ชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ชายที่กำลังจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา สร้างแรงกระเพื่อมเชิงเศรษฐกิจไปทั่วโลกจากนโยบาย ‘America First’ และนั่นยังไม่รวมถึงความท้าทายเดิมที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ ทั้งการมาของทุนจีนและสินค้าจีนราคาถูก ไม่ว่าจะเข้ามาแบบขาวสะอาดหรือแบบเทาๆ คำถามที่ตามมาคือ เศรษฐกิจไทยควรปรับตัวกับสภาวะนี้อย่างไร ทั้งการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและวิธีดึงดูดเม็ดเงินลงทุน
THE STANDARD WEALTH มีโอกาสพูดคุยกับ พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงแนวทางการรับมือการจ่อขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่จะใช้นโยบายกดดันสินค้าจากต่างประเทศที่ตนขาดดุลทางการค้าด้วย และแนวทางการจัดการกับทุนจีนสีเทา รวมทั้งการส่งเสริมสินค้าไทยบนเวทีโลก โดยเฉพาะกับธุรกิจ SMEs
แผนเจรจานำไทยให้รอดจากภาษีนำเข้าของทรัมป์
ประเด็นแรกคือเรื่องของความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกสหรัฐฯ ใช้นโยบายขึ้นภาษีนำเข้า 10% ซึ่งในส่วนนี้พิชัยมองว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องเจรจาต่อรอง
ในเชิงกลยุทธ์ กระทรวงพาณิชย์มีวิธีการรับมือด้วยการฉายภาพให้สหรัฐฯ เห็นว่าการขึ้นภาษีกับไทยนั้นไม่เป็นผลดี เนื่องจากมูลค่าสินค้าหลักแสนล้านคือสินค้าที่ไทยผลิตให้กับบริษัทสัญชาติอเมริกันที่สุดท้ายถูกส่งกลับไปขายที่สหรัฐฯ ซึ่งการขึ้นภาษีจะหมายถึงการเพิ่มแรงต้านและต้นทุนให้กับบริษัทอเมริกันเอง ตัวอย่างเช่น บริษัท Western Digital หรือ Hewlett Packard (HP) ที่กำลังย้ายฐานผลิตมาสู่ประเทศไทย
นอกจากนี้ อีกหนึ่งแต้มต่อที่พิชัยคาดว่าจะสามารถเจรจากับสหรัฐฯ ให้ไม่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยได้คือการทำนโยบายเอื้อสินค้าสหรัฐฯ บางชนิดให้มากขึ้น เช่น เนื้อวัว ที่จะลดภาษีจากเดิม 50% ให้ต่ำลง หรือเพิ่มการนำเข้าข้าวโพดมากขึ้น เพื่อให้สินค้ากลุ่มนี้จากสหรัฐฯ สามารถแข่งขันในตลาดได้สูงขึ้น ซึ่งสินค้าเกษตรเหล่านี้ก็มาจากผู้ผลิตที่เป็นฐานเสียงหลักของทรัมป์ ทำให้พิชัยมองว่านี่น่าจะเป็นแต้มต่อที่ดีให้ไทยเจรจาได้
“โอกาสการค้าและเศรษฐกิจของไทยบนภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ไม่แน่นอนคือการทำหน้าที่เป็น ‘คนกลาง’ ให้ดีที่สุด เพราะเราเป็นมิตรกับทุกฝ่าย ประเทศที่ไม่ลงรอยกันก็จะมาค้าขายผ่านเรา” พิชัยกล่าว
จัดการทุนจีนเทา รักษาทุนจีนขาว
ขยับมาดูอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ นั่นคือเรื่องของทุนจีน โดยเฉพาะทุนจีนสีเทาที่กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทย ซึ่งทางรัฐบาลจีนเองก็ยอมรับว่ามีและเป็นวาระที่ต้องเดินหน้าแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยทั้งกระทรวงพาณิชย์และทางการจีนตกลงร่วมมือที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวให้ธุรกิจจีนที่เข้ามาปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายไทย เพราะในมุมของจีน ไทยคือประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีและจีนก็ไม่อยากที่จะให้ความสัมพันธ์ตกต่ำลง
“นักลงทุนจีนที่มีคุณภาพและมาอย่างถูกต้องก็มีจำนวนเยอะ แต่ถ้าชื่อเสียงของจีนไม่ดี นี่ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่กั้นขวางให้นักลงทุนที่มีคุณภาพเหล่านั้นไม่นำเงินมาลงทุนในไทย ฉะนั้นไทยจำเป็นที่จะต้องหาสมดุลไม่ให้จีนรู้สึกว่าเราไม่เป็นธรรม เพราะเราต้องพึ่งพากำลังซื้อจากจีน” พิชัยกล่าว
อย่างไรก็ดี ในฝั่งของผู้ประกอบการที่กำลังเจอกับความเสียเปรียบด้านราคาจากสินค้าจีนอาจจะมีคำถามว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมมาตรการแก้ไขอย่างไร?
เรื่องนี้พิชัยกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและดำเนินคดีจับกุมกลุ่มธุรกิจจีนที่ผิดกฎหมายไปแล้ว ซึ่งมีมูลค่าจดทะเบียนผ่านตัวแทนคนไทยอำพราง (Nominee) รวมกว่าหมื่นล้านบาท
อีกทั้งเรื่องที่ธุรกิจจีนนำกิจการเข้ามาดำเนินในไทยโดยไม่ใช้บริการคนไทยตลอดทั้งซัพพลายเชน ก็เป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่รัฐบาลกำลังหารือร่วมกันว่าจะมีแผนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบนิเวศอย่างไร
ยุทธศาสตร์นำภาคส่งออกไทยกลับมาเป็น ‘พระเอก’ อีกครั้ง
เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ แต่ช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัว แต่บางฝ่ายยังมองว่า ‘ส่งออก’ อีกหนึ่งเครื่องจักรทางเศรษฐกิจยังไม่กลับมา
อย่างไรก็ตาม พิชัยนำเสนอตัวเลขที่เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นว่าภาคการส่งออกของไทยกำลังไปได้ดีจากตัวเลขการเติบโต 10 เดือนแรกที่ 4.9% สูงกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ทั้งปีที่ 1-2%
สาเหตุการฟื้นตัวของภาคการส่งออกมาจากการลงทุนที่เริ่มกลับเข้ามา รวมทั้งข้อได้เปรียบของไทย โดยเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาเพราะเรื่องการเปิดรับของไทย ความมั่นคง และพลังงานที่มีเสถียรภาพสูง
สำหรับนโยบายภาครัฐที่จะเข้ามาหนุนการส่งออกคือการพยายามสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าไทย ผ่านโครงการของกระทรวงพาณิชย์ที่ชื่อว่า ‘Thailand Brand’ เพื่อขยายตลาดให้กับสินค้าของธุรกิจ SMEs
“สินค้าไทยจากผู้ประกอบการต้องมีเอกลักษณ์ และกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ช่วยสร้างแบรนด์ เพราะที่ผ่านมาเราขาดแบรนดิ้งที่ดี” พิชัยกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะขยายข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เพื่อให้สินค้าไทยไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น