×

เปิดสาเหตุส่งออกฉุดเศรษฐกิจ หรือประเทศไทยกำลังก้าวสู่ภาวะถดถอย?

18.09.2019
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • หาสาเหตุว่าทำไมการส่งออกถึงเป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทย ที่ตอนนี้ส่งผลกระทบต่อบริษัทขนาดใหญ่ ธุรกิจต้นน้ำในภาคการผลิต และกลุ่มแรงงานที่รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน
  • เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 โดยกรุงศรีฯ นำตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์มาคำนวณความน่าจะเป็นที่ไทยจะเกิดภาวะถดถอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 
  • ทำให้ตอนนี้รัฐบาล เอกชน และทั่วโลกหันมาออกมาตรการ และทำนโยบายการเงินเพิ่มเพื่อช่วยเหลือกัน ทั้งมาตรการการคลัง การลดดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากนี้น่าจะเห็นมาตรการจากรัฐบาลมากขึ้น

ตั้งแต่ต้นปีถึงตอนนี้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงชัดเจน หลายคนเห็นตัวเลขเศรษฐกิจแย่ลง ข้าวของแพงขึ้น ไหนจะมีภัยแล้งที่ทำให้คนไทยมีเงินในกระเป๋าน้อยลง แต่สาเหตุใหญ่ที่อาจทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยคงหนีไม่พ้นการส่งออกที่หดตัว 

 

ลองมาหาคำตอบกัน

 

ส่งออกหัวใจเศรษฐกิจไทยกระทบรายใหญ่-ภาคการผลิต-ภาคแรงงาน 

 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2562 เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งเพราะการส่งออกไทยครึ่งปีแรกหดตัว 3% จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน (Trade War) ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตอนนี้มีการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เช่น การทวีต หรือตอบโต้ในหลายรูปแบบ ส่งผลต่อเศรษฐกิจแย่ลดลง 0.75% 

 

ทั้งนี้การส่งออกเป็นส่วนสำคัญของไทย เพราะมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 50% ของ GDP ประเทศไทย นับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก ซึ่งครึ่งปีแรกที่การส่งออกติดลบ ส่งผลต่อ 66% ของอุตสาหกรรมไทย เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ฯลฯ แม้ส่วนมากจะกระทบกับบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ แต่เมื่อการส่งออกหดตัว ธุรกิจในภาคการผลิตซึ่งมีแรงงานไทยก็ได้รับผลกระทบตาม

 

ส่งออกหดตัวกระทบ 80% ของแรงงานไทย โดยเฉพาะรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน


เมื่อการส่งออกหดตัวส่งผลกระทบทางอ้อมต่อหลายธุรกิจ อย่างสินค้าที่เป็นส่วนประกอบของสินค้าอื่น เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ ฯลฯ ดังนั้นจะกระทบ 80% กับแรงงานคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างที่รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน 

 

นอกจากนี้ยังกระทบกับผู้ประกอบการรายเล็กที่สายป่านสั้น ดังนั้นหลังจากนี้อาจเห็นมาตรการของรัฐบาลมาดูแลเรื่องสภาพคล่องของผู้ประกอบการรายเล็ก

 

“เมื่อต้องดูภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะดูที่ตัวเลขการจ้างงาน ฯลฯ แต่ของไทยมีคนทำงานนอกระบบเยอะ ไหนจะมีหลายบริษัทที่ตั้งเงินเดือนไม่สูง แต่พนักงานมีรายได้จากการทำงานล่วงเวลา ดังนั้นจะดูเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งต้องดูจากรายได้ของคนไทย ขณะเดียวกันถ้าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา ภาคการผลิตชะลอตัว อาจทำให้บริษัทลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาลง”

 

เศรษฐกิจไทย

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

 

เศรษฐกิจไทยโตช้าลง แต่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่?

 

หลายคนเริ่มมองว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว ซึ่งนิยามของเศรษฐกิจถดถอยคือ การเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ เช่น ประเทศไทยปีนี้มีแนวโน้มจะเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 15 ปีก่อน เศรษฐกิจไทยโตราว 5.8% แต่ถ้าดูค่าเฉลี่ย 8 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4% กว่า หากปีนี้การเติบโตยังต่ำลงถือว่าต้องจับตามอง

 

ทั้งนี้ทางกรุงศรีฯ ประเมินความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (ใช้ตัวเลขจากสภาพัฒน์) พบว่า ปี 2561 ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจไทยจะถดถอยอยู่ที่ 5% แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2562 นี้เห็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1/2562 ความน่าจะเป็นเพิ่มขึ้นเป็น 9% ส่วนไตรมาส 2/2562 เพิ่มขึ้นเป็น 16% จนล่าสุดไตรมาส  3/2562 เพิ่มขึ้นเป็น 22% 

 

“ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจไทยจะถดถอยมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากตัวเลขนี้เกิน 40% แสดงว่าอาจจะเกิดภาวะถดถอยใน 2 ไตรมาสหลังจากนั้น ขณะเดียวกันช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ ฯลฯ”

 

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเป็นขาลงเรื่อยๆ เมื่อทุกฝ่ายมองไปในทางเดียวกันจึงหันมาช่วยเหลือกันมากขึ้น ทั้งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยลง ทางกระทรวงการคลังทยอยออกมาตรการรับเศรษฐกิจชะลอตัว โดยกรุงศรีฯ มองว่าการชะลอตัวของเศรษฐรอบนี้จะไม่เหมือนช่วงก่อนหน้า

 

เศรษฐกิจไทย

 

ก่อนเศรษฐกิจไทยจบสิ้นปี มีความเสี่ยงอะไรต้องติดตามบ้าง? 

 

จับตาปัจจัยเสี่ยงจากนอกประเทศ ทั้งเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ความเสี่ยงเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองจากฝั่งตะวันออกกลาง และสงครามการค้าซึ่งไม่น่าจะสร้างผลกระทบมากกว่านี้ เพราะสร้างผลกระทบมาเยอะแล้ว

 

ปัญหาการโจมตีโรงน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย คาดว่าจะไม่กระทบต่อราคาน้ำมันไทยมาก เพราะหลายประเทศมีปริมาณน้ำมันสำรองเพียงพอ จึงไม่น่าเกิดภาวะน้ำมันขาดตลาด อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่ราคาน้ำมันเป็นขาขึ้น เพราะความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากไม่มีภาวะสงครามในวงกว้าง ทางกรุงศรีฯ คาดว่าราคาน้ำมันโลกจะอยู่ที่ 66.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะไม่กดดันเงินเฟ้อไทยมากนัก

 

ทางออกแรกจะมาจากการลงทุน การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะมีทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทางกรุงศรีฯ คาดว่า ธปท. อาจจะลดดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือนพฤศจิกายน 2562 สาเหตุเพราะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีวงจำกัด ทำให้รัฐต้องเพิ่มมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม โดยเฉพาะกลไกเกี่ยวกับสภาพคล่องควรจะมีมากขึ้นเพื่อช่วยเศรษฐกิจ และรายเล็กให้ไปต่อได้ 

 

คาดว่าทั้งปี 2562 นี้ GDP ไทยจะอยู่ที่ 2.9% โดยการส่งออกจะติดลบ 2.8% การนำเข้าติดลบ 3.5% การบริโภคภาคเอกชนจะเติบโตเหลือ 3.9% (จากก่อนหน้าประเมินไว้ที่ 4.1%) ทั้งนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 39.6 ล้านคน ลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่ระดับ 40.2 ล้านคน

 

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบยังมีทิศทางแข็งค่า เพราะปัจจัยภายนอกซึ่งเมื่อตลาดรับรู้ผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย คาดว่าค่าเงินบาทจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ไม่น่าจะแข็งค่าทะลุ 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ช่วงสิ้นปี 2562 คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 30.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X