และแม้ปัจจุบันจะมีบางหน่วยงานที่กำลังทำเรื่องนี้ แต่สุดท้ายก็อาจจะไปติดล็อกที่ ‘ข้อปฏิบัติ’

 

 

 

“คือคำว่าข้อปฏิบัติ ก็เข้าใจคนทำงานภาครัฐว่าบางทีเขาไม่ได้เขียนว่าให้ทำ คนก็เลยไม่ทำ เพราะกลัวว่าถ้าทำไปแล้วผิดจะไม่มีอะไรมาปกป้องเขา ก็เลยคิดว่าถ้ามีกติกามารองรับว่า เฮ้ย กระตุ้นให้คุณเปิด อะไรอย่างนี้ ก็อาจจะเพิ่มแรงจูงใจให้คนทำงานได้มากขึ้น” ธนิสราระบุ

 

อีกข้อที่เธอมองว่าจะช่วยแก้ปัญหาก็คือการปรับวิธีคิด รวมถึงออกแบบวิธีการทำงานของคนทำงานในภาครัฐแต่ละองค์กรให้ยินยอมที่จะเปิดเผยข้อมูล

 

ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้า นอกจากธนิสราจะอยากเห็นการเปิดเผยข้อมูลบนหลักการ ‘เปิดเผยเป็นหลัก’ และ ‘เปิดข้อมูลแบบ Machine-readable’ แล้ว เธอยังมองว่าข้อมูลที่ควรจะเปิดเผยต่อสาธารณะแบ่งเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือข้อมูลที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยตรง เช่น ข้อมูลผู้สมัคร, พรรคการเมือง, นโยบาย, ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัคร, ผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์จากส่วนเชื่อมต่อ (API) ของ กกต. โดยตรง หรือข้อมูลคะแนนการเลือกตั้งเป็นรายหน่วยหลังวันเลือกตั้ง และอีกประเภทหนึ่งคือข้อมูลที่เป็นบริบทแวดล้อมซึ่งอาจจะไม่ได้เปิดแค่วันเลือกตั้ง แต่ควรเปิดเผยอย่างสม่ำเสมอ เช่น ถ้าเป็นการเลือกตั้ง กทม. ก็เป็นข้อมูลเกี่ยวกับกรุงเทพมหานคร หรือถ้าเป็นการเลือกตั้งใหญ่ ก็เช่นข้อมูลงบประมาณ เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้สื่อหรือนักวิเคราะห์นำไปใช้ได้ 

 

เธอปิดท้ายด้วยการตอบคำถามว่าทำไมถึงต้องมี ‘ข้อมูลเปิด’ ให้กับสาธารณะด้วยการพูดถึงสามด้านหลักๆ ด้านแรกคือแม้ว่าเราอาจจะไม่ได้ทำงานด้านข้อมูล แต่ ‘ข้อมูลจะทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น’ เช่น ปัญหาทางม้าลาย ปัญหาขยะ และปัญหาสวนสาธารณะใน กทม. ซึ่งชีวิตเราอาจจะได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีผู้ที่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีข้อมูลหรือไม่ถูกนำมาใช้ ทำให้การแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ด้านต่อมาคือการไม่มีข้อมูลจะทำให้การตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตยากลำบากมากขึ้น เช่น ในการเลือกตั้ง เมื่อจะตัดสินใจก็ควรต้องรู้ข้อมูลผู้สมัคร ประวัติการทุจริต บัญชีทรัพย์สิน ฯลฯ

 

กลุ่มชุดข้อมูลเปิดบนเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐของไทย (data.go.th)

 

“มันอาจจะมีเรื่องอื่นอีก สมมติถ้าไม่ใช่เรื่องเลือกตั้ง เช่น ในอนาคตถ้าเขามาถามคุณว่ากฎหมายนี้หรืองบประมาณนี้ควรเอามาใช้กับสิ่งนี้ไหม มันก็จะตัดสินใจไม่ได้ เหมือนเราซื้อของในแอปแล้วมันไม่มีคุณสมบัติบอก” เธอยกตัวอย่าง

 

และสุดท้ายคือการติดตามและตรวจสอบเมื่อมีความเดือดร้อนเกิดขึ้น เธอยกตัวอย่างปัญหาการคอร์รัปชัน หรือปัญหาโครงการก่อสร้างที่สร้างความลำบาก เมื่อไม่มีข้อมูลก็จะติดตามตรวจสอบได้ลำบาก

 

“โครงการก่อสร้างสร้างความลำบากให้คุณหน้าบ้าน แต่มันไม่มีข้อมูลมาเปิดว่าหน่วยงานไหนที่รับผิดชอบ โครงการนี้จะเสร็จเมื่อไร ร้องเรียนได้ที่ไหน มันก็จะมีปัญหาแล้ว หรือระดับสเกลใหญ่กว่านั้น ถ้าต้องเข้าไปพัวพันกับปัญหาเรื่องคอร์รัปชันหรือถูกปฏิบัติแบบไม่แฟร์ ถ้าไม่มีข้อมูลเปิดเหล่านี้ก็จะทำให้เราตรวจสอบได้ยาก ติดตามได้ยาก แล้วรู้สึกว่าเราไม่มีอาวุธไปสู้อะไรกับใครเลย” เธอสรุป

 

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้อำนวยการโครงการระบบรายงานผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. โดยสื่อ 32 สำนัก:

“ผมไม่ค่อยมีความหวังกับการไปหวังพึ่ง กกต.”

 

และนอกจากคนทำงานในแพลตฟอร์มดิจิทัลแล้ว THE STANDARD ยังได้พูดคุยกับคนทำงานในสื่อโทรทัศน์อย่าง อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ในฐานะผู้อำนวยการโครงการพัฒนาระบบรายงานผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ปี 2565 (อย่างไม่เป็นทางการ) ที่มีสื่อมวลชนกว่า 32 สำนักร่วมใช้ระบบรายงานผลดังกล่าวในวันเลือกตั้ง และยังมีอีกบทบาทเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเนชั่น กรุ๊ป เพื่อสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์ ‘ข้อมูลเปิด’ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาจากมุมมองของเขา

 

อดิศักดิ์เล่าว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เขาได้เข้าพบเลขาธิการ กกต. ที่ระบุกับเขาว่า เป็นหน้าที่ของ กทม. ในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงหน้าที่เกี่ยวกับบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิหรือสถานที่เลือกตั้งด้วย และเมื่อไปพบ กทม. ก็ได้รับคำตอบว่าจะทำข้อมูลให้ ซึ่งแม้ที่สุดแล้วจะได้ข้อมูลด้านสถานที่เลือกตั้งหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาจริง แต่ก็ช้าและกระชั้นชิดมาก ส่งผลกระทบต่อการจัดทีมอาสาสมัครลงพื้นที่เพื่อรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการตามหน่วยเลือกตั้งทั่ว กทม.

 

“Open Data จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ให้สื่ออย่างเดียวนะ ควรจะให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย เขาควรจะรับรู้ใช่ไหมว่า สมมติเขาอยู่ตรงนี้ เขาอยู่พระโขนง หน่วยเลือกตั้งเขายังไง เพราะเมืองมันก็เปลี่ยนไปเยอะ ตึกแถวบางทีเป็นคูหาเลือกตั้งมันก็ไม่ได้เป็น”

 

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาระบบรายงานผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ปี 2565 (อย่างไม่เป็นทางการ) / รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเนชั่น กรุ๊ป (แฟ้มภาพ: อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ)

 

อดิศักดิ์ยังกล่าวถึงอีกหนึ่งปัญหาต่อเนื่อง นั่นคือการที่คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ กับผู้มีสิทธิเลือก ส.ก. ใช้คนละเกณฑ์กัน ซึ่งเขาก็ไม่คิดว่าคนที่เลือกผู้ว่าฯ หน่วยหนึ่ง แล้วจะเดินทางไปเลือก ส.ก. แบบข้ามเขตที่อีกหน่วยหนึ่ง

 

“อันนี้ กทม. ก็ไม่เคยโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือแจ้งให้ผู้มีสิทธิเขารับรู้เลย ยังดีที่ปัญหามันไม่ค่อยเกิดเท่าไรวันเลือกตั้ง เพราะคนไปใช้สิทธิน้อย แต่ถ้าคนใช้สิทธิเยอะ ปัญหานี้มันเกิดแล้วจะ…เอาเป็นว่าผมบอกได้เลยว่ามันก็จะเป็นดราม่าว่า เฮ้ย เขาไปเลือกผู้ว่าฯ ทำไมเขาไม่มีสิทธิเลือก ส.ก. เราไม่รู้เลย

 

“ผมกับคณะทำงานที่ทำเรื่องรายงานผลคะแนนเลือกตั้งรู้ตอนที่ไปพบท่านปลัด กทม. …คิดดู ขนาดอย่างเรา สื่อ เรายังไม่รู้เลย อันนี้มันก็เลยทำให้…เราคิดว่าอันนี้คือปัญหาใหญ่เลยนะ คนก็ไม่ไปใช้สิทธิหรือใช้สิทธิตกๆ หล่นๆ แล้วสำหรับเราในการเตรียมข้อมูลสำหรับการส่งอาสาสมัครลงก็กระชั้นมาก” อดิศักดิ์กล่าว

 

เขาอธิบายถึงความจำเป็นที่สื่อมวลชนจะต้องทำโครงการรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการกันเองในการเลือกตั้งสนาม กทม. ที่ผ่านมาว่า ที่จริงแล้วการร่วมมือกันรายงานผลคะแนนมีการทำมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยยังไม่มีทีวีดิจิทัลหรือสื่อออนไลน์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยในอดีตสถานีโทรทัศน์มักร่วมมือกับบรรดาธนาคารต่างๆ เนื่องจากธนาคารเป็นภาคเอกชนที่กระจายตัวหรือมีสาขาอยู่มากที่สุด

 

(แฟ้มภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม)

 

แต่ปัญหาต่างๆ ในอดีตที่อดิศักดิ์เล่าให้เราฟัง ได้แก่ การที่ ‘คะแนนไม่ตรงกัน’, ‘มีการคล้ายๆ ก๊อบปี้คะแนนกัน’, การที่ในอดีตยังไม่สามารถคาดหวังผลคะแนนแบบสดๆ จาก กกต. ได้ ตลอดจนตัวอย่างการรายงานผลการเลือกตั้งของสื่อในสหรัฐฯ ในอดีตที่ครั้งหนึ่งสื่อเคยฟันธงกันไปคนละทิศละทาง จนนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยสื่อสหรัฐฯ ลงขันกันแล้วให้สำนักข่าว AP เป็นผู้ดำเนินการ ปัญหาทั้งหมดนี้นำมาซึ่งการลงขันของสถานีโทรทัศน์เพื่อร่วมรายงานผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในยุคก่อนทีวีดิจิทัลของไทย

 

กระทั่งมาถึงการเลือกตั้งใหญ่ครั้งปี 2562 บรรดาสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ก็ได้รับบทเรียนอีกครั้ง เมื่อการเชื่อมต่อไปรับคะแนนแบบเรียลไทม์จาก กกต. โดยตรงตั้งแต่ระหว่างช่วงการนับคะแนน พบปัญหาข้อมูลมีปริมาณมากจนทำให้ระบบล่ม กระทั่งสื่อถูกตำหนิและวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ในครั้งนี้สื่อหลากหลายค่ายร่วมลงขันลงมือกันเอง ซึ่งก็ได้ผลว่าการรายงานผลคะแนนในสองชั่วโมงแรกหลังเริ่มนับคะแนนนั้นค่อนข้างราบรื่น อดิศักดิ์มองว่านี่เป็น ‘ความรับผิดชอบ’ ของสื่อ และยังมีส่วนช่วยในการเก็บหลักฐานการนับคะแนนเพื่อการตรวจสอบการเลือกตั้งด้วย

 

เราตั้งคำถามกับอดิศักดิ์กลับไปว่า แม้การรายงานผลเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ครั้งการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 จะดูไม่ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งนี้ก็ยังควรเป็น ‘หน้าที่’ ของ กกต. อยู่ดีหรือไม่ เขาตอบว่าควร แต่ก็ทราบกันดีว่าอาจจะไม่สามารถพึ่ง กกต. ได้ เพราะปัจจุบันผู้ชมก็ต้องการทราบคะแนนอย่างรวดเร็ว พรรคการเมืองเองก็ยังต้องส่งคนไปรวบรวมคะแนนเองที่หน้าคูหา ส่วน กกต. ก็ต้องใช้เวลากว่าจะรวมคะแนนแล้วกรอกลงระบบ ซึ่งคงไม่อาจคาดหวังให้ กกต. รายงานผลแบบคะแนนต่อคะแนนได้ 

 

ต่อมา เมื่อกล่าวถึงช่วงดึกของวันเลือกตั้ง ที่ กทม. มีการรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ และสื่อต่างๆ เริ่มใช้คะแนนจากแหล่งนี้ในการรายงานข่าว อดิศักดิ์ยังระบุถึงปัญหาที่พบในช่วงเวลาดังกล่าวว่า กทม. ไม่ได้เปิดให้สื่อเข้าไปเชื่อมต่อกับระบบรายงานผลของ กทม. ที่มีการแสดงผลผ่านจอมอนิเตอร์ที่ศาลาว่าการ กทม. 2 โดยตรง ทำให้ตัวแทนสื่อต้องใช้วิธีการกรอกคะแนนด้วยมือ (ซึ่งภายหลังก็ยกเลิกวิธีนี้เนื่องจากคะแนนไหลเร็วจนกรอกไม่ทัน และเกิดการถ่ายภาพผลบนจอมอนิเตอร์ส่งกระจายให้ทุกสื่อเป็นระยะแทน) หรือปัญหาที่อาสาสมัครของโครงการไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เฉพาะสำหรับการสังเกตการณ์การนับคะแนนได้เหมือนคนของพรรคการเมืองทั่วไป 

 

อดิศักดิ์ยังบอกว่าจริงๆ ด้วยระบบที่สื่อมีอยู่ สามารถให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งกดผลคะแนนเข้าระบบมาพร้อมกับการขีดคะแนนบนกระดาษช่วงนับคะแนนได้ ซึ่งจะทำให้คะแนนปรากฏบนระบบออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ประชาชนจะสามารถตามคะแนนได้อย่างต่อเนื่อง แต่เขาก็ไม่ได้คาดหวังกับ กกต. มากนัก

 

(แฟ้มภาพ: อาดิศ สัมปัตตะวนิช)

 

“ถ้า กกต. เขาเป็นต้นทางทำ เราน่ะไม่ต้องทำ โดยใช้เจ้าหน้าที่ กกต. เท่ากับ Open Data โดยปริยาย แต่ที่ผ่านมาเหมือนว่าเราต้องเป็นตัวเชื่อมออกมาอีกทีหนึ่ง ซึ่งมันก็จะช้า อันนี้ถ้า กกต. เขาเปิด มันก็ง่าย เราช่วยเซ็ตอัพระบบ ดูแลให้ได้ แต่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งแทนที่จะขีดๆ บนบอร์ด มาคีย์ลงไปเลย แล้วก็เปิดเผยเลย อันนี้ก็จบ จริงๆ เจ้าหน้าที่เขาก็มีอยู่แล้ว แต่เราก็หวังอะไรไม่ได้ พูดตรงๆ ผมไม่ค่อยมีความหวังกับการไปหวังพึ่ง กกต. สมมติเขาอาจจะพูดกับเราดีๆ แรกๆ อยู่ หลังจากนั้นเขาเปลี่ยนใจเราก็บังคับเขาไม่ได้ คือผมก็ยังคิดว่าสื่อก็ยังต้องพึ่งตัวเอง อันนี้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของสื่อด้วย ก็ต้องเรียนรู้บทเรียนที่ผ่านมา อย่างน้อย (เลือกตั้ง) ปี 2562 และเลือกตั้ง กทม. หนนี้” เขาระบุ

 

เมื่อถามว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ระหว่างระดับนโยบาย, วิธีคิดของผู้ปฏิบัติงาน, กฎหมาย, อำนาจที่มีอยู่ หรือเป็นปัญหาที่จุดอื่น อดิศักดิ์ตอบว่าเป็นปัญหาตั้งแต่ต้นทางที่กฎหมาย มาจนถึงวิธีคิดของ กกต. เพราะหากกรรมการ กกต. ต้องการผลักดันแนวคิดเรื่องข้อมูลเปิด ก็สามารถเสนอแก้กฎหมาย ออกข้อบังคับต่างๆ หรือให้เจ้าหน้าที่ลงมือทำได้

 

 

แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.:

เห็นด้วยโดยหลักการกับข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ได้ทันที-แต่ขอหารือทีมงานก่อน

 

จากเสียงสะท้อนทั้งหมด เราปิดท้ายด้วยการพูดคุยกับ แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (เลขาฯ กกต.) ว่าจะทำอย่างไรในการพัฒนาข้อมูลเปิดในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป ซึ่งเราหาเวลาพูดคุยได้ในช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ เริ่มต้นจากประเด็นยอดฮิตอย่างความต้องการข้อมูลในรูปแบบ Machine-readable และการใช้ตัวเลขสากลอย่างเลขอารบิกที่สามารถนำไปใช้ในการคำนวณได้โดยตรง ที่เราถามแสวงว่า กกต. มีระเบียบในเรื่องนี้หรือไม่ แสวงระบุว่าไม่มี และโดยหลักการก็ต้องการที่จะดำเนินการให้

 

อย่างไรก็ตาม แสวงบอกว่าต้องหารือกับทีมงานของตนก่อนว่ามีข้อจำกัดอย่างไรหรือไม่ถ้าจะดำเนินการดังกล่าว และตั้งข้อสังเกตส่วนตัวว่าการที่ให้ผลคะแนนออกมาเป็นไฟล์ที่ไม่สามารถคัดลอกได้ง่าย อาจจะเกิดจากความกังวลว่าจะถูกนำไปดัดแปลงจนต้องมาชี้แจงกันภายหลัง ซึ่งรูปแบบของราชการก็คงจะเข้าใจยาก และก็คงต้องหา ‘จุดพอดี’ ซึ่งกันและกัน

 

“ถ้าความต้องการเราสามารถทำให้ได้ พูดกันก่อน คือผมต้องการให้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเขาอาจจะไม่อยากให้ใครไปดัดแปลงอะไรของเขาหรือเปล่า เหมือนกับว่า เอ้า เดี๋ยวไปดัดแปลง แล้วต้องมาชี้แจงทีหลังหรือเปล่าอย่างนี้ อันนี้คือประเด็นหนึ่งนะ อันนี้คิดเอาเองก่อนนะ

 

แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)

 

“อันที่สองก็คือว่า ถ้าเกิดการนำไปใช้ประโยชน์ ผมเห็นด้วยนะที่จะสามารถให้เอาไปใช้ประโยชน์ได้เลย มันเหมือนกับว่า มันจะลงตัวกันอยู่ตรงไหน อันนี้ผมเห็นด้วยที่จะให้สื่อสามารถเอาไปดัดแปลงนำเสนอให้มันดูน่าสนใจ คือรูปแบบราชการมันอาจจะดูยาก แต่ว่าสื่อเอาไปปรับ มันอาจจะทำให้ดูน่าสนใจ”

 

แสวงยังบอกว่าได้สั่งการให้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะมีการสแกนแบบ ‘ส.ส. 5/18’ หรือแบบรายงานผลการนับคะแนนรายหน่วยเลือกตั้งลงในคอมพิวเตอร์ให้พรรคการเมืองสามารถตรวจสอบได้ เพื่อคลายข้อสงสัยและแสดงถึงความโปร่งใสของ กกต.

 

ส่วนกรณีที่กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้บัญญัติให้ กกต. สามารถรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีบทบัญญัติเขียนไว้ชัดเจนว่า กกต. สามารถดำเนินการได้ เราถามว่าในอนาคตมีแผนที่จะขยายให้การเลือกตั้งท้องถิ่นมีการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการได้บ้างหรือไม่ แสวงระบุว่าจริงๆ แล้วสามารถทำได้ แต่ถ้าจะทำ “เราต้องดีกว่านี้” มิฉะนั้นความผิดพลาดก็อาจถูกมองได้ว่าเป็นความไม่ตรงไปตรงมา

 

“ทีนี้ถามว่าทางท้องถิ่นทำนี่มันคุ้มไหม คือถ้าเราจะทำเราต้องดีกว่านี้ คือต้องไม่ผิดพลาด อย่าทำแล้วถูกด่า มันไม่คุ้ม คือทำแล้วต้องดี ดีทั้งหนึ่งก็คือข้อมูลถูกต้อง รวดเร็ว สื่อเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ใช่ทำแบบครั้งที่แล้วที่คุณไม่ประเมินความเสี่ยง คือคุณตรงไปตรงมาแหละ คุณแค่บอกว่ามันดีนะ คุณทำแบบนี้มันดี แต่คุณไม่ได้คิดว่า เฮ้ย ถ้ามันเกิดแบบนี้แล้วคุณจะทำยังไง พอมันเกิด เห็นไหม คุณไม่ได้แก้ไข คุณก็เสียหาย ความน่าเชื่อถือคุณก็หายหมดแล้ว”

 

 

 

แสวงยังบอกต่อไปว่าตนคิดอยากจะทำ แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พลาดไม่ได้และ ‘ต้องเนี้ยบ’ เพราะเป็นเรื่องที่มีผู้แพ้-ผู้ชนะ นอกจากนี้ยังยอมรับว่าจำนวนผู้ปฏิบัติงานน้อย และเวลาทำงานก็ต้องนำคนจากหน่วยงานอื่นมาช่วย เช่น กรรมการประจำหน่วย เป็นต้น ซึ่ง กกต. เองก็มีเป้าหมายในการบริหารจัดการที่ดี ทั้งด้านการดูแลคะแนนให้เป็นไปตามที่ประชาชนมาลงคะแนน อำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการออกเสียง ตลอดจนด้านของสื่อมวลชนที่จะเป็นผู้นำข้อมูลไปสู่ประชาชนด้วย

 

“จริงๆ สื่อถ้าเราทำดีอย่างที่ท่านพูดเมื่อกี้ ผมว่าสื่อก็ต้องชมเรานะ แต่ถ้าเกิดเรายังทำไม่ดีพอท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง เจ้าภาพตายแน่ คุณเห็นภาพไหม ถ้าทำไม่ดี คือเรามีบทเรียน แต่เราไม่ได้บอกว่าเราจะไม่ทำนะ จะต้องทำให้ดี ทำต้องทำให้ดี ไม่ใช่ไปทำแล้วคนด่าซ้ำ กลายเป็นจมลงไปอีก แล้วมันจะคุ้มที่ไหนเล่าแบบนั้น”

 

ท้ายที่สุด แสวงยืนยันว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบข้อมูลหน่วยเลือกตั้งของตนได้อยู่แล้ว ส่วนกรณีการเปิดเผยค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละรายก็มีการเปิดเผยอยู่แล้วเช่นกัน แต่เขาไม่แน่ใจว่าในสิ่งที่เปิดเผยนั้นจะมีรายละเอียดมากน้อยเพียงใด และก็คงเป็นการบ้านของ กกต. เรื่องการนำข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเสียงสะท้อนจากคนทำงานด้านข้อมูลต่อการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ เพื่อให้มีความสะดวก เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้

 

แต่ท้ายที่สุด เสียงเรียกร้องเหล่านี้จะนำไปสู่พัฒนาการที่ดีขึ้นในอนาคตได้หรือไม่ เวลาจะเป็นผู้ให้คำตอบ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X