×

ลุ้นระทึก เศรษฐกิจไทย

25.01.2021
  • LOADING...
ลุ้นระทึก เศรษฐกิจไทย

จั่วหัวมาอย่างนี้ หลายท่านอาจคิดว่าผมหมายถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยซ้ำสอง หรือ Double-Dip Recession ตามที่นักวิเคราะห์หลายท่านพูดถึงเศรษฐกิจไทยในยามนี้

ไม่ใช่ครับ ผมคิดว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะถดถอยซ้ำสองมีน้อยมาก ยิ่งไปกว่านั้น ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ถ้าเราไม่โชคร้ายจริงๆ ไตรมาสแรกของปีนี้จะเป็นไตรมาสสุดท้ายแล้ว ที่เราจะเห็นเศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

แน่นอนว่า ปัจจัยหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายเป็นบวกในช่วงที่เหลือของปีนี้มาจากจีดีพีในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่หดตัวแรง แต่ปัจจัยรองที่สำคัญที่ผมอยากเน้นในบทความนี้ คือพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกครับ

โดยล่าสุด นักวิเคราะห์ต่างชาติแทบทุกสำนักฟันธงว่า ปีสองปีนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ดีของเศรษฐกิจโลก บางสำนักไปไกลถึงขั้นที่ว่าเราจะเห็นเศรษฐกิจโลกกลับมาเติบโตแบบ Goldilocks หรือเติบโตอย่างมั่นคงมีเสถียรภาพ ไม่ร้อนแรงเกินไปหรือต่ำเกินไป จากอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นทั้งด้านการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่องของประเทศต่างๆ และการทยอยฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรโลก

ตัวเลขการส่งออกสินค้าในเดือนธันวาคมของหลายประเทศในภูมิภาค และของไทยที่กระทรวงพาณิชย์เพิ่งแถลงไปเป็นเครื่องชี้ที่ดีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนเมษายน ทั้งๆ ที่เดือนธันวาคมเป็นเดือนที่เงินบาทกลับมาแข็งค่ามาก และเริ่มเห็นการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในหลายประเทศแล้ว สะท้อนภาวะการค้าโลกที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

เมื่อไปดูดัชนีตลาดหลักทรัพย์ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องชี้เศรษฐกิจที่มองไปข้างหน้าแบบหยาบๆ จะเห็นว่า ดัชนีดาวโจนส์และดัชนี MSCI Asia Pacific กลับมาสูงกว่าระดับ ณ สิ้นปี 2562 มาสักระยะหนึ่งแล้ว เร็วกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเองที่คาดกันว่าจะกลับไปเท่าระดับ ณ สิ้นปี 2562 ในครึ่งหลังของปีนี้

 

 

ในรูปเดียวกัน ผมลองเอาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยมาพล็อตไปด้วยกัน ที่น่าสนใจ คือ เส้นของเราเริ่มฉีกออกจากอีกสองเส้นในช่วงเดือนกรกฎาคม จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ก่อนที่จะกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกลับเส้นอื่นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน หลังมีข่าวการค้นพบวัคซีนโควิด-19 ในช่วงต้นเดือน

อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบัน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยยังไม่กลับไปเท่ากับระดับ ณ สิ้นปี 2562 เหมือนกับอีกสองดัชนี ซึ่งถ้ามองว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 จนกระทั่งปี 2565 ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนักที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยจะตามหลังคนอื่น

การที่เศรษฐกิจไทยใช้เวลานานในการฟื้นตัวกว่าประเทศอื่น หลักๆ แล้วมาจากการที่ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ของเศรษฐกิจถูกกระทบรุนแรงจากโควิด-19 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยสูงเกือบ 40 ล้านคนในปี 2562 เหลือไม่ถึง 7 ล้านคนในปีที่แล้ว (เกือบทั้งหมดเป็นตัวเลขในไตรมาส 1) และในปีนี้หลายสำนักคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 5 ล้านคน (หลักๆ ในไตรมาส 4) เนื่องจากมองว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในจำนวนมากยังไม่สามารถทำได้ก่อนที่จะมีการฉีดวัคซีนในประเทศในระดับที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นปีหน้า

แม้คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่เศรษฐกิจโลกที่ดีจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่หดตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศยังได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง เพียงแต่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งต่างจากประเทศส่วนใหญ่ที่คาดกันว่าจะเห็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นตัวฉุดรั้ง

จุดสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจในปีที่แล้วและปีนี้จะกลับมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า หลังเราได้รับวัคซีนอย่างเพียงพอ เราสามารถลองทำตัวเลขทางคณิตศาสตร์แบบง่ายๆ สมมติว่าในปีหน้า เราสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ 20 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของตัวเลขเกือบ 40 ล้านคนในอดีต เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ปีนี้ 15 ล้านคน ถ้าเราเอาตัวเลขการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในอดีตที่ประมาณ 50,000 บาทต่อคนมาคูณกับตัวเลข 15 ล้านคน จะได้เป็นรายได้ 7.5 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 5 ของจีดีพี และถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาได้ถึง 30 ล้านคน ซึ่งก็ยังห่างไกลจากช่วงก่อนโควิด-19 รายได้จากต่างประเทศส่วนเพิ่มที่จะเติมเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจะสูงถึง 1.25 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 8 ของจีดีพี 

ซึ่งเมื่อนำเม็ดเงินมหาศาลนี้ไปประกบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังดีต่อเนื่อง มีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวแบบพุ่งทะยาน (แต่มองไกลกว่านั้น การจะให้เศรษฐกิจขยายตัวดีอย่างยั่งยืน เราไม่สามารถพึ่งพาแค่การดีดกลับของภาคท่องเที่ยวได้ ต้องอาศัยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ตามที่ผมเคยให้ความเห็นในบทความ ‘วิกฤตโควิด: ศึกนี้ยังอีกยาวไกล’)

อย่างไรก็ดี ภาพของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่ดูสวยหรูนี้ นอกจากจะขึ้นกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องเข้ามาอย่างน้อย 20 ล้านคนแล้ว ยังขึ้นกับเงื่อนไขสำคัญอีกสองข้อ ข้อแรก เศรษฐกิจโลกยังไปได้ดี และข้อที่สอง เครื่องยนต์เศรษฐกิจในประเทศต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมจะไปต่อ ไม่เสียหายเกินไปในช่วงหนึ่งปีนี้

สำหรับเงื่อนไขแรก ซึ่งอาจเกิดจากหลากหลายสาเหตุ เช่น เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์เกินกว่าที่วัคซีนในปัจจุบันจะป้องกันได้ เกิดโรคระบาดร้ายแรงโรคใหม่ หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนประทุขึ้นมาอีกรอบ เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้แม้จะมีโอกาสที่จะเกิดน้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ดี พัฒนาการของเศรษฐกิจโลกถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา คงได้แต่หวังว่าเราจะไม่โชคร้ายจนเกินไป

ในทางตรงกันข้าม เงื่อนไขข้อที่สองขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการของเราเองเป็นสำคัญ โดยกลไกหลักคือมาตรการภาครัฐ ซึ่งรวมถึงการดูแลไม่ให้การระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดบานปลาย หรือเกิดการระบาดอีกรอบในช่วงปลายปีที่นักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมา ควบคู่ไปกับมาตรการทางเศรษฐกิจที่เยียวยา และฟื้นฟูภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เพื่อไม่ให้ครัวเรือนและธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว ล้มหายตายจาก หรือสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเสียก่อน โดยจุดเปราะบางสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ธุรกิจทุกขนาดที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม และลูกจ้างของธุรกิจเหล่านี้ 

โดยสรุป แม้เศรษฐกิจไทยปีนี้จะยังง่อยเปลี้ย แต่ห่างไกลมากจากคำพูดที่ว่า ปีที่แล้วเผาหลอก ปีนี้เผาจริง และถ้าเงื่อนไขครบ ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวในอัตราที่สูงในรอบหลายปี เข้าทำนองว่า สรรพสิ่งเมื่อถึงที่สุดย่อมถึงจุดพลิกผัน 

เรามาช่วยกันลุ้นให้เศรษฐกิจไทยไปถึงฝั่งฝันในปีหน้าด้วยกันนะครับ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising